แนวคิดเรื่องธรรมกายของเถรวาทและมหายาน

เรื่องราวของ “ธรรมกาย” ในพระพุทธศาสนาขณะนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักวิชาการตะวันตก จีน  ธิเบต  และญี่ปุ่น  ซึ่งต่างก็ยอมรับว่าเลือนรางเต็มทีในเรื่องของความเข้าใจจริง ๆ เพราะสิ่งนี้ได้ถูกทำให้เจือจางลงนานนักหนาแล้วนับตั้งแต่พุทธศักราชที่ ๕๐๐  โดยประมาณเมื่อหมดยุคสมัยของพระเจ้ากนิษกะ  มหาพุทธมามกะแห่งราชวงศ์กุศานะของอินเดียตอนเหนือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้คำว่า “ธรรมกาย”  ในเชิงความรู้ทั่วไปดูออกจะเป็นของใหม่ เรื่องใหม่  ที่ต้องการคำอธิบายอย่างยิ่ง  หลายคนคิดว่าธรรมกาย คือสภาวะอะไรสักอย่างที่ดูลี้ลับห่างไกล หลายคนคิดว่าธรรมกายคือนิกายใหม่ของพุทธศาสนาที่เพิ่งถูกคิดขึ้นมาในยุคปัจจุบัน  หากในความเป็นจริงในโลกแห่งวิทยาการสากลด้านพระพุทธศาสนาว่ากันด้วยเรื่องราวของพุทธปรัชญา “ธรรมกาย” หรือ THE DHAMAKAYA  ในภาษาสันสกฤตกลับเป็นที่กล่าวขวัญและรู้จักกันดีในหมู่ของนักวิชาการที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อการศึกษาค้นคว้าทางด้านนี้ บรรดานักวิชาการมากมายต่างพยายามที่จะให้คำจำกัดความถึงสภาวะแห่งธรรมกายหรือนิยามของคำว่าธรรมกายให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้  และส่วนใหญ่เป็นงานที่เกิดจากการค้นคว้าดัดแปลงมาจากพระสูตรต่าง ๆ ในภาคภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาจีน  ญี่ปุ่น  และธิเบต  ก่อนที่จะแปลมาเป็นภาคภาษาอังกฤษอีกชั้นหนึ่ง  คำจำกัดความเหล่านี้โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมาจากพระสูตรของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  ซึ่งมีมากมายในจีน  ญี่ปุ่น  และธิเบต  เพราะเป็นภาคพื้นเดียวเท่านั้นที่รับมรดกทางด้านนี้ไว้มากที่สุด  ทางด้านที่เป็นตำราในลักษณะของตัวอักษร

               ซึ่งต่างต้องยอมรับว่าล้วนเป็นเรื่องราวของตัวอักษรที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรเป็นตัวอักษรบนพื้นฐานของความชำนาญทางด้านภาษาผสมกับความเข้าใจในปรัชญาเชิงพุทธ

ใน กถาวัตถุ (เรื่องใน  อภิธรรมปิฏก  เป็นคำถามตอบหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา)  ได้มีการอภิปรายถึงเรื่องการดำรงอยู่จริงของพระพุทธเจ้า  ทั้งนี้ก็เพื่อลบล้างความคิดของพวกที่ไม่เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์และเนื้อความใน  กถาวัตถุ นี้เอง  ที่ถือเป็นความเห็นหลักที่สามารถอ้างได้  ว่าเป็นแนวคิดเรื่องกายที่เถรวาทมีอยู่

               แม้จะมีคำว่า  รูปกายและธรรมกาย (ธัมมกาย)  ในคัมภีร์บาลีในชั้นหลัง  โดยเริ่มต้นมาจากคัมภีร์ฝ่ายมหายาน  หรือกึ่งมหายานแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดดังกล่าวจะถือกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างเด่นชัดในแง่การปฏิเสธกายที่มีอยู่จริงของกายพระพุทธเจ้า (เรื่องราวต่าง ๆในพระสูตรหลายเรื่องมีนักปราชญ์วิเคราะห์เพิ่มเติมเข้ามาในการสังคายนาครั้งหลัง ๆ  สำหรับพระอภิธรรมทั้งหมวดนั้น  เป็นการรจนาของนักปราชญ์ในการสังคายนาครั้งหลัง ๆ  เช่นกัน  การวิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของเรื่องเหล่านี้มีอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าเป็นแนวคิดตามหลักพุทธศาสนาโดยมิได้แย้งว่าเป็นความเห็นที่แปลกแต่อย่างใด  โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก  หมายเหตุใต้พระสูตรใน พระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชนของอาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ  และการวิเคราะห์คำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทในวิสุทธิมรรค  โดยท่านพุทธทาสภิกขุและเรื่องปฏิจจสมุปบาทในพุทธธรรมของพระธรรมปิฎก)  เรามีตัวอย่างเนื้อความใน  ในการกล่าวถึงรูปกาย  และธรรมกายไว้อย่างชัดเจน (โดยท่านพุทธโฆษพระพุทธโฆษาจารย์)  ได้อ้างไว้เมื่อประมาณ  พุทธศตวรรษที่ ๑๐ ดังนี้

               “โยปิ  โส  ภควา  อสีติอนุพฺยญฺชนปติมณฺทิตทฺวตฺตึสมหาปูริสสกฺขณวิจิตฺตรูปกาโย สพฺพาการปริสุทฺธสีลกฺขนฺธาทิคุณรตฺน  สมิทฺธธมฺมกาโย  ยสมฺหตฺต  ปุญฺญมหตฺต....อปฺปฏิปุคฺคโล  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ.....”

