ปาฐกถา "เจตนารมณ์ 14 ตุลา" โดย ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล . งานรำลึก 40ปี 14 ตุลา 2516

กระทู้ข่าว
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ปาฐกถา "เจตนารมณ์ 14 ตุลา" โดย ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล . งานรำลึก 40ปี 14 ตุลา 2516
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: การประกาศจุดยืน-ข้อเสนอแนะต่อขบวนประชาธิปไตย
Sun, 2013-10-13 17:58


13 ต.ค.56 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ องค์ปาฐกคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และนักคิดนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เขากล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับความหมายทางการเมืองและเจตนารมณ์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พร้อมวิเคราะห์สาเหตุที่ประชาธิปไตยยังไม่สามารถปักหลักมั่นคงได้ในสังคม แบ่งเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน, ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และสภาพกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงพลังการเคลื่อนไหวในปัจจุบันว่าเป็นการสืบต่อเจตนารมณ์ของ 14 ตุลาฯ ในการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม โดยระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ทำให้เกิด “กลุ่มชนชั้นนำใหม่” คือคนในชนบทและคนจนในเมืองกลายมาเป็นผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันประชาธิปไตย แสวงหาพื้นที่ทางการเมือง ประกอบกับการเกิดขึ้นของทุนใหม่โลกาภิวัตน์ที่ต้องการมาแทนที่อำนาจเก่าด้วยการสร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการชุบชีวิตระบบรัฐสภา และเป็น “หุ้นส่วนที่เหลือเชื่อ” ในทางการเมือง

“พลังใหม่นี้จะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้านทานพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้เพียงใดและอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ สังคมไทยจะสามารถปรับความสันพันธ์ทางอำนาจระลอกนี้ได้ลงตัวหรือไม่ โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพงเท่าในอดีต” เสกสรรค์กล่าว

เขายังนำเสนอข้อเสนอแนะต่อขบวนเคลื่อนไหวหรือพลังประชาธิปไตยใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.พลังประชาธิปไตยต้องรักษากลไกของระบอบอื่นๆ นอกเหนือจากรัฐบาลให้ทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบด้วย ไม่ใช่มุ่งปกป้องแต่พรรคใดหรือรัฐบาลใด 2. เพื่อเสถียรภาพของระบอบ จำเป็นต้องขยายแนวร่วมไปยังชนชั้นหรือบุคคลกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด เพราะในยุคโลกภิวัตน์ประชาชนมิได้เป็นก้อนเดียว พร้อมทั้งต้องยึดถือหลัก “เสรีนิยมทางการเมือง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีคู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ การเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิมก็เป็นพลังประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่จำเป็นต้องให้พื้นที่ในการเรียกร้อง วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกทำให้ระบบดีขึ้น ไม่ได้ขัดแย้งกับพลังมวลชนที่ชื่นชอบพรรค 3. ขบวนประชาธิปไตยควรเรียนรู้การใช้อำนาจอ่อนในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ซึมลึกในสังคมไทย นำเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ผู้คนเท่าเทียมกันนั้นเป็นสิ่งน่าหวงแหน โดยมีจังหวะก้าวที่ระมัดรวังไม่ทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกสูญเสียที่ยืนในความคิดความเชื่อ เพราะความขัดแย้งประเด็นทางวัฒนธรรมบางอย่างละเอียดอ่อนและมีแนวโน้มนำสู่ความรุนแรงได้ง่าย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่