บัตร B-CAS ของทีวีดิจิตอลญี่ปุ่น มีไปเพื่ออะไร??? วันนี้มีคำตอบครับท่าน!

วันนี้กลับมาอีกแล้ว เอาความรู้เรื่องทีวีดิจิตอลมาฝากกันอีกแล้ว หลายคนสงสัยว่าทำไมมีแต่ของญี่ปุ่นละ ของไทยทำไมไม่เอามาพูด??? ขอตอบตรงนี้เลยว่า เพราะของญี่ปุ่นมันมีลูกเล่นอะไรที่มากมายกว่าระบบอื่นครับ เลยเอามาพูดถึงบ่อย ให้ได้เป็นความรู้กันว่า ทีวีดิจิตอลไม่ได้มีแค่ช่องเยอะ ภาพชัด แต่มันมีอะไรที่มันซับซ้อนอยู่ข้างในนั่นเอง วันนี้จะกล่าวถึงบัตร B-CAS เป็นบัตรสีแดงที่ต้องเสียบกับอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีทุกตัวในญี่ปุ่น ไม่เช่นนั้นจะดูไม่ได้ (มือถือไม่ต้องใช้เพราะเป็น 1Seg ดูได้ที่กระทู้นี้ http://ppantip.com/topic/30887147) เรามาเริ่มกันเลย...



บัตร B-CAS ชื่อเต็มคือ BS Conditional Access Systems เป็นเหมือนกับบัตรผ่านถอดรหัสสัญญาณให้สามารถดูทีวีได้ มีใช้ในระบบทีวีดิจิตอล ISDB-T เท่านั้น เป็นระบบที่ญี่ปุ่นคิดขึ้นเอง โดยช่องทีวีที่ออกอากาศมานั้นจะติดโค๊ดล๊อกไว้ ซึ่งบัตร B-CAS จะมีโค๊ดพิเศษไว้ถอดรหัสอยู่ ถ้าไม่เสียบบัตรทีวีจะดูช่องทีวีไม่ได้ (จะมีคำเตือนให้ใส่บัตรขึ้นบนจอ) โดยบัตรมีหลายแบบมาก ที่นิยมสุดคือบัตรตรงซ้ายบนสุดของรูปเลยครับ บัตรตัวนั้นจะแถมมาในกล่องกับอุปกรณ์ที่รับทีวีได้ ส่วนบัตรรูปแบบอื่นก็ใช้สำหรับจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ใช้ถอดรหัสช่อง BS, CS หรือ CATV เพื่อดูช่องที่ตัวเองลงทะเบียนดูเป็นรายเดือนไป (เหมือนบัตร True Visions ที่เสียบกล่องไว้แบบบ้านเราเลยครับ) และจะมีบัตรแบบพิเศษเรียก mini B-CAS ไว้เสียบกับทีวีรถยนต์ ทีวีพกพา หรือคอมพิวเตอร์ ขนาดเท่าซิมการ์ดโทรศัพท์ขนาดปกติ (ไม่ใช่ขนาดเท่า Mini, Micro-Sim นะครับ) โดยบัตรที่เป็นแบบพวก BS, CS, CATV ก็สามารถใช้ดูฟรีทีวีได้ตามปกติครับ ไม่ต้องสลับบัตร


(รูปด้านหลังของบัตร B-CAS รุ่นธรรมดาที่แถมมาในกล่องอุปกรณ์รับทีวี จะมีรหัสประจำบัตรด้วย [เจ้าของรูปเค้าทำแถบบังไว้ กันโดนคัดลอกข้อมูล] ถ้าสมัครเคเบิ้ลพวก BS จะได้บัตรอีกแบบนึง ต่างตรงข้างหลังจะมีคำว่า BS แทนคำว่า IC โดยรหัสบัตรนี่แหละครับ ไว้ลงทะเบียนดูรายเดือน ตอนซื้อทีวีมาใหม่หรือจูนช่องใหม่ก็ต้องกรอกเลขหลังบัตรเข้าไปด้วย ถ้าไม่ใส่จูนช่องไม่ได้นะจ๊ะ)


(ไม่ต้องใช้เคเบิ้ลหลายกล่อง เพราะมันรวมอยู่ในบัตรเดียวแล้วทั้งฟรีทีวีและเคเบิ้ล!!!)

