การเดินทางของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ

คาบสมุทรเกาหลีได้ถูกแบ่งเป็นสองฝั่งมาตั้งแต่ปี 1948 และหลังจากเกิดสงครามเกาหลีในระหว่างปี 1950-1953 แล้ว ทั้งสองฝากก็ได้มีพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างกันไปตามทางของตน ฝั่งเหนือยังยึดถือแนวคิดสังคมนิยมแบบพึ่งตนเองตามลัทธิจูเช ของผู้ก่อตั้งประเทศอย่างเคร่งครัด และการบริหารก็ถูกผูกขาดในกำมือของพรรคกรรมกรเกาหลีและสมาชิกตระกูลคิม ส่วนฝั่งใต้ในช่วงแรกปกครองในรูปแบบเผด็จการทหาร มีการวางรากฐานทางเศรษฐกิจจนประเทศหลุดพ้นจากความยากจนได้ และนำมาสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยในยุค 80 ที่แม้จะจบลงด้วยการนองเลือด แต่ก็ทำให้ในภายหลังเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ ประกอบกับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในขณะที่ภาคเหนือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดสงครามเย็น
  ทำให้เกิดการแปรพักตร์(Defection) ของชาวเกาหลีเหนือลงมาฝั่งใต้มากขึ้น
  อันที่จริงแล้ว การแปรพักตร์มีมาตั้งแต่การแบ่งเกาหลีแล้ว ทั้งจากฝั่งเหนือมาใต้ และใต้มาเหนือ ด้วยเหตุผลต่างๆ แต่การแปรพักตร์หรือลี้ภัยที่จะกล่าวต่อไปนี้ เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
  คลื่นมนุษย์เริ่มอพยพจากเกาหลีเหนือขนานใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 หรือราวๆยี่สิบปีมาแล้ว สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทุพภิกขภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1994 ที่ทำให้ชาวเกาหลีเหนือนับล้านคนเสียชีวิตจากขาดอาหาร คนที่รอดชีวิตต้องประทังชีวิตด้วยหญ้า หรือใบไม้ แม้กระทั่งเนื้อมนุษย์ด้วยกันเพื่อความอยู่รอด

  ทำให้ชาวเกาหลีเหนืออพยพข้ามฝั่งมาจากประเทศจีน ซึ่งในช่วงแรกนั้น ชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มขาวจีนเชื้อสายเกา่หลีในภูมิภาคได้ให้ความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างเปิดเผย แต่ต่อมาเมื่อทางการเกาหลีเหนือแสดงความไม่พอใจ ทางการจีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของเกาหลีเหนือจึงเริ่มกวดขันจับกุม และหากถูกจับกุมได้ ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้จะถูกส่งกลับเกาหลีเหนือ และโทษที่พวกเขาจะได้รับ คือการใช้แรงงานหรือถูกคุมขังในค่ายกักกันเป็นเวลาหลายปี
  ผู้ลี้ภัยมักจะเดินทางข้ามแม่น้ำตูเมน มายังเกาหลีเหนือ ซึ่งมักจะต้องเจียดเงินเป็นสินบนให้กับทหารยาม เมื่อมาถึงจีน พวกเขาจำเป็นต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ และทำงาน ซึ่งมักลงเอยด้วยการถูกหลอกขายให้กับแก๊งยาเสพติด หรือในกรณีของผู้หญิงก็เป็นโสเภณี

(แม่น้ำตูเมน ชายแดนจีน-เกาหลีเหนือ)
  ต่อมาเมื่อรู้แล้วว่า การอยู่ในจีนนั้นไม่ปลอดภัยแล้ว พวกเขาจึงต้องหาหนทางไปประเทศที่สอง ซึ่งมักเป็น เกาหลีใต้ (มีบางคนเดินทางไปประเทศอื่นๆเช่นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาหรือประเทศยุโรปซึ่งมีจำนวนน้อย) โดยการพังหรือปีนกำแพง เข้าไปในสถานทูตหรือสถานกงสุงของประเทศต่างๆในจีน เพื่อขอลี้ภัย จนทางการจีนเพิ่มความเข้มงวดในการคุมเข้มสถานทูตหรือกงสุลต่างชาติเหล่านี้มากขึ้น

