'เจเน็ต เยลเลน'ว่าที่ประธานเฟดสายพิราบ

'เจเน็ต เยลเลน'ว่าที่ประธานเฟดสายพิราบ

"เจเน็ต เยลเลน" ผู้ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ มีแนวโน้มสานต่อนโยบายของ"เบน เบอร์นันกี"

ชื่อของนางเยลเลนโดดเด่นขึ้นมา หลังจากมีสัญญาณว่านายลาร์รี ซัมเมอร์ส อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว น่าจะเจอแรงต้านหนักหน่วงในสภาคองเกรส แต่นางเยลเลนอาจเจอเสียงคัดค้านในคองเกรสด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่จากสมาชิกหัวอนุรักษ์ที่คิดว่าเฟดใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินไป และนางเยลเลนก็จะเข้ามาเดินหน้าใช้เงินต่อ

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมผู้นี้ นั่งอยู่ท่ามกลางเฟดสายเหยี่ยว ที่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวจนสามารถจ้างงานได้เต็มที่ และไม่แม้แต่น้อยที่จะกังวลถึงความน่ากลัวของการผ่อนคลายทางการเงินว่าอาจจุดประกายเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้

นางเยลเลน วัย 67 ปีจะเป็นผู้นำหญิงคนแรกของเฟด หลังจากทำงานกับเฟดมากว่า 12 ปี เริ่มต้นจากตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ จากนั้นก็นั่งในคณะผู้ว่าการอยู่สามปี และในปี 2547-2553 ไปรับหน้าที่ผู้ว่าการเฟดสาขาซานฟรานซิสโก

จนกระทั่งเมื่อปี 2553 ที่เธอทำหน้าที่เคียงข้างนายเบอร์นันกีในตำแหน่งรองประธานเฟด และคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินหรือเอฟโอเอ็มซี

นางเยลเลนถือกำเนิดในนิวยอร์ก จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ และได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยล เคยเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ และมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ สมรสกับเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ "นายจอร์จ อะเคอร์ลอฟ" ทั้งยังเป็นมารดาของศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ "นายโรเบิร์ต อะเคอร์ลอฟ" ด้วย

เธอใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจพรรคเดโมแครตมาอย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เมื่อประธานาธิบดีบิล คลินตัน เสนอชื่อเธอเป็นคณะกรรมการเฟดในปี 2537 และเป็นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจระหว่างปี 2540-2542 ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของนายเบอร์นันกีในปี 2553 เธอถูกโจมตีอย่างหนักว่าคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ที่กระหน่ำนครซาน ฟรานซิสโก ในช่วงที่เธอเป็นผู้ว่าการเฟดประจำเมืองดังกล่าว

ขณะที่รัฐทางตะวันตกอย่างเนวาดา แอริโซนา และบางส่วนของแคลิฟอร์เนีย ก็ได้รับความเสียหายรุนแรงจากการล่มสลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์

นางเยลเลนยอมรับเมื่อปี 2553 ว่าคาดไม่ถึงว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเลวร้ายลงถึงขั้นนี้ แม้เธอเคยเตือนเมื่อปี 2550 ว่าเศรษฐกิจอาจตกสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับโอกาสการเป็นประธานเฟดของนางเยลเลน เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2552 เมื่อนายเบอร์นันกีใกล้หมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานเฟดสมัยแรก ชื่อของนางเยลเลนโดดเด่นขึ้นมาในฐานะประธานคนต่อไป แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาอย่างมาก นายเบอร์นันกีจึงยังคงกุมบังเหียนเฟดต่อเนื่อง

นับแต่นั้นนางเยลเลนกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดของนายเบอร์นันกีในเอฟโอเอ็มซี และช่วยคงนโยบายเฟดที่มุ่งมั่นจัดการกับอัตราการว่างงานสูงมากกว่าอันตรายจากเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้น โดยกล่าวว่า การลดการว่างงานควรเป็นศูนย์กลางของนโยบาย

http://bit.ly/GLiMpG

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่