โดยบัตร B-CAS ที่แถมมาให้เราฟรี (บัตรสีแดง ที่ด้านหลังมีตัวอักษร IC) เช่น ซื้อทีวีมา จะมีบัตรนี้ให้มาในกล่องเลย ทีวี1เครื่องมีบัตร1ใบ จะมีอยู่ในซองใส่คู่มือทีวีเลย แนบมาพร้อมกับใบสมัครลงทะเบียนบัตร B-CAS ซึ่งถ้าลงทะเบียนแล้ว เวลาดูฟรีทีวีจะไม่มีลายน้ำโลโก้ช่องขึ้นมารบกวนใจ (ถ้าดูซีรี่ส์ จะฟินมาก ไม่มีโลโก้มาขัดอารมณ์ แถมทีวีญี่ปุ่นไม่มีการขึ้นแถบวิ่งใต้จออยู่แล้วด้วย ดูกันแบบเต็มอารมณ์ เริ่ด!) แต่ถ้าไม่ลงทะเบียน ก็สามารถดูทีวีได้ตามปกติ แต่ถ้าทำบัตรหาย ไม่ต้องกังวล เราสามารถโทรไปที่ศูนย์ของ B-CAS เพื่อขอบัตรใหม่ได้ครับ


(ไม่เสียบบัตร B-CAS ก็จะมีข้อความเตือน ทีวีแต่ละยี่ห้อแต่มีการข้อความที่ไม่เหมือนกัน ในรูปเป็นของทีวี Sony)


(บัตร B-CAS ที่แถมมากับทีวีพร้อมใบลงทะเบียน [ขออภัยที่รูปเล็กครับ รูปอันนี้หายากนะครับ])

แล้ว B-CAS มันมีอะไร ทำไมต้องทำให้การดูทีวีมันยุ่งยาก เสียบบัตรทำไม??? ที่ต้องมี B-CAS นั้นเพื่อป้องกันปัญหาลิขสิทธิ์ครับ โดยในไฟล์ที่อัดมาจากทีวีนั้น จะติดโค๊ดยุบยิบมากมาย ในนั้นก็คือโค๊ดที่พ่วงมากับ B-CAS นี่แหละครับ ทำให้เวลาเอาไฟล์ไปหั่นส่วน โปรแกรมจะเกิดการ Error หรือไม่รับไฟล์นั้นไปเลย (มีบางโปรแกรมที่หั่นไฟล์ได้) แม้แต่ EPG หรือผังรายการที่ปกติจะติดมากับไฟล์อัด จะเป็นภาษามั่วครับ แต่ตัวเวลารายการยังแสดงอยู่ ต่างจากของเกาหลีที่เอาไปหั่นไฟล์ได้อย่างสบาย แถม EPG แสดงผลเป็นภาษาเกาหลีได้เลย ไม่มีการเข้ารหัสตัวอักษร และมีระบบ Copying Protection หรือ ป้องกันการคัดลอก ในสมัยแรกมีแต่การอัดรายการลงแผ่น DVD เลยทำโค๊ดป้องกันคัดลอกแค่สำหรับแผ่น DVD แต่สำหรับการอัดแบบ HDD หรืออัดผ่านคอมพิวเตอร์จะคัดลอกกี่รอบก็ได้ แต่ก็นั่นแหละครับ หาโปรแกรมหั่นไฟล์ยาก ไฟล์มันผูกกับเวลารายการ ณ ขณะที่เราอัดไฟล์ด้วย และลายน้ำมุมจอก็จะติดไปด้วยกับไฟล์ (ทีวีตัวไหนลงทะเบียนบัตร B-CAS ไปแล้ว ไม่มีลายน้ำโลโก้ ตอนอัดไฟล์ก็จะไม่มีลายน้ำโลโก้ติดเข้าไปในไฟล์ด้วยเช่นกัน) และส่วนนึงที่ต้องมีป้องกันลิขสิทธิ์ด้วยระบบนี้เพราะป้องกันสัญญาณทีวีที่มันเกินไปในเขตเกาหลีใต้ด้วยนิดนึง (ช่องทีวีที่ส่งแถว Fukuoka มันล้ำเข้าไปแถวเมือง Busan ของเกาหลีนิดนึง ซึ่งทางเกาหลีก็ได้รบกวนสัญญาณมันไว้อยู่แล้ว) ส่วนฝั่งรัสเซียและไต้หวัน แถวนั้นเสาเล็กครับ ส่งข้ามประเทศไม่ถึงแน่นอน


