รบกวนช่วยดูค่าใช้จ่ายให้ผมหน่อยครับว่าพอจะมีตรงไหนที่จะลดลงได้อีกบ้าง

กระทู้คำถาม
อยากจะออมเงิน แต่ออมไม่ได้ซักที  เดี๋ยวก็มีเรื่องให้ต้องใช้เงินตลอด  พี่น้องก็ไม่เข้าใจว่าได้เงินเดือนเยอะพอสมควรอยู่แล้ว  แต่ทำไมบางเดือนต้องไปพึ่งพาขอยืมเงินจากเขาอีก


ส่วนตัวผมเอง ไม่ต้องผ่อนรถ ปีนึงๆ ไม่มีเที่ยวพักผ่อน เรื่องกินมีบ้างที่ตามเพื่อนที่ทำงานออกไปหาอะไรทานอาหารเกาหลี ญี่ปุ่นกันตอนกลางวันบ้าง ก็เดือนละ 2-3 ครั้ง ไม่มีเที่ยวกลางคืน ไม่มีซื้อของฟุ่มเฟือยแบบบ้าเทคโนโลยี ไม่ซื้อเสื้อผ้า ไม่ซื้อนาฬิกา ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีแฟน  รถก็มือสอง ซื้อสดไม่ต้องผ่อน แถมยังติดแก๊สมาแล้วด้วย

ลิสต์รายการค่าใช้จ่ายแล้วก็ตกใจว่าขนาดไม่ได้ทำอะไรเลย ทำไมค่าใช้จ่ายต่อเดือนมันถึงสูง 3.6 - 3.7 หมื่นต่อเดือน

รายการค่าใช้จ่ายประจำเดือน

ให้แม่ 6,000 บ. (พี่น้องคนอื่นๆ ช่วยกันให้แม่แล้วแต่กำลัง)
ผ่อนหนี้ ธอส. 4,500 บ.
ค่าไฟ 2,000 บ.
ค่าเน็ต 644 บ.
ค่า cable tv 524 บ.
ค่าโทรบ้าน 200 บ.
ค่ามือถือ 200 บ.
ค่าน้ำ 200 บ.
ค่าซื้อของเข้าบ้าน 1,700 บ.
ค่าแก๊สเติมรถ 3,000 บ.
ค่าน้ำมันเติมรถ 1,000 บ.
ค่าอาหาร 4,000 บ.
ค่าเบ็ดเตล็ด 2,000 บ.
ค่าที่จอดรถ 2,200 บ.
เงินสมทบประกันสังคม + เงินสะสมกองทุนสำรอง + ภาษีหัก 8,250 บ. (ตัวนี้ลดไม่ได้เลย)

รวม 36,368 บ.


ปีนี้ เงินเดือนจะขึ้นอีก 1.2 หมื่น  คงพอมีเงินออมเพิ่มขึ้น   แต่อยากจะหาทางลดค่าใช้จ่ายบางตัว  แต่ก็ดูเหมือนมันแตะตรงไหนไม่ได้เลย จำเป็นไปหมด  ไม่เข้าใจว่าคนอื่นๆ ที่มีเงินเดือน 3 - 4 หมื่นเค้าใช้ชีวิตอยู่ได้ยังไงแบบกินหรูอยู่สบายเที่ยวตลอด มีเที่ยวนอกด้วย ทั้งผ่อนรถป้ายแดง + ผ่อนบ้าน   ส่วนตัวผมเอง ประหยัดสุดชีวิต ค่าใช้จ่ายยังล่อเข้าไปตั้งเกือบสี่หมื่น  บางเดือนมีรายการไม่คาดฝันขึ้นมานี่  เดือนนั้นแทบจะไม่มีกินตอนปลายเดือน เฮ้อ... ชีวิตมนุษย์เงินเดือนนี่หนอ  ไหนจะต้องเก็บเงินก้อนไปโปะดอกเบี้ยพักเพื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่กับ ธอส.อีก
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
มาช่วยตอบนะคะ...
เราเป็นคนดูแลเรื่องการเงินของครอบครัวค่ะ สามีให้เงินเราไว้บริหารค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด
ดังนั้นเราจะมีวิธีที่จะประหยัดอยู่หลายวิธี บ้านเราเป็นคนจีน
คุณแม่เราจึงสอนให้ประหยัด อดออม มาตั้งแต่เด็กๆ
เราแนะนำเพื่อให้จขกท.ลองไปตรองดูนะคะ ว่าตรงไหนพอจะเข้าเค้าพอทำได้บ้าง