(ภาพของตำรวจจีนพยายามจับกุมหญิงเกาหลีเหนือที่พยายามเข้าไปขอลี้ภัยในสถานกงสุลญี่ปุ่นในเสิ่นหยาง ประมาณยุค 90)
  เมื่อการขอลี้ภัยในสถานทูตเป็นไปได้ลำบากขึ้นแล้ว พวกเขาจึงจำเป็นต้องหาหนทางใหม่ ด้วยความช่วยเหลือของคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะมิชชันนารีเกาหลีใต้ พวกเขาพบว่า จำเป็นต้องไปหาที่พักพิงในประเทศอื่นๆ ก่อนเดินทางไปเกาหลีใต้
  นี่คือหนทางที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งจะอธิบายให้ละเอียดต่อไป

1.ไปมองโกเลีย - หนทางที่ได้มีการบุกเบิกขึ้น โดย ผู้ลี้ภัยจะเดินทางข้ามพรมแดนไปมองโกเลีย เพื่อขอลี้ภัย ก่อนจะเดินทางไปประเทศที่สามต่อไป ต่อมาหนทางนี้มีผู้ใช้น้อยลง แม้ว่ามองโกเลียไม่มีนโยบายส่งกลับอย่างในจีน แต่การมาถึงมองโกเลียนั้นก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากการที่จีนควบคุมการผ่านแดนบริเวณนี้อย่างเข้มงวด และการจะเดินทางไปยังเขตเมืองของมองโกเลียก็ต้องผ่านทะเลทรายโกบีอันกว้างใหญ่ หากไม่เจอตำรวจชายแดนของมองโกเลีย หรือมีไม่มีคนนำทางแล้ว การเดินทางไปเองอาจมีอันตรายถึงชีวิต

(ทะเลทรายโกบี)

(พรมแดนจีน-มองโกเลีย ที่เมือง Zamin-Ud และ Erlian ของจีน)
2.ไปเวียดนาม,กัมพูชา - เมื่อการไปมองโกเลียเป็นไปได้ยากขึ้น ผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องเดินทางลงใต้ จนถึงปี 2004 เวียดนามกลายเป็นอีกหนทางหนึ่งที่มีผู้ใช้งานมาก เนื่องจากพรมแดนที่ไม่มีอุปสรรคมากอย่างเช่นในมองโกเลีย ผู้ลี้ภัยจะเดินทางผ่านจีน เข้ามาทางเวียดนาม ก่อนจะลงใต้ของเวียดนามและเข้าไปขอลี้ภัยในกรุงพนมเปญของกัมพูชา ก่อนเดินทางไปประเทศที่สามต่อไป แต่ต่อมาเมื่อมีผู้อพยพจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทางการเวียดนามซึ่งเป็นรัฐสังคมนิยมที่มีความใกล้ขิดกับจีนและเกาหลีเหนือจึงเริ่มเพิ่มความเข้มงวดในการจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งเวียดนามเองมีนโยบายส่งผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือกลับประเทศ ทำให้หนทางนี้เริ่มไม่ปลอดภัย

(ด่านพรมแดน Hekou ระหว่างจีนและเวียดนาม)
3.ไปลาวหรือพม่า ก่อนเข้ามาในประเทศไทย - ในปัจจุบันเส้นทางนี้ โดยเฉพาะจากลาวเข้ามาไทยเป็นเส้นทางหลบหนีที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดยพวกเขาจะนั่งรถไฟจากเขตแมนจูเรียมายังปักกิ่ง ก่อนเดินทางด้วยรถไฟลงใต้มายังคุนหมิง จากนั้นจะมีรถมาส่งพวกเขาที่ชายแดน และต้องมีการข้ามพรมแดนด้วยทางเดินเท้าเข้ามาในลาวหรือพม่า เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ ทำให้ภูมิภาคนี้มีการตรวจตราชายแดนอาจไม่เข้มงวดเท่าพรมแดนมองโกเลียหรือเวียดนามนัก แต่หนทางก็ไม่ง่ายเสมอไป พวกเขาต้องคอยระวังไม่ให้พบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารของลาวหรือพม่า เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้มีนโยบายจับกุมและส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับประเทศ

