บราซิล.. ประกาศอิสรภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต (จากอเมริกา)

ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556



การที่ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟ แห่งบราซิล ปฏิเสธการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาตามกำหนดการเดิมเมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.) แต่ยังถนอมน้ำใจกันด้วยการขอเลื่อนการเดินทางไปเป็นเดือนตุลาคมแทนนั้นเป็นการส่งสัญญาณชัดๆ ว่า บราซิลกำลังไม่พอใจการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สหรัฐกำลังปฏิบัติต่อประเทศร่วมทวีปอเมริกาที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วแห่งนี้

ประเด็นสำคัญที่ประธานาธิบดีรุสเซฟบอกปัดการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกามาจากการที่ประเทศที่ประกาศตนเองว่าเป็นตำรวจโลกกำลังล่วงละเมิดอธิปไตยของบราซิล ด้วยการสอดแนมการสื่อสารของเธอ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้นำบราซิลจึงสวนหมัดเข้าเบ้าตาประธานาธิบดีบารัก โอบามา ไปหนึ่งดอก ด้วยการชะลอการทำข้อตกลงสำรวจน้ำมันและเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพ การเจรจาซื้อเครื่องบินรบรุ่นเอฟ 18 จำนวน 36 ลำ มูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังประกาศด้วยว่า จะไม่ซื้อเครื่องบินรบจากประเทศที่ไม่สามารถให้ความไว้วางใจได้ ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในการเยือนกรุงวอชิงตันของประธานาธิบดีรุสเซฟ

ที่สำคัญ ผู้นำบราซิลยังได้ประกาศมาตรการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความเป็นเอกเทศของระบบอินเทอร์เน็ตของบราซิล เพื่อตอบโต้การที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของรัฐบาลสหรัฐ เข้ามาดักฟังการสื่อสารของเธอ แถมยังเจาะเข้าระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีฐานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา อย่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล

ซึ่งซาชชา เมอินรัธ ผู้อำนวยการสถาบันโอเพ่น เทคโนโลยี ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า การโต้ตอบสหรัฐอเมริกาทีเข้าไปยุ่มย่ามกระทำจารกรรมดักฟังการสื่อสารในประเทศต่างๆ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงคลื่นระลอกแรกที่สหรัฐอเมริกาจะต้องเผชิญ และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ สหรัฐอเมริกาจะต้องเผชิญกระแสคลื่นโต้ตอบที่รุนแรงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ นอกจากนั้น ประเด็นการรักษาความเป็นส่วนตัวในการสื่อสารภายในประเทศจะเป็นประเด็นร้อนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แต่ด้วยวิธีการเช่นนั้น เมอินรัธก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลบราซิลจะต้องลงทุนตั้งเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่เพื่อเก็บข้อมูลของพลเมืองในประเทศ ที่มีต้นทุนสูงมาก และจะทำให้ซอฟต์แวร์ยอดนิยมบางตัวไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งยังกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบอินเทอร์เน็ตโดยรวมที่อาศัยการเชื่อมต่อรับ-ส่งข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมต่ออยู่กับโลกออนไลน์ ไปยังเป้าหมายที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ต่างๆ อีกด้วย

ประธานาธิบดีรุสเซฟยังแสดงเจตนารมณ์ด้วยว่า จะผลักดันการตั้งกฎเกณฑ์และมาตรฐานกลางเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ระดับโลก เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยองค์กรต่างประเทศอย่างเอ็นเอสเอ ที่ถูกนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างซีไอเอ แฉถึงความไม่ถูกต้องของพฤติกรรมการล้วงข้อมูลจากประเทศต่างๆ

หากการผลักดันมาตรฐานกลางได้รับการยอมรับในระดับโลก ก็จะเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ถล่มธุรกิจซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ของบริษัทธุรกิจไอทีในซิลิคอนวัลเลย์ โดยธุรกิจเหล่านั้นจะสูญเสียรายได้เฉพาะส่วนของการให้บริการเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลและแอพพลิเคชั่นที่เก็บไว้ในระบบได้ทุกที่ทุกเวลา สูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2559

ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ ที่จะเสียรายได้จากการโฆษณาอย่างมหาศาล

นอกจากนั้น บราซิลยังตั้งเป้าจัดตั้งจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อถ่ายทอดข้อมูลขนาดใหญ่ไปยังเป้าหมายในจุดต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตในบราซิลถูกสกัดโดยหน่วยงานต่างประเทศ ทั้งยังวางแผนจัดตั้งบริการอีเมลเข้ารหัสโดยให้สำนักงานไปรษณีย์ของประเทศเป็นผู้บริหารงาน เพื่อใช้ทดแทนบริการอีเมลฟรี เช่น ยาฮู หรือจีเมล ที่เป็นบริการของบริษัทธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการยืนยันจากนายสโนว์เดนว่า ทั้งสองบริษัทให้ความร่วมมือต่อเอ็นเอสเอในการเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้

ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากบราซิล เช่น จีน และอิหร่าน ก็กำลังวางแผนการ "ปลดแอก" การใช้บริการเว็บไซต์และอีเมลที่มีฐานเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับการสื่อสารโดยหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐ

แต่การเคลื่อนไหวของบราซิลในครั้งนี้ รุนแรง ชัดเจน และหนักแน่น ทำให้เชื่อได้ว่า จะมีอีกหลายประเทศ "เอาอย่าง" บราซิลที่กล้าแข็งข้อกับประเทศที่อ้างตัวเองว่าเป็น "ตำรวจโลก" แห่งนี้


ไซเบอร์แบต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่