ปะการังเทียมจากเหล็ก แหล่งเที่ยวใหม่ดึงนักดำน้ำ

กระทู้ข่าว
ปะการังเทียมจากเหล็ก แหล่งเที่ยวใหม่ดึงนักดำน้ำ
•    
updated: 19 ก.ย. 2556 เวลา 14:00:39 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 18 กันยายน นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทช.ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะทดลองสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก ในพื้นที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้บริจาคโครงสร้างเหล็กจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน นำไปวางเป็นปะการังเทียม ในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ ของเกาะพะงัน ในวันที่ 22 กันยายนนี้


"โครงการศึกษาทดลองสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กจะมีการศึกษาติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านระบบนิเวศ ความเหมาะสมของวัสดุ รูปแบบการจัดวางการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว การประมง หากประสบผลสำเร็จ ในอนาคตก็จะเป็นแนวทางในการนำวัสดุเหล็กจากฐานขุดเจาะน้ำมันในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม" นายนพพลกล่าว

นายไพทูล แทนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตกันว่าระหว่างเศษเหล็ก และเศษปูน ที่หล่นอยู่ใต้ท้องทะเลนั้น จะพบว่าปะการังอ่อนและกัลปังหา รวมไปถึงหอยและตัวเพรียง จะเกาะบริเวณเศษเหล็กมาก และเจริญเติบโตกว่าบนเศษปูน ตั้งสมมติฐานว่าเป็นเพราะปูนจะมีความเป็นกรดเป็นด่างมากกว่าเหล็ก อย่างไรก็ตาม ปริมาณและการเจริญเติบโตจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้นด้วย

"การวางโครงสร้างเหล็กจากแท่นขุดเจาะน้ำมันครั้งนี้ เราได้มีการหารือกับชาวบ้าน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ นอกเหนือจากจุดประสงค์การเพิ่มขึ้นของจำนวนปะการังในทะเลแล้ว บริเวณที่เรานำโครงเหล็กไปวางจะเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ เพื่อให้นักดำน้ำมีแหล่งดำน้ำเพิ่มขึ้น อีกเป้าหมายหนึ่งคือ จะลดจำนวนนักดำน้ำออกจากพื้นที่ชมปะการังธรรมชาติ โดยโครงเหล็กที่จะนำลงไปเป็นปะการังเทียมนั้น มีขนาด 12x12 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 ชุด จะวางห่างกันประมาณ 50 เมตร"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่