(ด่านพรมแดน จีน-พม่า Ruili-Bhamo)

(ด่านพรมแดน จีน-ลาว)
ในส่วนของลาวนั้นเมื่อพบว่าโอกาสเหมาะแล้ว ก็จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยผ่านทางแม่น้ำโขง เข้ามายังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ ชา่วเกาหลีเหนือมีกแสดงตนให้จับกุม เนื่องจากได้รับการบอกว่า ไทยไม่มีนโยบายส่งกลับ หากพวกเขาถูกจับกุมก็จะถูกคุมขังใน สน. ก่อนมีคนมาประกันตัว แล้วจึงเดินทางต่อ หากไม่มี ก็จะเดินทางต่อลงมากรุงเทพฯเลย

(แม่น้ำโขง)

(เขตกันกันผู้หลบหนีเข้าเมือง กรุงเทพฯ)
เมื่อมา่ถึงกรุงเทพฯ พวกเขาจะขอลี้ภัยกับสถานทูตเกาหลีใต้ ก่อนจะถูกส่งไปสถานกักกันบุคคลลักลอบเข้าเมือง เพื่อรอให้ทางการเกาหลีใต้รับรอง เมื่อได้รับคำรับรองแล้ว พวกเขาจะถูกส่งไปสนามบิน เพื่อเดินทางเที่ยวสุดท้าย...
   หลังจากมาถึงเกาหลีใต้ และถูกซักฟอกว่าไม่ใช่สายลับแล้ว พวกเขาจะได้รับเงินช่วยเหลือในการตั้งถิ่นฐาน ได้สัญชาติ รวมทั้งได้รับการอบรมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตพื้นฐานในเกาหลีใต้ เช่น การฝากเงินธนาคาร การโดยสารรถไฟใต้ดิน ฯลฯ และเด็กหรือวัยรุ่นจะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งกลุ่มผู้ที่ทำงานกับชาวเกาหลีเหนือลี้ภัยมักมองว่า ผู้ลี้ภัยนั้นมีความเสี่ยงจะกลายเป็นชนชั้นล่างของสังคม เนื่องจากหากเทียบกับชาวเกาหลีใต้แล้ว พวกเขามีทักษะทางการศึกษาและอาชีพโดยเฉลี่ยต่ำกว่ามาก ประกอบกับการอยู่ในภาวะอดอยากมานาน การอยู่ห่างหรือสูญเสียญาติมิตร ทำให้บางส่วนประสบปัญหาทางร่างกายและจิตใจ และมีความยากลำบากในการปรับตัว แต่กลุ่มเด็กและเยาวชนนั้นมีโอกาสและความง่ายในการปรับตัวมากที่สุด

(ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือในกรุงโซล)

(ชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้)
  การเดินทางของคนกลุ่มหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความลำบากและเสี่ยงอันตรายเพียงใด มนุษย์ ก็ยินดีที่เสี่ยง เพื่อให้ได้มาซึ่ง "เสรีภาพ" และ "อิสระ" ในการดำเนินชีวิตของตัวเอง
(ขอบคุณที่อ่านจนจบนะครับ หากมีส่วนไหนบกพร่องขออภัยด้วย และจะเป็นความกรุณามากหากมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อมูลด้วย ขอบคุณล่วงหน้าครับ)
ภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่แนะนำ

1.Crossing - ภาพยนตร์ปี 2008 เกี่ยวกับครอบครัวชาวเกาหลีเหนือที่ผู้พ่อพยายามลี้ภัยไปเกาหลีใต้ และพยายามช่วยให้ลูกและภรรยาได้มาด้วย จะเกริ่นด้วยการเล่าถึงความลำเค็ญของครอบครัวในเกาหลีเหนือ ก่อนที่พ่อจะข้ามมาจีน (เตือนไว้ก่อนว่าเรื่องนี้เศร้ามากๆ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่