ว่าด้วยเรื่องของ "Safe Area" ของโทรทัศน์...

สวัสดีครับ กระทู้นี้จะมาเล่นถึง "Safe Area" ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการออกอากาศโทรทัศน์ มันเป็นอย่างไร มีไปเพื่ออะไร มาดูกันครับ.....

Safe Area เป็นกฎมาตรฐานในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพเนื้อหาได้มากที่สุด โดย Safe Area นั้นเป็นการตีกรอบภาพและกราฟฟิกบนจอไม่ให้เกินขอบมาตรฐาน เพื่อให้ทีวีทุกตัวสามารถแสดงรูปภาพเนื้อหาได้เต็มตามที่ผู้ถ่ายทำต้องการสื่อถึงหรือต้องการให้ดู

ในจอทีวีทุกแบบทั้งจออ้วน CRT, Plasma, LCD, LED แต่ละเครื่องจะมีการสัดส่วนภาพที่แสดงผลต่างกัน ทั้งเกิดจากปรับไม่เป็นหรือเกิดจากการใช้งานตามอายุ เช่น ทีวีจออ้วน ใช้ไปนานๆภาพจะค่อยๆเบี้ยวหรือค่อยๆขยาย หรือจอ LCD ที่ปรับโหมดอัตราส่วนเป็น 16:9 ซึ่งในหลายๆเครื่อง ที่ตั้งโหมด 16:9 ภาพจะถูกซูมเข้าไปจากภาพที่ส่งจริงเล็กน้อย ซึ่งตัว Safe Area นี่แหละครับ เป็นตัวกำหนดมาตรฐานเผื่อไว้ เพื่อให้ภาพที่ถ่ายออกมา สื่อได้เต็มจอ ไม่มีขอบหายไป

โดย Safe Area จะมีการแยกอนาเขต 3 เขต คือ..
1.Invisible Area หรือ Frame raster คือขอบภาพมุมสุดที่ภาพถูกกำหนดให้ไม่เห็น ไม่ส่งผลต่อการสื่อความหมายของผู้ถ่าย โดยปกติจะไม่เห็นขอบนี้ครับ ถ้าอยากเห็น ให้ดูทีวีอนาล๊อกแล้วให้สัญญาณสวิงหรือไม่ชัดให้ภาพสั่นสิครับ ก็จะมีขอบภาพเพิ่มขึ้นมาอีกนิดนึง เช่น ดูรายการสรยุทธ ขอบของกรอบSMSจะชิดขอบจอทีวีพอดี ถ้าสัญญาณไม่ชัด ภาพสั่น พอภาพเอียงขยับไปซ้ายหรือขวา ก็จะเห็นว่าขอบข้างมันมีเพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีกนิดนึง

2.Action-Safe Area คือขอบภาพที่เห็นโดยปกติ ไม่ใช่จุดเน้นภาพหรือความหมาย ตรงส่วนนี้จะไว้เว้นระหว่างขอบจอและโลโก้กราฟฟิก

3.Title-Safe Area หรือ Graphics-Safe Area คือจุดเน้นภาพ เป็นพื้นที่ๆมีมากที่สุดบนจอ พวกโลโก้ช่อง คำบรรยาย โลโก้กราฟฟิกจะอยู่ภายในกรอบนี้ รวมถึงสิ่งที่ต้องการสื่อ โดยมีการกำหนดว่าภาพกราฟฟิกต่างๆ เช่น โลโก้ช่องจะไม่เกินกรอบนี้ จะไว้ติดขอบของ Title-Safe Area

โดยมาตรฐานในการตั้งค่า Safe Area ขึ้นอยู่กับว่าภาพที่ถ่ายออกมามีอัตราส่วนเท่าไร และการนำเสนอภาพหลักนั้นจะไว้ที่อัตราส่วนใด เช่น ภาพ HD 16:9 แต่ต้องการจะสื่อภาพให้คนที่ดูจอ 4:3 ด้วย (ทั้งที่ออกอากาศแบบ Simucast 16:9 และ 4:3 พร้อมกัน หรือใช้เป็น Crop บนจอ 4:3 ให้เต็ม) ก็จะใช้มาตรฐานของการนำเสนอแบบ 14:9 (14:9 คือ อัตราส่วนกึ่งกลางระหว่าง 16:9 และ 4:3 มีประเทศรัสเซียที่ใช้อัตราส่วนนี้ออกอากาศ) ส่วนถ้าเป็นจะสื่อแบบ 16:9 ก็ใช้มาตรฐานนำเสนอแบบ 16:9 โดยจะมีการกำหนดแถบพิกเซลของในแต่ละอัตราส่วนภาพและการนำเสนอ


(Safe Area สำหรับความละเอียด 576i นำเสนอแบบ 14:9 เมื่อใช้ภาพ 16:9)

(Safe Area สำหรับความละเอียด 720P, 1080i นำเสนอแบบ 14:9)


