เจ้าภาพเอเปคไล่นักข่าวฮ่องกง เหตุตะโกนทวงคำขอโทษจากผู้นำฟิลิปปินส์

ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556



บาหลี - ผู้จัดประชุมเอเปคตะเพิดกลุ่มนักข่าวฮ่องกง หลังรุมทวงถามคำขอโทษจากผู้นำฟิลิปปินส์ในเหตุจับตัวประกันและสังหารนักท่องเที่ยวฮ่องกงในมะนิลาเมื่อสามปีก่อน

เกิดวิวาทะระหว่างสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่จัดการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเจ้าหน้าที่เอเปคและฝ่ายเจ้าภาพได้ออกปากไล่และยึดใบอนุญาตทำข่าวของผู้สื่อข่าวและทีมงาน 9 คน หลังกล่าวหาว่าพวกเขาตะคอกถามประธานาธิบดีเบนิโญ อาคีโน แห่งฟิลิปปินส์ ขณะเดินผ่านเพื่อไปร่วมประชุมพบปะนักธุรกิจในศูนย์การประชุมนานาชาติบาหลีเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (6 ต.ค.) ว่า จะมีโอกาสพบกับนายเหลียง ชุน หยิง ผู้บริหารฮ่องกง และขอโทษครอบครัวเหยื่อในเหตุการณ์อดีตตำรวจฟิลิปปินส์ที่ถูกไล่ออกจากงานจับตัวประกันบนรถบัสนักท่องเที่ยวในกรุงมะนิลา ทำให้ชาวฮ่องกงเสียชีวิต 8 คน เมื่อปี 2553 หรือไม่ แต่ประธานาธิบดีอาคีโนไม่ได้ตอบคำถาม

ประธานาธิบดีอาคีโนเคยแสดงความเสียใจที่วิกฤติตัวประกันจบลงอย่างนองเลือด แต่ยืนกรานว่าเรื่องจบลงไปแล้ว ไม่เหมาะสมที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จะขอโทษ เพราะไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐ แต่ครอบครัวของเหยื่อยังพยายามกดดันให้ผู้นำฟิลิปปินส์ขอโทษและจ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นทางการ

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ในฮ่องกงรายงานว่า มีผู้สื่อข่าว ช่างเทคนิค และช่างกล้อง 3 คน ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ก็ถูกยึดบัตรอนุญาตทำข่าวไปด้วย แต่นายกาโต เอส เดวาโบรโด หนึ่งในกรรมการจัดประชุมเอเปคของอินโดนีเซีย กล่าวว่า การเพิกถอนบัตรอนุญาตทำข่าวของนักข่าวฮ่องกงเพราะพฤติกรรมก่อกวนการประชุม ไม่ให้เกียรติ และเกินกว่าเหตุ คล้ายชุมนุมประท้วงมากกว่าการซักถาม พร้อมยืนยันว่า การตัดสินใจไม่ได้เกิดจากการร้องขอของฟิลิปปินส์ นักข่าวเหล่านั้นยังทำข่าวการประชุมเอเปคจากด้านนอกได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าประชุม

นายริคกี้ คารานดัง โฆษกของประธานาธิบดีอาคีโน ในกรุงมะนิลา กล่าวว่า ในฐานะอดีตนักข่าวคนหนึ่ง มองว่านักข่าวฮ่องกงล้ำเส้นจากการซักถามมาเป็นการก่อกวนขัดจังหวะ

สำหรับการประชุมสุดยอดเอเปคที่เริ่มขึ้นในวันจันทร์ (7 ต.ค.) หลายชาติแสดงความผิดหวังที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ยกเลิกเข้าร่วมประชุม และส่งนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วมแทน ก่อนหน้านี้คาดกันว่า นายโอบามาจะใช้เวทีการประชุมเอเปคผลักดันการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ประกอบด้วยภาคีสมาชิก 12 ชาติ และเมื่อผู้นำสหรัฐไม่ได้เข้าร่วมหารือครั้งนี้ ทำให้คาดว่าการบรรลุข้อตกลงอาจล่าช้าออกไป นอกจากประเด็นเศรษฐกิจแล้ว คาดว่าหลายประเทศคาดหวังได้ยินคำยืนยันและการสนับสนุนจากผู้นำสหรัฐในประเด็นข้อพิพาททางทะเลกับจีน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่