วิเคราะห์ ภ.รักโง่โง่ Love Syndrome กับคุณ Chayanin Tiangpitayagorn แห่ง Starpic

Love Syndrome รักโง่ๆ (Thailand, พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์, 2013, A)

จริงๆ ถ้าจับเรื่องนี้ไปฉายคู่กับ Virgin Am I นี่มันจะอลหม่านบ้านคุณท้าวพระยาวิลนีอุสมากๆ เพราะมันเป็นหนังแบบเดียวกัน ตัวละครเยอะยุบยิบเหมือนกัน มีหลายก้อนในเรื่องเดียวเหมือนกัน ธีมคล้ายๆ กัน (Virgin เล่นเรื่องเซ็กซ์และ relationship แบบพอขำๆ ส่วนอันนี้เล่นเรื่องรักที่เพี้ยนๆ โง่ๆ ซึ่งเป็นการชิ่งออกมาจากรอมคอมปกติสามัญทั้งคู่) แล้วเซนส์ทางภาพเวียร์ดๆ ก็คล้ายกันอีก (ฉากศิวลึงค์ในเรื่องนี้ หรือฉากหนังอาร์กำลังภายในของ Virgin) ซึ่งถ้าให้เทียบกันระหว่างสองเรื่อง เราว่า Love Syndrome ลงตัวกว่า โฟลว์กว่า และเป็นธรรมชาติกว่า แต่ไม่ได้ถึงกับแตกต่างชนิดมีนัยสำคัญแบบว่าเรื่องนึงดีเรื่องนึง เพราะเมื่อถึงจุดนึงแล้ว สิ่งที่ทำให้เราไม่ได้ชอบสองเรื่องนี้แบบสุดขีดก็คือการที่สุดท้ายแล้วหนังยังต้อง compromise ตัวเองให้อยู่ในเส้นของ 'หนังรักไทย' ทั้งที่จุดเริ่มต้นหรือองค์ประกอบต่างๆ มันพร้อมจะพาหนังออกจากเส้นนั้นได้แล้ว

ปัญหาจริงๆ ของทั้งสองเรื่องคือเมื่อหนังจะเริ่มเล่าเรื่องที่เป็นอินเนอร์ตัวละคร มันต้องใช้เวลาเยอะเพราะตัวละครถูกเขียนให้อินเนอร์ซับซ้อนและอธิบายยาก สิ่งที่ตามมาก็คือถ้าไม่เลือกตัดอินเนอร์ทิ้งไปเลย ก็ต้องยอมให้หนังยาวเพราะตัวละครต้องการเวลาบนจอค่อนข้างมาก - Love Syndrome ถือว่าทำสำเร็จนะ (ส่วนหนึ่งคงเพราะหนังยาว 2 ชม. กว่า) แต่ก็มีบางตัวที่ต้องการเวลามากกว่านี้อยู่ อย่างเช่น 'พริกแกง' ที่พอเธอได้เวลาบนจอเท่าที่เป็นอยู่ มันเลยรู้สึกว่าเป็นตัวละครแพทเทิร์น ไม้บรรทัด ไปนิดนึง มีหน้าที่พาคนดูเข้าสู่ธีม เพราะดูเหมือนตัวละครที่จะพาคนดูเข้าสู่ธีมแบบ 'หนังรัก' ได้มากที่สุด (หากเป็นหนี้แล้วขอให้เป็นหนี้รักเถิด ทุกข์ถาโถมเศร้าโศกาผิดหวังเพียงใดเพียงได้รักก็จักมีความสุข อิ่มเอม ซาบซึ้ง ฯลฯ) ไม่แปลกใจที่พอฉายรอบสื่อแล้วคนชื่นชมการแสดงของ มินท์-ธิติรัตน์ กันเยอะมากๆ เธอก็เล่นดีจริง แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะโพสิชั่นของตัวละครนี้ด้วย

เห็นด้วยกับพี่นักวิจารณ์ท่านหนึ่งว่า โตโน่ กับ ยิปซี นี่น่าจับมาเล่น screwball comedy กันสักเรื่อง (เอ๊ะ ยังมีคนทำอยู่มั้ยวะหนัง genre นี้) เพราะกลายเป็นคู่ที่เคมีเข้ากันที่สุดทั้งที่เส้นเรื่องไม่ได้โยงให้มันมารักกันเลย - น่าเสียดายว่าพอโตโน่แยกไปในเส้นเรื่องรักของตัวเองแล้วก็ถูกปั้นให้ยิงธีมเยอะไปหน่อย เลยดร็อปลงไปพอประมาณ (ยิ่งมี 'พลอยพิณ' เป็นตัวเทียบในเส้นเรื่องดังกล่าว เมื่อเธอไม่ต้องรับหน้าที่ยิงธีมแล้วมีเวลาโปรยเสน่ห์เหลือเฟือ เราเลยสนใจเธอมากกว่า)

