คาดปี57ไทยส่งออกข้าว 8 ล้านตัน



"โลกจะมีข้าวสารสำรองเพื่อการบริโภค 83 วัน แต่ไทยส่งออกข้าวลดลงทำให้มีสำรองประมาณ 530 วัน"
สถานการณ์ผลผลิต การค้า สต็อกข้าวโลก เป็นเครื่องชี้สำคัญของอนาคตการส่งออกข้าวของไทยในปี 2557 แม้การประเมินของกระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดการณ์การส่งออกของไทยไว้สูงถึง 8 ล้านตัน แต่สต็อกสำรองที่ไทยแบกไว้ปริมาณมากจะเป็นปัจจัยกดดันราคาข้าวโลกและนโยบายบริหารข้าวไทยในปี 2557

กระทรวงเกษตรสหรัฐ พยากรณ์ ว่าในปีการผลิต 2556/57 จะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว รวม 1,008.06 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 25.44 ล้านไร่ หรือ 2.59% ขณะที่ผลผลิตข้าวสารรวม 477.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9.01 ล้านตันข้าวสาร หรือ 1.92%

โดยสหรัฐมีผลผลิต 5.78 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 8.86 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จีน 143 ล้านตัน ลดลง 0.21 % อินเดีย 108 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 3.45 % บังกลาเทศ 34.20 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.18 % เวียดนาม 27.67 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 1.08 % ไทย 21.10 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 4.46 %

การบริโภคและใช้ประโยชน์จากข้าวของโลก จะมีปริมาณการบริโภคและใช้ประโยชน์รวม 475.276 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณเพิ่ม 6.329 ล้านตันข้าวสาร หรือ 1.35% ในส่วนของไทยคาดว่าจะมีการบริโภคข้าวสารรวม 10.700 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1 แสนตันหรือ 0.94%

สต็อกข้าวของโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 107.468 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 2.53 % ดังนั้น อัตราการสำรองข้าวสารเพื่อการบริโภคของโลก (The Global Stocks to Use Ratio) ของปี 2556/57 จะอยู่ที่ระดับ 22.61 % หรือทั้งโลกจะมีข้าวสารสำรองเพื่อการบริโภค เป็นเวลาประมาณ 83 วัน

แต่ไทยปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลงจากเป้าหมาย ทำให้มีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการสำรองข้าวสารเพื่อการบริโภคของปี 2556/57 อยู่ที่ระดับ 145.14 % หรือมีปริมาณข้าวสารสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 530 วัน

ด้านการค้าข้าวของโลกคาดว่าในปีการค้า 2557 ที่จะเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2556 นั้นปริมาณการค้าข้าวจะมีจำนวน 38.657 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 5.55 แสนตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 1.468 % สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา ได้พยากรณ์ว่าปริมาณการส่งออกข้าวในปีการค้า 2557 จะมีปริมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 14.29% ด้านการนำเข้าข้าวรวมทั่วโลก จะมีจำนวน 38.657 ล้านตันข้าวสาร ปริมาณนำเข้าสูงขึ้น 5.55 แสนตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 1.46% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่การส่งออกข้าวของไทยช่วงเดือน ม.ค.- ก.ค. 2556 มีประมาณ 3.61 ล้านตัน ลดลง 9.1 % มูลค่า 2,548 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 4.4 % หรือ 75,564 ล้านบาท ลดลง 5 % ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 706 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ปริมาณข้าวที่ส่งออกทั้งหมดแยกเป็นข้าวหอมมะลิไทย 1.10 ล้านตัน หรือ 30.5 % ของการส่งออกข้าวทั้งหมด มูลค่า 1,148 ล้านดอลลาร์ หรือ 33,989 ล้านบาท คิดเป็น 45.1% ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปี 2556/57 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประเมินว่า จะมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี รวมประมาณ 64.4 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 28.443 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.07% โดยภาคเหนือ เนื้อที่เพาะปลูกและเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาข้าว และผลตอบแทนสูงจูงใจ ให้เกษตรกรยังคงปลูกข้าวและขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปีที่แล้วเกษตรกรประสบภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในระยะที่ข้าวกำลังเจริญเติบโต เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เต็มที่ ทำให้ปีนี้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ภาคกลาง เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาข้าวและผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ยังคงปลูกข้าวอยู่ประกอบกับปีที่แล้วเกษตรกรบางส่วน ในจังหวัดสิงห์บุรี ชัยนาท อยุธยา นครปฐม เลื่อนการเพาะปลูกเร็วขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย แต่ปีนี้คาดว่าจะกลับมาปลูกตามปกติ ส่งผลให้ภาพรวมของภาคกลางเนื้อที่ เพาะปลูกยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากการดูแลเอาใจใส่ รวมทั้งสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

ในขณะที่ภาคใต้ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา เนื่องจากราคาจูงใจและสามารถให้ผลผลิตได้หลายปี

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20131008/535002/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%B557%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7-8-%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่