[อีกสักหน่อย ว่าด้วยเครื่องแบบและ มธ.] Timeline มธ. เป็นแบบนี้จริงไหม?

ขอตัดมาบางส่วนนะครับ เอาเฉพาะสาระเท่านั้น

-----------------------

มองย้อนกลับไปในอดีต การแต่งกายของนักศึกษามธ.เป็นประเด็นถกเถียงกันของคนในประชาคมธรรมศาสตร์เป็นระยะตลอดมาในแต่ละยุคสมัย เพราะมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการเมืองเชิงสัญลักษณ์อยู่ค่อนข้างมาก
       
       แรกเริ่มเดิมทีเมื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)ในปี 2477 นั้น สถาบันการศึกษานี้มีสถานะเป็นตลาดวิชาหรือมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ทำการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์คือวิชากฎหมายและการเมือง ตามเจตจำนงของผู้ประศาสน์การ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ต้องการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้งอกงาม นักศึกษาธรรมศาสตร์ในสมัยนั้น ก็คือประชาชนทั่วไปผู้ใฝ่ในการศึกษา พวกเขาไม่ใช่นักเรียนจึงแต่งกายกันตามปกติวิสัยที่เคยแต่งกัน

สถานการณ์และการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสถานะและบทบาทของมหาวิทยาลัยและนักศึกษาธรรมศาสตร์ นับจากความพ่ายแพ้ทางการเมืองของนายปรีดี ในช่วงหลังปี 2490 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกฝ่ายตรงกันข้ามกับนายปรีดี เข้าควบคุมและพยายามเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เหมือนกับสถานศึกษาอื่นๆ ทั่วไปที่มุ่งผลิตบุคคลากรเข้าไปรับใช้ระบบ
       
       ในปี พ.ศ. 2495 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้รัฐสภาออกพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ใหม่ เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และในปีเดียวกันนั้นจอมพล ป. ก็เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง เปลี่ยนตำแหน่งผู้ประศาสน์การเป็นอธิการบดีเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป แต่ในเวลานั้นมธ. ก็ยังมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยเปิด
       
       ต่อมา ในปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งให้โอนย้ายมหาวิทยาลัยทั้งหมดรวมทั้งธรรมศาสตร์ที่เป็นองค์กรอิสระอยู่แต่เดิมให้เข้าสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อความสะดวกในการควบคุมนักศึกษา ในปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ ส่งจอมพลถนอม กิตติขจร ไปเป็นอธิการบดี และยกเลิกความเป็นตลาดวิชาของธรรมศาสตร์โดยกำหนดให้เป็นมหาวิทยาลัยปิด ทำการสอบคัดเลือกเข้าเรียนเพื่อจำกัดจำนวนนักศึกษา ทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ ลดลงจาก 30,000 เหลือเพียง 300 คน เท่านั้น

หลังจากนั้น มธ.ก็มีกระบวนการในการผลิตนักศึกษาให้ต่างจากประชาชนธรรมดาทั่วไป การกำหนดลักษณะเครื่องแต่งกายเป็นหนึ่งในนั้น โดยออกระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกายนักศึกษาในปี 2509 และแก้ไขใหม่ในปี 2549 ช่วงสมัยที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ เป็นอธิการบดี
       
       อย่างไรก็ตาม นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคแรกๆ ก็แต่งเครื่องแบบกันเป็นส่วนใหญ่ และเครื่องแบบนักศึกษา ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นปัญญาชนที่โก้หรูในยุคที่เรียกว่าสายลมแสงแดด ดังกลอนประชดประชันของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ว่า
       
       “Gu เป็นนิสิตนักศึกษา เจ้าขี้ข้ารู้จัก Gu หรือไหม
       หัวเข็มขัด กลัดกระดุม ปุ่มเน็คไทร์
       หลีกไปหลีกไปอย่ากีดทาง”

       
       กลอนของสุจิตต์ ดูเหมือนจะสะท้อนภาพพจน์และเครื่องแบบนักศึกษาได้ดี ด้วยพลังของกลอนบทนี้และกระแสฮิปปี้ในตะวันตกช่วงยุคทศวรรรษ 1970 ทำให้เกิดการต่อต้านเครื่องแบบนักศึกษาโดยเฉพาะในมธ.ที่มีการตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาสังคมการเมืองกันอย่างกว้างขวางทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่นิยมแต่งเครื่องแบบ แต่สไตล์การแต่งตัวที่รู้จักกันดีในนาม 5 ย คือ เสื้อยืด กางเกงยีน สะพายย่าม ผมยาว และสวมรองเท้ายาง ขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่สมัยนั้นก็ยังนิยมสวมเครื่องแบบนักศึกษา