(สมัยแรกๆสิบกว่าปีก่อนเรากับสามีรายได้รวมกันประมาณ 3 หมื่น
เราก็หาวิธีประหยัดรายจ่าย และ เอาเงินออมนั้นไปลงทุนต่อ
จนมีเงินเก็บนำไปซื้อบ้านหลังเล็กด้วยเงินสดได้
โดยใช้เวลาแค่ 3-4 ปีจากเงินเดือนอย่างเดียวค่ะ)

ปัจจุบันบ้านเราอยู่กันสองคน กับ อีก 1 ตัว (คุณแม่เราเสียไปแล้วค่ะ T_T)
ใช้เงินรวมกันต่อเดือนประมาณ 3 หมื่น+-
ในนี้มีผ่อนรถ 13,000 ด้วยจะหมด พ.ค.ปีหน้า เท่ากับค่าใช้จ่ายจริงๆจะแค่ 17,000 เท่านั้น
และ ถ้าเราผ่อนรถหมดครอบครัวเราจะใช้เงินเพียง 20% ของรายรับ อีก 80% คือเงินออมค่ะ



รายการค่าใช้จ่ายประจำเดือน

1.ให้แม่ 6,000 บ. (พี่น้องคนอื่นๆ ช่วยกันให้แม่แล้วแต่กำลัง)
2.+ผ่อนหนี้ ธอส. 4,500 บ.
-อันนี้ทำดีอยู่แล้ว ไม่ควรตัดทั้งสองอย่างค่ะ

3.ค่าไฟ 2,000 บ.
-ถ้ากลางคืนนอนเปิดแอร์ตลอด ลองเปิดพัดลมช่วย แล้วตั้งเวลาปิดแอร์ให้เร็วขึ้นสัก 2-3 ชม.ดูนะคะ
เราทำมาตลอด ช่วยประหยัดค่าไฟได้มาก อย่างปกติเคยเปิด 4 ทุ่ม-ตี 5 ก็ตั้งเวลาปิดสักตี 3
ช่วงเช้าเป็นช่วงที่อากาศเย็น กับยังคงมีความเย็นจากแอร์หลงเหลืออยู่
คนก็ยังคงหลับลึก จึงจะยังไม่ร้อนค่ะ

4.ค่าเน็ต 644 บ.
-ถ้าไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ที่ทำงานมีเน็ต,ไวไฟให้ใช้แล้ว และ คุณมีแพ็คเกจ 3G จากมือถือ
เราว่าตัดตรงนี้ได้อีกหน่อยค่ะ ที่บ้านเราไม่ได้ใช้เน็ตบ้าน ใช้แต่ 3G อย่างเดียว
จะจ่าย hotspot จากมือถือเข้าโน๊ตบุ้ค และใช้มือถือจอใหญ่นิดหน่อย
ใช้อ่านความรู้จากเว็บไซด์ต่างๆ ยูทูปก็ดูจากมือถือ
ค่า 3G Unlimited เราจ่ายเดือนละ 374.5 บาท (รวม vat แล้ว) ความเร็วเราโอเคอยู่ค่ะ

5.ค่า cable tv 524 บ.
-อันนี้ไม่ต้องตัดค่ะ เพราะคุณบอกว่าคุณแม่คุณดูตลอด

6.ค่าโทรบ้าน 200 บ.
-ถ้าพ่วงกับเน็ตบ้าน ก็ตัดตรงนี้ออกได้ค่ะ
ถ้าทุกคนในบ้านมีมือถือใช้กัน ของบ้านเราก็ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ค่ะ