(Safe Area สำหรีบความละเอียด 720P, 1080i นำเสนอแบบ 16:9)


แล้วตากล้องจะรู้ไหมว่าที่เราถ่ายมันเข้า Title-Save, Action-Save ไหม? ตากล้องรู้ครับ พวกกล้องถ่ายทีวีแบบ DV หรือกล้องสตูดิโออันเบ้อเร้อจะมีกรอบกำหนดไว้บนจอของตัวกล้องเลย ทำให้แม้ถ่ายทอดสดก็ได้ตำแหน่งภาพที่ถูกต้อง เพราะตากล้องเห็นตำแหน่งขอบภาพได้ทันที

คราวนี้มาดูภาพจากทีวีกันครับ (ภาพที่เห็นมาจากไฟล์ที่เป็น HD 16:9 ทั้งหมด โดยไฟล์ที่ผมมีๆไฟล์ที่นำเสนอกรอบแบบ 14:9 ด้วย สำหรับอ้างอิงภาพ 4:3)


(อันนี้คือภาพที่ออกอากาศปกติ สังเกตว่าโลโก้จะไม่ชิดขอบ จะห่างจากขอบนิดนึง อยู่ชิดกรอบ Action-Safe)

(ส่วนภาพนี้คือซูมเข้ามาเพื่อให้ชิดโลโก้ หรือคือการซูมไม่ให้เห็น Action-Safe สังเกตได้จากภาพโดนครอปเข้ามาเล็กน้อย แต่ยังคงจุดสำคัญหรือจุดโฟกัสอยู่ครบ ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าใช้แถบ Action-Safe กับ Title-Safe เป็นแถบเดียวกันไปเลย เพราะนี่ถ่ายและนำเสนอแบบ 16:9 อย่างเดียว (ตัดช่อง SD ออกไปแล้ว เหลือออกอากาศแต่ HD) ที่เห็นจะมีญี่ปุ่นที่ไว้ขอบเท่ากัน ถ้าเกาหลียังมีเว้นขอบเล็กน้อย)

(อันนี้คือภาพแบบ 480i ชนิด Full Frame ภาพที่ได้จะกว้างกว่า 4:3 ปกติ โดยปกติภาพที่ได้มุมกว้างแบบนี้ ระบบบ้านเราก็มีแบบนี้ ใครดูจาน DTV สังเกตว่าเหมือนภาพจะกว้างกว่าจานอื่นเค้าด้วย แต่ที่เราดูกันทั่วไป จะออกอากาศภาพเป็นอัตราส่วน 4:3 โดยปกติ ภาพจะแคบกว่านี้เล็กน้อย เป็นทั้ง NTSC, PAL, SECAM ตอนนี้สัญญาณมันไม่ดีภาพสั่น ขอบที่มันกว้างเพิ่มจาก 4:3 นี่แหละครับ ที่ปกติมองไม่เห็น แต่ถ้าภาพสั่นมันจะเห็น)

(480i แบบที่ออกอากาศกันเป็นอัตราส่วน 4:3 สังเกตว่าอนาเขตของ Title-Safe และ Action-Safe ก็ถูกใช้เช่นกัน)

(มาดูทางเกาหลีกันบ้าง เมื่อสมัยที่อนาล๊อกยังปิดไม่เสร็จ ภาพ HD จะมีตำแหน่งโลโก้และซับเป็นเช่นนี้ ซึ่งไปตรงกับมาตรฐานภาพ 16:9 นำเสนอ 14:9 โลโก้ MBC HD จะชิดกับขอบใน Action-Safe และซับจะอยู่เข้ามาหน่อยจากตำแหน่ง Title-Save ซึ่งกรอบ Title-Save กำหนดไว้สำหรับภาพอัตราส่วน 4:3)

(พอเป็น All HD แบบญี่ปุ่น คราวนี้ใช้โลโก้ชิดขอบใน Action-Safe Area แล้ว แต่ซับและกราฟฟิกอื่นเว้นห่างจากขอบ Action-Safe เล็กน้อย)

(ถ้าสังเกตดีๆ แม้แต่ในภาพยนตร์ก็มีการไว้ Safe-Area เช่นกันนะครับ)

ส่วนของไทยนั้น จากฟรีทีวีเท่าที่ดูมา ใช้การเว้นขอบ Safe-Area เล็กน้อยตามมาตรฐาน มีแค่ช่อง7 ที่ใช้แบบชิดกับขอบ Safe-Area สำหรับภาพ 4:3 เลย สังเกตจากโลโก้ช่องที่แทบชิดขอบจอ ส่วนระบบ HD รอดูในอนาคตแล้วกัน ผมยังไม่เอา ThaiPBS HD มาเป็นมาตรฐานนะ .....

วันนี้ก็ขอจบกระทู้เพียงเท่านี้ครับ สวัสดีครับ (ผมบอกแล้ว อาจมีมึนนิดๆก็ขออภัยครับ พยายามอธิบายให้เข้าใจที่สุดแล้วครับ)...
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่