               (พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  ผู้มี “รูปกาย” อันวิจิตรงดงามประดับด้วยมหาบุรุษ  ๓๒ ประการ  และอนุพยัญชนะ (ลักษณะปลีกย่อยต่าง  ๆ)  ๘๐  ประการและเป็นผู้มี  “ธัมมกาย” อันบริสุทธิ์แล้วในทุกหนทางและเรืองรองด้วย  ศีล  สมาธิ  ฯลฯ  เต็มไปด้วย ความล้ำเลิศ  และคุณธรรม  เป็นผู้ตื่นแล้วอย่างเต็มที่  และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน)

               แม้แนวคิดของท่านพุทธโฆษาจารย์จะถือเป็นหลักตามความจริง  แต่ท่านก็มิได้อาศัยหลักพื้นฐานในการยกอำนาจวิเศษเหนือมนุษย์ให้แก่พระพุทธเจ้าแต่อย่างใดดังเราจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น จากคัมภีร์  อัฏฐสาลินี (เป็นอรรถกถาธรรม สังคณี  ท่านแต่งไว้ที่อินเดีย  ก่อนจะเดินทางไปลังกา)  โดยกล่าวว่าในช่วงระยะเวลาสามเดือนที่พระพุทธเจ้า  เสด็จจากโลกมนุษย์ไปทรงเทศนาพระอภิธรรมแก่พระมารดาในสวรรค์นั้น  พระองค์ได้สร้างนิมิตตพุทธขึ้น  อันเป็นการจำลองพระองค์ขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะดังเดิมทุกประการ

  ในสายตาของนักวิชาการฝ่ายมหายานก็มองว่า  “ธรรมกาย” มิได้เป็นของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  ทว่า...”ธรรมกาย”  เป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา  เพียงแต่คำว่า  “ธรรมกาย” มีอยู่มากมายในตำราที่อยู่ในครอบครองของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เพราะเส้นทางสายไหมที่พาดผ่านระหว่างจีน  ญี่ปุ่น  ธิเบต  และอินเดีย  คือถนนสายพระพุทธศาสนา ที่ท่านเซี่ยนจาง  (ถังซำจั๋ง)  นำพระคัมภียร์แบกใส่หลังช้างจากนาลันทาพุทธมหาวิยาลัยมุ่งหน้าเข้าภูมิลำเนาแห่งตน ก่อนวาระที่พระพุทธศาสนาจะเลือนหายไปจากประเทศอินเดีย ถ้านาลันทาไม่ถูกเผาทิ้ง ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมกายทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานก็อาจจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ก็เป็นได้

ในฝ่ายเถรวาทแล้ว  มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  เพราะสำนักนี้ถือว่าพระพุทธเจ้าคือมนุษย์ที่มีอยู่จริงในโลกเช่นมนุษย์ทั่วไป  และอยู่ในอาณัติของความเสื่อมไปทั้งปวงของกายที่มีอายุขัย แต่ในทางอภิปรัชญา  คือโดยหลักธรรมแล้ว  บางครั้งฝ่ายเถรวาทก็กล่าวว่าพระพุทธเจ้าก็คือ  ธรรมะโดยไม่มีนัยทาง  อภิปรัชญาเพราะไม่ต้องการให้ยึดติดกับพระพุทธเจ้าที่เป็นตัวบุคคล  หากแต่ให้มุ่งเน้นไปที่คำสอน  โดยมิต้องกังวลกับพระศากยมุนี  และด้วยเหตุนี้เอง  จึงเป็นการเปิดโอกาส  ให้สรรวาสติวาทและมหายาน  ได้เสนอแนวคิวทฤษฎีธรรมกายของตนต่อไปได้

               สำนักสรรวาสติวาท นั้น  ได้ให้อรรถธิบายโดยละเอียดถึงกายของพระพุทธเจ้า แต่ฝ่ายมหาสังฆิกะนั้นเองที่ได้ตั้งคำถามเรื่องกายในเริ่มแรกและปูทางไปสู่การพิจารณาโดยละเอียดต่อไปตามหนทางของฝ่ายมหายาน

