โจรแสบซ้ำเติมผู้ป่วย หลอกดื่มน้ำผสมยา รูดทรัพย์เกลี้ยง รพ.รามาฯแจ้งเตือนด่วน!

โจรแสบซ้ำเติมผู้ป่วย หลอกดื่มน้ำผสมยา รูดทรัพย์เกลี้ยง รพ.รามาฯแจ้งเตือนด่วน!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์     11 ตุลาคม 2556 15:13 น.     
    
       ผู้ป่วยสุดช้ำ! มารักษาตัว รพ.รามาธิบดี แต่เจอโจรแสบแอบผสม “สารไซลาซีน” ลงในน้ำ หลอกให้ดื่มจนหมดสติ ถูกรูดทรัพย์เกลี้ยง ผอ.รพ.รามาธิบดี ร่อนหนังสือเวียนแจ้งเตือนด่วน ให้ระวังมิจฉาชีพ ชี้สารดังกล่าวดูดซึมเร็วอาจทำให้เสียชีวิตได้ อึ้ง! สถานีตำรวจพญาไท แฉโรงพยาบาลอื่นก็โดนถ้วนหน้า

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       วันนี้ (11 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยงานต่างๆ ภายในโรงพยาบาล โดยหนังสือระบุว่า เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาปลดทรัพย์ผู้ป่วยนอก ที่รอรับการรักษาในโรงพยาบาล โดยใช้สารไซลาซีน (Xylazine) ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร จนทำให้ผู้ป่วยหมดสติและอาจเสียชีวิตได้ โดยวิธีการผสมกับน้ำแล้วนำมาให้ผู้ที่รอรับบริการในโรงพยาบาลดื่ม อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลได้สอบถามทางสถานีตำรวจพญาไท ปรากฏว่า ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นกัน
       
       ล่าสุด รพ.รามาธิบดี ได้ออกแถลงการณ์เรื่องนี้ว่า จากเหตุการณ์ผู้มารับบริการถูกมิจฉาชีพหลอกให้ดื่มน้ำผสมยา จนหมดสติ และถูกปลดทรัพย์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง รพ.รามาธิบดี มีความห่วงใยผู้มาใช้บริการ เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และอาจมีมิจฉาชีพปะปนอยู่ ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจึงออกประกาศแจ้งเตือนเป็นการภายใน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติระวังตัวมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำบุคลากรในเรื่องมาตรการความปลอดภัย ส่วนมาตรการเรื่องยานั้นทางโรงพยาบาลได้เรียนประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เพื่อหาแนวทางป้องกันในระยะยาวต่อไป
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ป่วย รพ.รามาธิบดี ถูกปลดทรัพย์ด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว 2 ราย โดยกรณีนี้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ รพ.รามาธิบดี พบผู้ป่วยสลบอยู่ภายในโรงพยาบาล เมื่อทำการรักษาและตรวจสารภายในร่างกาย จึงพบว่าผู้ป่วยได้รับสารไซลาซีน จึงทำให้ทราบว่ามีมิจฉาชีพเข้ามาปลดทรัพย์ด้วยการวางยาผู้ป่วย
       
       
       
       
       
       อย.แจง “ไซลาซีน” เป็นยาใช้ในการขนย้ายสัตว์เพื่อให้มีความสงบ ไม่มีรายละเอียดผลกระทบจากการใช้ในคน ชี้เป็นยาอันตราย ระบุอาจต้องยกระดับยา
       