(ดูซิครับ! EPG เป็นภาษามั่วทั้งๆที่มันกำหนดเป็นภาษาญี่ปุ่น [ja] ไปแล้วแท้ๆ มันติดโค๊ดเข้ารหัสไว้ หั่นไฟล์ก็ยาก)


(ส่วนเกาหลีนั้น ใช้ทีวีดิจิตอลระบบ ATSC ไม่มีการเข้ารหัสล๊อกใดๆ ต่อเสาเข้าทีวีจูนติดดูได้เลยไม่ต้องใช้บัตร สังเกตว่าไม่มีการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่งมา แสดงผลเป็นภาษาเกาหลี [ko] ออกมาได้เลย หั่นไฟล์ได้สบายมาก)

แล้วทีวีที่รองรับบัตรมันมีตั้งแต่สมัยไหน??? ตัวทีวีที่มีช่องรับ B-CAS ก็มีตั้งแต่เริ่มต้นทีวีดิจิตอลเลยครับ ทีวีที่ขายในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2003 ขึ้นไปจะมีตัวรับทีวีดิจิตอลมาในตัวแล้ว แถมสามารถรับสัญญาณ BS,CS ได้ในตัวเลย (BS,CS เป็นเคเบิ้ลแบบจาน) บางรุ่นมีตัวรับ CATV (เคเบิ้ลใยแก้ว) มาให้ด้วย วิธีเริ่มใช้บัตรและเริ่มดูทีวีก็มีอยู่แบบเดียวจนถึงปัจจุบัน เสียบบัตร เปิดทีวี ใส่เลขบัตร เลือกโซนที่เราอยู่(ต้องเลือกให้ตรงที่เราอยู่ เพราะแต่ละโซน เลขช่องและชื่อช่องไม่เหมือนกัน ข้อมูลจะนำไปอ้างอิงกับระบบ Datacasting และระบบเตือนภับภิบัติในแต่ละโซนด้วย) รอจูนช่องเสร็จ ก็ดูได้เลย เลขช่องเรียงให้อัตโนมัติ ในสมัยทีวีดิจิตอลแรกๆคนเอาบัตรไปลงทะเบียนกันหมดเลย สังเกตว่าไฟล์ทีวีญี่ปุ่นที่เก่าๆจะไม่มีโลโก้ช่อง แต่พอยุคต่อมา คนกลัวหน่วยงานรัฐหรือผู้ไม่หวังดีเอาข้อมูลเราไป เลยไม่ไปลงทะเบียนบัตรกัน แต่ปัญหานี้มีแต่คนที่ดูเฉพาะฟรีทีวี ไม่ได้สมัครเคเบิ้ล เพราะสมัครเคเบิ้ลยังไงก็ต้องกรอกข้อมูลต่างๆอยู่ดี (ลงทะเบียนบัตรฟรีทีวีลงทะเบียนกับหน่วยงาน B-CAS แต่ถ้าดู BS,CS ให้ไปลงทะเบียนกับผู้ให้บริการเคเบิ้ลแทน เช่น Skyperfectv!)


(รูปนี้มาจากทีวีดิจิตอลปี 2006 โลโก้ช่องไม่มี เพราะคนเอาบัตรไปลงทะเบียนกันหมด พวกเค้าไม่รู้เลยว่าไม่ต้องลงทะเบียนก็ดูได้)

(พอมายุคโอลิมปิก 2008 คนเค้ารู้กันแล้วว่าไม่ลงทะเบียนก็ดูทีวีได้ ไม่ต้องเสี่ยงข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล เลยหาไฟล์ใหม่ๆที่ไม่ติดลายน้ำยากมาก สังเกตสิครับว่าโลโก้ช่องมันอยู่ไหน ที่มันเห็นได้ยากด้วยเพราะเป็นลายน้ำจาง ช่องทีวีก็ไม่จำเป็นต้องเว้นที่เผื่อมัน ทำให้มันเต็มจอบังโลโก้ไปได้เลย)


จบแล้วครับ!!! ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับผม สวัสดีครับ!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่