ชีวิตและปฏิปทาแบบอย่าง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)



ชีวิตและปฏิปทาแบบอย่าง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น ก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่วๆ ไป คือมีทั้งผิดหวังและสมหวัง
มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ

แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรมหลายประการ ที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต ชีวิตของพระองค์จึงมี
ความสมหวังมากกว่าผิดหวัง มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว และมีความดีใจมากกว่าเสียใจ

กล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าว พระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ หรือ
ทรงเจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้

หากวิเคราะห์ตามที่ปรากฏในพระประวัติ ก็จะเห็นได้ว่าพระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ก็คือ
• อดทน
• ใฝ่รู้
• กตัญญู
• ถ่อมตน
• คารวธรรม

ความอดทน (ขันติ : พระคุณธรรมประการแรก)

ที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ) เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระ
สุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร

พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่าง
หนัก จึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ ต้องทรงใช้ผ้า
สักหลาดพันรอบอกหลายชั้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่นในเวลานั่งสอบ

นอกจากจะต้องอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังต้องงอดทนต่อเสียงค่อนแคะของเพื่อนร่วม
สำนักอีกนานัปการ

แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น

ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) :

พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอด แม้เมื่อทรงเป็นพระ
มหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ก็ไม่เคยจืดจาง ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่าน
หนังสือ ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า

“เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”

พระคุณธรรมข้อกตัญญูดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด
และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ


ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรำลึกถึง
พระคุณของ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวรเป็นรูปแรก
ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

เพราะหากไม่มี สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑ ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒

ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูป สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ที่วัดราชสิทธาราม
เป็นประจำทุกปีตลอด

สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)

อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ
วิหารใหม่ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔)

คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า

“เจ้าคุณ จะอยู่เอาวัดบวรได้อยู่หรือ”

ซึ่งหมายความว่า จะปกครอง วัดบวรนิเวศวิหาร ที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า
อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ

ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงถือว่าสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์
จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นอยู่เสมอ

เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) พระองค์นั้น นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์
อยู่และตลอดมาจนบัดนี้

พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงทรงเป็นพระ
เถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อยและไม่ชอบแสดงตน

ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใครๆ แต่มักตรัสว่า

“แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”

บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า
ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ

“ใครๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระ
ราชประสงค์เท่านั้น”



อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม มาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่
พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย

ในการประชุมมหาเถรสมาคมแต่ละครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ

กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถร
สมาคมในขณะนั้น ทรงทักแบบสัพยอกด้วยพระเมตตาว่า

“เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”

พระคุณธรรมข้อคารวธรรม

คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ คารวธรรม ประการแรกของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็คือความ
เคารพในพระรัตนตรัย

ความเคารพในพระพุทธเจ้า

ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์ ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า
การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวัน ทำให้รำลึกถึงพระพุทธคุณ จิตใจ
ไม่ห่างไกลจากพระธรรม

ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูปไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ
หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น

ความเคารพต่อพระธรรม

ก็ทรงแสดงออก ด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้
ในที่สูงเสมอ ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา
ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า

“นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”


ความเคารพในพระสงฆ์

ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่าพระกรรมฐานเป็นพิเศษ

เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็นอาคันตุกะมาสู่พระอาราม แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ

พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป
ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์อะไร หากมีอาวุโสพรรษามากกว่า พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความ
เคารพเสมอ

เมื่อมีพระสงฆ์จากที่ต่างๆ มาเข้าเฝ้า หากมีพระเถระผู้เฒ่ามาด้วยก็จะทรงถามก่อนว่า

“ท่านพรรษาเท่าไร”

หากมีอายุพรรษามากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย

พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่างภาษาชาวโลกก็คือ

เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต
หรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทางโลกหรือชีวิตทางธรรม

การกล่าวถึงพระคุณธรรมในชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ข้างต้นนั้น เป็นการมองชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ในภาพรวม เช่นกับชีวิตของคนทั่วไปว่า

ทรงมีอะไรบ้าง ทรงทำอะไรบ้าง แต่ถ้ามองชีวิตของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง ก็จะเห็นแบบอย่าง
ของชีวิตในทางธรรมที่ชัดเจนอีกภาพหนึ่ง

นั่นคือ ปฏิปทาอันควรค่าแก่การเป็นแบบอย่าง สำหรับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั่วไป พระปฏิปทาอันเป็นแบบ
อย่างดังกล่าวก็คือ

• ความเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ
• ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย
• ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ

-----------------------------------------------------------------------
http://sangharaja.org/index.php?option=com_content&view=article&id=215&catid=37&Itemid=4
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่