การต่อต้านเครื่องแบบเกิดขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญหลัง 6 ต.ค. 19 เมื่อฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมเห็นว่านักศึกษาโดยเฉพาะธรรมศาสตร์เป็นภัยสังคม ขบวนการฝ่ายขวามักนิยมใช้ความรุนแรงทำร้ายนักศึกษา การแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาจึงเป็นเรื่องไม่ปลอดภัย นักศึกษาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มที่ทำกิจกรรมทางเมืองหลัง 6 ตุลาฯ ต้องหลบหลบๆ ซ่อนๆ และอำพรางสถานะของตนเอง
       
       เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นหรือหลายกรณีเป็นภัยสำหรับชีวิตนักศึกษา ในยุค 1980s เป็นต้นมา แนวคิดแบบนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่มากในมธ.ช่วงนั้น ถึงแม้มหาวิทยาลัยมีระเบียบว่าด้วยการแต่งกายแต่ไม่เคยบังคับใช้อย่างเคร่งครัด นักศึกษาในยุควิกฤตศรัทธาและการแสวงหาครั้งที่ 2 (ระยะปี 2520-2530) ไม่เพียงแต่ไม่ได้แต่งกายด้วยชุดนักศึกษาเท่านั้น หากแต่ถือว่าแต่งกาย “ไม่สุภาพ” ในมาตรฐานสังคมทั่วไปในขณะนั้นด้วย แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ก็ถือว่านั่นเป็นเสรีภาพในร่างกายและเป็นวิจารณญาณของนักศึกษาเอง

ศ.คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี น่าจะเป็นอธิการบดีคนแรกๆ ของธรรมศาสตร์ในยุคหลังที่มีความพยายามจะจับนักศึกษาสวมเครื่องแบบ ด้วยการงัดระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกายขึ้นมาบังคับใช้อีก นักศึกษาในสมัยนั้นต่อต้านเช่นกันแต่ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างประนีประนอมด้วยการหารือกับอธิการว่า การบังคับเรื่องการแต่งกายนั้นให้เหลือระดับแค่ “สุภาพ” ตามมาตรฐานสังคมทั่วไป ไม่ถึงกับจำเป็นจะต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษา เพราะระเบียบว่าด้วยการต่างกายนักศึกษานั้น กำหนดว่านักศึกษาต้องแต่งกายสุภาพหรือด้วยเครื่องแบบนักศึกษา
       
       คำว่า “สุภาพ” โดยทั่วไปคือ ไม่สวมเสื้อยืดและรองเท้าแตะ และให้สอดชายเสื้อไว้ในกางเกงหรือกระโปรงก็เพียงพอแล้ว ส่วนเครื่องแบบนั้นก็ให้เป็นความสมัครใจของปัจเจกบุคคล และประการสำคัญที่สุดคือการบังคับจะทำได้เฉพาะเวลาสอบหรืองานพิธีการของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ดังนั้นนักศึกษาทั่วไปในยุคนั้นมักแต่งกายด้วยชุดไปรเวทไปเรียนเป็นประจำ การต่อต้านเครื่องแบบนักศึกษาเวลานั้นเป็นการต่อต้านการใช้อำนาจเหนือเสรีภาพในร่างกายของนักศึกษาเป็นหลักใหญ่ อีกด้านหนึ่งคือการท้าทายระเบียบสังคมเดิมๆ ในมหาวิทยาลัยที่ตกค้างมาจากสมัยเผด็จการ
       
       อย่างไรก็ตาม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคหลังทศวรรษ 1990 เริ่มแต่งกายด้วยเครื่องแบบมากขึ้นตามสมัยนิยมและนักศึกษาจำนวนมากห่างเหินจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทางสังคมอย่างมาก นักศึกษาในยุคหลังไม่ได้ต่อต้านเครื่องแบบด้วยเหตุทางการเมืองแบบเดิมแต่มุ่ง “ดัดแปลง” เครื่องแบบโดยเฉพาะนักศึกษาหญิงให้เป็นแฟชั่นและสมัยนิยม

อ่านข่าวเต็มๆ ได้ที่ : http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000115809

----------------------------------

Timeline มธ. เป็นแบบนี้จริงๆ ไหม?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่