เพียงเราดีใจที่เห็นคนทำบาป บาปกรรมก็ตกกับเราเสียแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุในกรรมเก่าของพระองค์สมัยพระชาติก่อน ๆ มีพระชาติหนึ่ง ทรงสอนว่า ทรงไม่ได้ทำอะไรทางกายหรือคำพูดเลย แต่เพียงแค่คิด  ผลของกรรมนั้นก็กลับมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งของพระพุทธองค์


ตรัสว่า

             "ในกาลก่อน
              เราเป็นลูกของชาวประมงอยู่ในบ้านเกวัฏฏคาม
              เห็นคนทั้งหลายฆ่าปลาแล้ว เกิดความโสมนัส(ดีใจ)
              ด้วยวิบากแห่งกรรม(ผลกรรม)นั้น ความทุกข์ที่ศีรษะ(ปวดศีรษะ) ได้มีแล้วแก่เรา"


ขุ.อปทาน.๓๙๒
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=7849&Z=7924&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=392


ซึ่งการดีใจในข้อนี้ ถือว่าเป็นมโนกรรม เพียงแค่คิดกับกรรมของผู้อื่นใด ๆ ก็ตาม เพียงเท่านั้น กรรมนั้น เราก็จะไ้ด้รับติดไปด้วย เพราะจิตเข้าไปมีเจตนาสัมพันธ์ในกรรมนั้น  ถ้าเป็นกรรมดี เราดีใจด้วย เรียกว่า อนุโมทนา แต่ถ้าเป็นบาป เราดีใจด้วย ก็เรียกว่าเป็นการทำบาปทางใจ เราก็จะได้รับผลเช่นเดียวกัน  

ในกรรมหนึ่ง ๆ นั้น แม้ผู้ทำจะไม่ได้ทำเอง แต่หากมีจิตเข้าร่วมในกรรมนั้น หนึ่งในสี่ข้อต่อไปนี้ ก็จะถือว่าติดบาปกรรมนั้นมา  หนึ่งในสี่ข้อได้แก่

หนึ่ง ทำบาปนั้นด้วยตนเอง เช่น ขโมยของเอง เพราะอยากได้

สอง ชวนคนอื่นให้ทำบาป เช่น จ้างคนไปฆ่าเขา , สั่งคนให้ไปทำร้ายเขา , บอกคนอื่นให้โกหก

สาม กล่าวชื่นชมคนทำบาป เช่น เห็นเขาทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ชมเขาว่าดีแล้ว เท่ากับเป็นการยุให้เขา้ทำอกุศลกรรมนั้นอีก กรรมที่เขาจะทำก็จะแรงขึ้น บาปนั้นก็ตกกับเรา

สี่ ไม่ทำอะไรเลย แต่เพียงดีใจ ชอบ ก็จะได้รับผลดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้  

ซึ่งพิจารณาได้จากพระสูตรต่อไปนี้

"[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

ตนเองเป็นผู้พูดคำเพ้อเจ้อ ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดเพ้อเจ้อ ๑
พอใจในการพูดเพ้อเจ้อ ๑
กล่าวสรรเสริญคุณการพูดเพ้อเจ้อ ๑"

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
กรรมปถวรรคที่ ๗
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=6723&Z=6784&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=264


นี้เป็นตัวอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้าในกรรมบทว่าด้วยวจีทุจริต แสดงให้เห็นว่า กรรมที่จะทำให้ตกนรกได้นั้น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องทำกรรมนั้นเอง  เช่นในคำสอนนี้  เราไม่ได้พูดไร้สาระ แต่ชวนคนอื่นก็ดี ชมคนอื่นก็ดี ชอบที่เขาทำก็ดี กรรมก็ตกแก่เรา  เช่น  เวลาเราดูทอล์คโชว์ เห็นเขาพูดเรื่องไร้สาระ ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย ไม่เป็นสิ่งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ พัฒนาชีวิตอะไรได้ แต่เห็นว่าเขาพูดขำดี ตลกดี แค่นั่งหัวเราะ มโนกรรมนั้นก็เกิดกับเราแล้ว  ดังนั้น ในข้อนี้ แม้การหลีกเลี่ยงการฟังทอล์ุคโชว์ หรือการฟังเรื่องไร้สาระได้ ก็จะดีกับตัวเราเอง เพราะจะทำให้เราไม่ต้องติดกรรมบทในข้อสุดท้ายด้วย  จริงอยู่ การพูดเพ้อเจ้อนี้ ดูเหมือนไม่เป็นเวรเป็นกรรม แต่ในทางของสวรรค์และมรรคผลแล้ว ถือว่าเป็นวจีทุจริต ไม่นำให้จิตผู้ฟังเกิดกุศล แม้ในโลกมนุษย์ปัจจุบัน พูดไร้สาระก็ยังทำให้คนรอบข้างรำคาญ พูดมากเข้า ๆ คนก็เกลียดบ้าง ไม่ให้ความเชื่อถือบ้าง และมากกว่านี้ กรรมของการพูดเล่น พูดไร้สาระ จะส่งผลให้เป็นบุคคลดูไม่มีสง่าราศี ไม่มีอำนาจ วาจาไม่กินใจ ในชาติต่อ ๆ ไปด้วย หากเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ต้องลงนรก


จากที่แสดงมา ทุกท่านจะเห็นได้ว่า กรรมไม่ว่าทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทั้งหมดแล้ว ถ้าจิตมีส่วนร่วมในกรรมนั้นด้วย เราก็จะต้องมีส่วนในกรรม ๆ นั้นทันที เพราะอย่างนั้น จำเป็นที่จะต้องประคองสติ รักษาตนให้ดี เพื่อความสุขในชีวิตที่เหลือของเราเอง ไม่ใช่ของใครอื่นเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่