ในขณะที่ยิปซีนี่เจิดจรัสมากๆ เธอเล่นหนังสองเรื่อง เป็นตัวละครที่ดูหลุดจากบริบทรอบข้างอย่างรุนแรง (ทั้งในหนังและสังคมไทย) แต่เธอก็ทำให้มัน believable ทั้งในเรื่องนี้และ อนุบาลเด็กโข่ง ยิปซีมีความดาร์คและอินเนอร์หม่นๆ บางอย่าง (ไม่รู้ว่าอะไร) ที่ช่วยให้ตัวละครมันกลมขึ้นได้ดีจริงๆ อย่างในเรื่องนี้ต้องชมทั้งตัวเธอเองและทีมเขียนบท ที่ปั้นตัวละครที่มักจะถูกแปะป้ายว่า คูล อินดี้ ติสต์แตก ให้มัน คูล อินดี้ ติสต์แตก จริงๆ พร้อมกับ do justice ให้ตัวละครในฐานะคนแบบนั้นจริงๆ เพราะมีหนังเยอะแยะมากมายที่เป็นอินดี้ปลอม ติสต์ปลอม (เพราะว่ายิ้มไม่คูลจริง แค่ฮิปสเตอร์ขั้นพื้นฐาน) และใช้ความปลอมเหล่านี้เพียงเพื่อให้ตัวละครกลับไปเป็นมนุษย์ปกติตาม norm ทั่วไปที่เรารับรู้ เพื่อบอกหรือสั่งสอนว่าที่ คูล อินดี้ ติสต์แตก นี่แหละที่ทำให้ไม่มีความสุข ถ้าตัวละครใน Prisoners ได้เรียนศาสนาพุทธแทนที่จะเป็นคริสต์ พวกเขาก็ไม่ต้องทุกข์ (ประโยคสุดท้ายดัดแปลงจากเรื่องจริง)

จริงๆ ไม่ได้มีแต่ยิปซีที่ต้องรับบทตัวละครหลุดๆ หรือทำอะไรหลุดๆ ในหนังเรื่องนี้ (อิงลิช ของ น้องมายด์ ก็เป็นตัวละครที่หนักแน่นและอินเนอร์ชัดเจนมากๆ และเป็นอินเนอร์ที่ไม่พบบ่อยในหนังรักไทย เพียงแต่ไม่ได้ทำอะไรมากเท่าไหร่) เพราะภายใต้คอนเซปต์ 'รักโง่ๆ คนเราเคยโง่เพราะรัก' ทำให้ทุกตัวพร้อมจะทำอะไรหลุดๆ อยู่ตลอดเวลา ทีนี้ก็เลยต้องฝากฝังไว้กับศักยภาพและอินเนอร์ของนักแสดงว่าใครจะทำให้ไอ้ความหลุดนี้มัน believable ขึ้นมาได้มากที่สุด

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในหนังเรื่องนี้คือการพัฒนาของแต่ละตัวละคร ที่นำไปสู่จุดที่พวกเขาได้รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ทั้งเรื่องอินเนอร์ วิธีคิด การจัดการความสัมพันธ์ และ 'ความโง่ในเรื่องรัก' ทั้งหลาย โดยที่ไม่ต้องนำไปสู่จุดที่พวกเขาตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่โง่ในเรื่องรักอีกต่อไปอย่างที่มักจะเห็นกันมาตลอด แต่เลือกที่จะยอมรับความเป็นตัวเองและ embrace ทางเลือก สิ่งที่ได้เรียนรู้ มากกว่าจะ sterile ตัวเองให้เข้าสู่เส้นทางแบบหนังรักโรแมนติกที่ชอบมีมุขเซอร์ไพรส์ขอแต่งงานกลางสี่แยก ที่เห็นทีไรก็รู้สึกว่าโดนตบหน้ากลางสี่แยก

เพราะไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกแบบเดียวกันต่อเรื่องเดียวกัน จัดการแบบเดียวกันเวลาเจอเรื่องเดียวกัน ความซับซ้อนของมนุษย์มันมากพอๆ กันกับการหนีภัยสงครามเย็นไปสแกนดิเนเวีย ผจญภัยที่คิวบา ติดคุกที่เกาหลีเหนือ ช่วยอัฟกันไม่ให้เป็นเมืองขึ้นใคร และต้องเลือกระหว่างสาวสเปนคาตาลันกับหนุ่มลิทัวเนียในค่ำคืนหนึ่ง

อ้างอิงจาก https://www.facebook.com/nanoguy0612
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่