       ภญ.ประภัสสร ธนะผลเลิศ รักษาการผู้อำนวยการสำนักยา อย.กล่าวว่า สารไซลาซีน (Xylazine) จัดเป็นตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยข้อบ่งชี้สำหรับยานี้ จะมีฤทธิ์เพื่อสงบประสาทส่วนกลาง ซึ่งส่วนมากจะใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพราะยาจะทำให้สัตว์มีความสงบ โดยในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าว 9 รายการ ในจำนวนนี้นำเข้า 3 รายการ จากประเทศฝรั่งเศส สเปน และเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ ยาดังกล่าวเป็นยาที่ใช้สำหรับสัตว์ ดังนั้น จึงไม่มีรายการว่าใช้ในคนแล้วจะเป็นอย่างไร แต่มีข้อมูลทางวิชาการว่า จะทำให้หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะมาก ทำให้ความดันต่ำลง น้ำตาลในเลือดสูง ปากแห้ง และทำให้อาการในระบบทางเดินหายใจและระบบเลือด
       
       “สารดังกล่าวเป็นยาที่ใช้ในสัตว์ จึงไม่มีรายการความผิดปกติในคนมากนัก แต่มักพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะอาศัยผลข้างเคียงของยามาใช้ในทางที่ผิดเสมอ ซึ่งเป็นหน้าที่ อย.ต้องเฝ้าระวัง โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้ในโรงพยาบาล หากผู้ได้รับยาเป็นผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก หรือ ผู้มีโรคประจำตัว ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป” รักษาการ ผอ.สำนักยา กล่าว
       
       ภญ.ประภัสสร กล่าวอีกว่า สารดังกล่าวถือเป็นยาอันตรายที่ซื้อได้ในร้านขายยา ซึ่งในสัปดาห์หน้า อย.จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหามาตรการควบคุมไม่ให้มิจฉาชีพนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อพบยาบางกลุ่มถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะมีการยกระดับ เช่น กลุ่มยาสลบอย่างยาเคตามีน ก็มีการยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การยกระดับยาจะต้องประเมินผลกระทบในการเข้าถึงยาตัวนั้นด้วย ทั้งนี้ สารไซลาซีน จัดเป็นสารที่มีความเข้มข้นน้อยกว่ากลุ่มยาเคตามีน เนื่องจากใช้ทำให้สัตว์สงบเท่านั้น โดยการใช้ในสัตว์จะใช้ตามน้ำหนักของสัตว์ โดยฉีดเข้าเส้นเลือดดำ จะออกฤทธิ์ใน 3-5 นาที และมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 20 นาที ส่วนระยะเวลาการออกฤทธิ์ในคนนั้น ไม่มีรายงาน
       
       “คำแนะนำเบื้องต้น มีเฉพาะผู้ให้ยาสัตว์เท่านั้น คือ 1.กรณีทาน หรือ เข้าสู่ร่างกายโดยบังเอิญให้รีบพบแพทย์และนำฉลากยาแสดงต่อแพทย์ ห้ามขับรถ เพราะยาทำให้ง่วงซึม มีการเปลี่ยนแปลงความดันเลือด 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสยากับผิวหนัง ตา เยื่อเมือก 3.หากมีการสัมผัสยาให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดมากๆ ทันที” ภญ.ประภัสสร กล่าวและว่า สำหรับกรณีนำมาผสมน้ำ เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย การขับออกไม่สามารถทำได้โดยง่าย หากพบแพทย์ตามหลักวิชาการ จะมีการให้ยาต้านพิษ คือ สารโยฮิมบิน (Yohimbine) ส่วนกรณีฉุกเฉินให้พยายามบอกคนรอบข้างช่วยเหลือ เพราะยาดังกล่าวมีฤทธิ์อ่อนกว่ากลุ่มยาสลบ น่าจะยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในช่วงสั้นๆ
       
       นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าว รพ.ศิริราช ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้มาก่อน แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งโรงพยาบาลคงทำได้แค่เพียงแจ้งเตือนให้ผู้ป่วยระมัดระวังตัวเอง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คนไข้ที่มารอตรวจหรือรอรับการรักษา มักจะพกน้ำดื่มมาเองอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เมื่อปรากฏเป็นข่าว เชื่อว่าสังคมคงเกิดความตื่นตัวขึ้นมาก ผู้ป่วยน่าจะมีความระมัดระวังมากขึ้น

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000127948
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่