               ในสมัยแรก ๆ นั้น  ฝ่ายมหายานถือเอากายทั้งสอง  อันปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น  อษฺฏาทศสาหสฺริกา  ปฺรชฺยญาปารมิตา พร้อมกับสำนักของทานนาคารชุน(นั้นคือ สำนักมาธยมิก)  โดยรับรู้ว่ามีกายเป็นสองรูป คือ

               ๑. รูปกาย (หรือนิรมาณกาย)  และกำหนดหมายถึงกายหยาบและกายละเอียด  โดยหมายถึงสรรพชีวิตทั่วไป

               ๒.  ธรรมกาย  ซึ่งให้ความหมายไว้สองอย่างด้วยกัน  คือกายแห่งธรรม  ซึ่งก่อให้เกิดพระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคล  และอีกอย่างหนึ่งก็คือหลักอภิปรัชญา  ที่กุมจักรวาล นั่นคือ  ตถตา (ความเป็นเช่นนั้นเอง)

               สำนักโยคาจารได้แยกความแตกต่างระหว่างกายหยาบ  ออกจากกายละเอียด โดยตั้งชื่อกายหยาบว่า  รูปกาย  หรือ นิรมาณกายและตั้งชื่อกายละเอียดว่า สัมโภคกาย  ส่วนในคัมภีร์ลังกาวตาร  ซึ่งได้แสดงถึงยุคแรกเริ่มของโยคาจารก็ถือเอาว่าสัมโภคกายนั้นคือ  นิษยันทพุทธะ  หรือธรรมนิษยันทพุทธะ (พระพุทธเจ้าที่บังเกิดจากธรรม) และในสูตราลังการ  ยังใช้คำว่า  สัมโภคกาย หมายถึง  นิษยันทพุทธะ  และใช้คำว่า  สวาภาวิกกาย  หมายถึง  ธรรมกายด้วย

ส่วนในคัมภีร์  อภิสมยาลังการการิกา  และ  ปัญจวึศติสาหัสริกานั้น  คำว่า  สัมโภคกาย  หมายถึงกายละเอียด  ที่พระพุทธเจ้าใช้เพื่อเทศนาสอนแก่พระโพธิสัตว์ และธรรมกาย  หมายถึงกายที่บริสุทธิ์แล้วด้วยการปฏิบัติโพธิปักษิและปฏิบัติธรรมอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นในทางอภิปรัชญาแล้ว  ธรรมกายในคัมภีร์เหล่านี้ล้วนแต่ใช้คำว่า  สวภาวะหรือสวาภาวิกกาย

               สำหรับคัมภีร์  วิชญปติมาตราสิทธิ  ยังมีแนวคิดเรื่องเดียวกับในการิกา  แต่ใช้คำใหม่คือ  สวสัมโภคกายเพื่อหมายถึง  ธรรมกายอย่างใน  การิกา และแตกความหมายของสัมโภคกาย ออกไปโดยใช้คำว่าประสัมโภคกายแทน

               สำหรับคำสอนของพวกที่เรียกว่า จิตรมาตระตา มีว่า  กายของพระพุทธเจ้ามีอยู่ทั้งหมด  ๓  กายด้วยกันคือ

               กายที่ ๑  คือ  ธรรมกาย (ธรมกาย)  ธรรมกายนั้นเป็นกายซึ่งประกอบด้วยธาตุธรรมอันบริสุทธิ์ และก็เป็นธรรมล้วน ๆ เป็นตัวเนื้อแท้ของพระสัมมาพุทธเจ้าและของสรรพสิ่งทั้งปวงเป็นพุทธภาวะที่แน่นอน

               กายที่  ๒  ในลัทธิตรีกายนี้เรียกกว่า  สัมโภคกาย  แปลว่ากายแห่งความบริบูรณ์แห่งความสุขคือ  รูปกายนั่นเองเป็นกายเนื้อของพระตถาคตเจ้าประกอบด้วยมหาบุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และอสีติพยัญชนะทั้ง ๘๐ อย่าง  กายที่เรียกว่าสัมโภคกายนี้เป็นกายที่ไม่เที่ยงแต่เป็นกายที่ไปปรากฏต่อสายตาของชาวโลก  เพื่อสั่งสอนธรรมะแก่ชาวโลกทั้งหลาย และเป็นกายของพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในแดนสุขาวดีดังมีในพระไตรปิฏกของจีน

อย่างไรก็ตาม  นี้เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่เสนอออกมาเท่านั้นข้าพเจ้าเพียงแต่ต้องการให้ท่านได้เห็นภาพโดยรวมของกายต่าง ๆ  ทั้งในฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายานเพื่อเปรียบเทียบกับความหมายของกายต่าง ๆ  ที่กล่าวไว้ในตำรับตำราต่าง ๆ ในประเทศไทย

ข้อมูลจาก  หนังสือ  "ตามรอยธรรมกาย"  
เฉพาะข้อมูลนี้เรียบเรียงตัดย่อใหม่โดย : คุณสมถะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่