สัจจะธรรม

กระทู้สนทนา


มีบุคคลอยู่สองท่านในประวัติศาสตร์จีนที่เราควรจะนำมาศึกษา ท่านหนึ่งคือซุยเป๋ง และอีกท่านหนึ่งคือจูกัดเหลียง หรือขงเบ้งนั่นเอง ซุยเป๋งเป็นเพื่อนของขงเบ้ง เป็นนักปราชญ์เต๋าที่อยู่ในระดับเดียวกับขงเบ้ง  เมื่อครั้งที่เล่าปี่ยังไม่สามารถตั้งตัวได้นั้น มีผู้เสนอแนะว่าควรจะหากุนซือผู้เก่งกาจมาคอยเป็นที่ปรึกษา เล่าปี่จึงตั้งใจมาอัญเชิญขงเบ้งไปร่วมงานด้วย ในการมาหาครั้งที่หนึ่งปรากฏว่าไม่เจอกับขงเบ้ง ขากลับได้เดินสวนทางกับซุยเป๋ง หลังจากทักทายกันตามธรรมเนียมแล้ว และกล่าวว่าตัวเองต้องการมาคำนับเชิญขงเบ้ง ไปอยู่ช่วยทำราชการด้วย ซุยเป๋งฟังดังนั้นก็หัวเราะ แล้วว่าเป็นธรรมดาแห่งสรรพสิ่ง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป ความหมุนเวียนเปลี่ยนไป เป็นธรรมชาติที่ไม่อาจมีผู้ใดยับยั้งแปรผันให้เป็นอย่างอื่น แต่กระนั้นน้ำใจของท่านที่เอ็นดูราษฎร ยอมยากลำบากมาหาขงเบ้งถึงบ้านนี้ต้องนับว่าเป็นน้ำใจ แต่ทว่าการฝืนกฎแห่งฟ้าดินเป็นการใหญ่หลวงนัก แผ่นดินแต่ก่อนมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าฮั่นโจโกก็เป็นสุข เป็นสุขก็เป็นศึกกลายเป็นจลาจล เพราะอองมังเป็นขบถแย่งชิงเอาแผ่นดินจนพระเจ้าฮั่นกองบูปราบปรามขบถได้สำเร็จ ชิงแผ่นดินกลับคืนมา  เสร็จศึกแล้วแผ่นดินก็เป็นสุข สงครามแลเห็นสันติภาพ การศึกแลศานติเกิดขึ้นหมุนเวียนไปดังนี้สี่ร้อยปีแล้ว บัดนี้แผ่นดินถึงคราเป็นจลาจล ซึ่งท่านจะคิดอ่านปราบปรามจลาจล ยามที่จะต้องเป็นจลาจลให้เป็นสุขนั้น เป็นการขัดต่อวิถีแห่งฟ้า เกลือกไม่สมปารถนาก็จะป่วยการเสียเปล่า อันเกิดมาเป็นคนทุกวันนี้พึงพิจารณาเห็นสัจจะธรรมแลความผันแปรนั้น บุญทำกรรมแต่งประการใดย่อมเป็นไปตามนั้น จะหักห้ามหรือฝืนวาสนาอันเป็นลิขิต ฟ้าดินนั้นมิได้[1] เมื่อเล่าปี่ได้ยินเช่นนั้นแล้วก็เกิดความศรัทธา แม้ว่าซุยเป๋งไม่ต้องการคิดอ่านฝืนลิขิตแห่งฟ้า เล่าปี่ก็ข่มใจเอ่ยปากชักชวนซุยเป๋งไปทำราชการด้วย แต่ก็ถูกซุยเป๋งปฏิเสธ

                อันความคิดของซุยเป๋งนั้นเป็นสัจจะธรรมยิ่งนัก ขงเบ้งแม้จะไปช่วยเล่าปี่ทำการรบ เพื่อหวังจะกอบกู้ราชวงฮั่น แต่แล้วก็สามารถยืดอายุราชวงฮั่นออกไปแค่ 40 ปี เท่านั้น บ้านเมืองก็เข้าสู่ความวุ่นวาย ราชวงฮั่นก็ล่มสลาย ขงเบ้งกะอักเลือดตายในการทำศึกกับวุยก๊กครั้งที่ 5 สูญเสียกำลังพลในการยืดอายุราชวงฮั่นกว่า 2 ล้านคน ประวัติศาสตร์ของจีนก็หมุนเวียนอยู่ในกงล้อแห่งสัจจะธรรมเช่นนี้ไปทุกยุคทุกสมัยจนกระทั่งระบบกษัตริย์ล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1911เมื่อ ดร.ซุนยัดเซ็นปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเป็นระบบประธานาธิบดี

                ซุยเป๋งเข้าใจถึงสัจจะธรรมของการศึกสงคราม จึงเห็นว่าไม่สามารถที่จะฝืนวิถีของมันได้ การเข้าใจถึงสัจจะธรรมก็คือปัญญาอย่างหนึ่ง การศึกษาสัจจะธรรมเป็นหนทางสู่การพ้นทุกข์ มนุษย์ถ้าเคยเจอกับความทุกข์แล้วสามารถรอดพ้นมันมาได้ ก็พยายามหลีกเลี่ยงหนทางแห่งทุกข์นั้นอีก นั่นคือการใช้ปัญญา เช่น คนที่เคยบอบช้ำจากความรักจะมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังในการหาคู่รักต่อไปหรืออาจจะไม่หาเลย หรือคนที่สอบตกมาครั้งหนึ่งแล้ว ในการสอบครั้งต่อไปจะอ่านหนังสือก่อนสอบอย่างจริงจัง เพราะรู้ว่าถ้าไม่อ่านหนังสือก็จะสอบตก ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า พวกเค้าเหล่านั้นได้เห็นสัจจะธรรมแล้ว มนุษย์ผู้แม้จะผ่านเหตุการณ์ร้ายๆมาเพียงใด ถ้ายังไม่เข้าใจสาเหตุแห่งทุกข์ก็มักจะย้อนกลับไปย่ำรอยเท้าแห่งทุกข์ซ้ำไปซ้ำมา พวกเค้าเหล่านั้นยังมองไม่เห็นสัจจะธรรมของชีวิต

                แต่บางครั้งโลกนี้หรือช่วงอายุขัยของมนุษย์อาจจะไม่มีเวลาเพียงพอที่จะให้มนุษย์ทุกคนเรียนรู้สัจจะธรรมจากความผิดพลาดของตนเองมากนัก ความผิดพลาดบางอย่างส่งผลร้ายแรงแก่คนทั้งโลก หรือเราอาจหมดโอกาสที่จะมานั่งเข้าใจสัจจะธรรมอีกแล้ว ความผิดพลาดของคนในอดีตเป็นสมบัติล้ำค่าและเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่ให้แก่คนรุ่นหลัง เราคงหมดโอกาสมานั่งสำนึกผิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 3 แล้ว วิกฤติสิ่งแวดล้อมหมดเวลาแล้วที่จะให้ลองผิดลองถูก ช่วงชีวิตเราเหลือน้อยลงทุกวัน ความผิดเล็กๆน้อยๆโลกอาจจะยังให้อภัยได้ แต่ความผิดอันใหญ่หลวงเมื่อเกิดขึ้นแล้วโลกอาจจะไม่มีอยู่เพื่อที่จะให้อภัยเราอีกครั้ง


[1] คำกล่าวของซุยเป๋ง คัดมาจากสามก๊กฉบับ คนขายชาติ ของ เรือง วิทยาคม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่