รู้จักกลุ่มก่อการร้าย'อัล ชาบับ'



                           อัล ชาบับ เป็นกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่ง ถือกำเนิดจากภาวะไร้ขื่อแปในโซมาเลีย หลังการโค่นผู้นำเผด็จการในปี 2534 ชื่อภาษาอาหรับแปลว่า "เยาวชน" มีเป้าหมายตั้งรัฐบาลอิสลามเคร่งจารีตในประเทศแอฟริกาตะวันออกแห่งนี้ ประเมินกันว่า อัล ชาบับ มีนักรบในกลุ่มหลายพันคน รวมถึงนักรบต่างชาติหลักร้อย บางส่วนมาจากตะวันออกกลางที่ผ่านสมรภูมิอิรักและอัฟกานิสถาน อีกส่วนเป็นคนหนุ่มจากชุมชนชาวโซมาเลียในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

                           ในปี 2549 อัล ชาบับ คุมพื้นที่ในกรุงโมกาดิชู เมืองหลวงโซมาเลียเกือบทั้งหมด กับพื้นที่กว้างใหญ่ทางภาคกลางและตะวันตก กระทั่งกองกำลังที่สหประชาชาติสนับสนุนจากสหภาพแอฟริกัน ซึ่งรวมถึงทหารจากเพื่อนบ้านอย่างเคนยาและยูกันดา ได้เข้าไปผลักดันกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ออกไปจากเมืองหลวงโซมาเลียในปี 2554 และขับออกจากเมืองท่าสำคัญ "คิสมาโย" ในปีที่แล้ว แต่ยังคุมพื้นที่ชนบทของประเทศไว้และปกครองภายใต้ชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม ที่มีบทลงโทษผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาคบชู้สู่ชายด้วยการปาหิน และตัดมือผู้ทำผิดฐานเป็นขโมย นอกจากนั้น ยังก่อเหตุระเบิดพลีชีพโจมตีหลายครั้งทั้งในเมืองหลวงโมกาดิชู และเมืองท่าคิสมาโย  

                           อัล ชาบับ ยึดหลักอิสลามนิกายวาฮาบี แบบในซาอุดีอาระเบีย เคยได้รับความนิยมจากชาวโซมาเลียแม้ส่วนมากเป็นมุสลิมนิกายซูฟี เพราะได้รับความปลอดภัยและเสถียรภาพ หลังจากต้องเผชิญความไร้ขื่อแปและความรุนแรงมานานหลายปี แต่อัล ชาบับ เสื่อมความนิยมลงมากหลังบุกทำลายสุเหร่าของนิกายซูฟี และแย่ลงอีกเมื่อไม่ยอมรับความช่วยเหลืออาหารจากตะวันตกเพื่อบรรเทาความอดอยากและภัยแล้งเมื่อปี 2554

                           พวกเขาเคยขู่เมื่อสองปีที่แล้วว่า จะโจมตีล้างแค้นเคนยา ที่เข้าไปมีบทบาทนำส่งทหารเข้าโซมาเลีย ทำให้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มลดลงอย่างได้ผล นอกจากนี้ อัล ชาบับ ยังอ้างเป็นผู้ลงมือโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ สังหารผู้คนที่กำลังชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศที่ร้านอาหารยอดนิยมของชาวต่างชาติแห่งหนึ่งในกรุงคัมปาลา เมืองหลวงยูกันดา เมื่อปี 2553  ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70 ราย

                           สหประชาชาติประเมินในปี 2554 ว่า อัล ชาบับเคยมีรายได้ระหว่าง 70-100 ล้านดอลลาร์ จากค่าธรรมเนียมและศุลกากรที่เก็บจากท่าเรือและสนามบิน ตลอดจนรีดภาษีจากผู้ผลิตในประเทศ ก่อนสูญรายได้เกือบทั้งหมดนับจากถูกกองกำลังแอฟริกันขับออกจากเมืองหลวงและเมืองท่า

                           สำหรับโซมาเลียในปัจจุบัน หลังจากตกอยู่ในสภาพรัฐล้มเหลวมายาวนาน เริ่มมีความหวังมากขึ้นหลังได้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 20 ปีเมื่อที่แล้ว คือนายฮัสซัน เชค โมฮามุด ซึ่งเป็นอดีตนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชาวโซมาเลียจำนวนมากเริ่มเดินทางกลับจากการลี้ภัยพร้อมกับเงินลงทุนและความชำนาญต่างแดนเข้าไปเปิดธุรกิจและพัฒนาประเทศ


http://www.komchadluek.net/detail/20130925/168884/รู้จักกลุ่มก่อการร้ายอัลชาบับ.html#.Ukca-ssaySM
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่