7.ค่ามือถือ 200 บ.
-อันนี้คิดว่าไม่ได้ใช้มากนะคะ ถือว่าปกติ

8.ค่าน้ำ 200 บ.
-อันนี้คิดว่าไม่ได้ใช้มากนะคะ ถือว่าปกติ แต่ถ้าต้องการจะประหยัดจริงๆก็มีวิธีนะคะ

9.ค่าซื้อของเข้าบ้าน 1,700 บ.
-ตรงนี้เราไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง รู้สึกว่าจะมากอยู่เหมือนกัน
แต่แนะนำได้แค่ว่า เวลาซื้อของใช้อย่าไปยึดติดแบรนด์ หรือโฆษณาทางทีวี
จดรายการสินค้าที่จำเป็นต้องซื้อไปด้วยทุกครั้ง กำหนดงบประมาณแต่ละครั้ง ซื้อตามรายการ

ถ้ามีสินค้าเทียบ สังเกตุดูที่ผู้ผลิต เพราะส่วนมากผู้ผลิตจะเป็นแบรนด์ชั้นนำมาทำให้
พูดง่ายๆก็มือปืนรับจ้างนั่นเอง ตย.เช่น เรามักไปซื้อของที่แม็คโครเป็นประจำ
ต้องการกระดาษอเนกประสงค์ จะเปรียบเทียบราคาก่อนหลายๆยี่ห้อ
ดูคุณภาพก่อน และ ผู้ผลิต ตามด้วยปริมาณว่าแต่ละชนิดมีบรรจุไว้กี่แผ่น

สรุปอันที่เราเลือกซื้อ คือ ยี่ห้อ aro เบอร์ลี่ยุคเกอร์เป็นผู้ผลิตให้ ในราคาแพ็คละ 79 บาทมี 3 ห่อ
ส่วนยี่ห้อ Maxmo ที่เป็นแบรนด์จากผู้ผลิตเดียวกันขาย 3 ห่อ 95 บาท
คุณภาพเนื้อกระดาษเหมือนกันเปี๊ยบ แต่ราคาแพงกว่าถึง 16 บาท
วิธีเลือกซื้อสินค้าอย่างอื่นก็ทำแบบเดียวกันค่ะ

และเรามักซื้อของใช้ช่วงจัดโปร 1 แถม 1 หรือเวลามีเซล 50%
จะซื้อตุนไว้ใช้นานๆ ไม่รอให้ของใช้หมดแล้วจึงค่อยซื้อ
ที่เราเคยซื้อก็เช่น โฟมล้างหน้า สบู่ แชมพู-ครีมนวด ยาสีฟัน
แปรงสีฟัน กาแฟ แยมทาขนมปัง ผ้าอนามัย ฯลฯ
เรียกว่าของใช้ในบ้านส่วนมากจะมาจากโปรพวกนี้ทั้งนั้น
และ เราไม่ยึดติดยี่ห้อค่ะ ใช้แล้วไม่แพ้ก็โอเคละ


10.ค่าแก๊สเติมรถ 3,000 บ.
11.ค่าน้ำมันเติมรถ 1,000 บ.
-ส่วนนี้คุณรู้ดีที่สุดค่ะ ว่าวางแผนการเดินทางตลอดหรือเปล่า

12.ค่าอาหาร 4,000 บ.
-คงเป็นส่วนของตัวคุณเองใช่ไหมคะ คิดต่อวันตกร้อยกว่าบาท เราก็ว่าคุณประหยัดอยู่แล้วค่ะ

13.ค่าเบ็ดเตล็ด 2,000 บ.
-เช่นอะไรบ้างคะ ลองแจกแจงให้ดูหน่อยค่ะ จะได้ช่วยคิดให้ ว่าจะลดตรงไหนได้บ้าง

14.ค่าที่จอดรถ 2,200 บ.
-ลองหาที่จอดรถที่ราคาประหยัด หรือ ไม่ต้องเสียค่าจอดดูได้ไหมคะ
แล้วอาจต่อรถเมล์ไปอีกนิดหน่อย หรือ ถ้าเดินทางไปไหนคนเดียวที่มีรถเมล์ผ่าน ลองนั่งรถเมล์ดูนะคะ
วิธีนี้เราทำตลอดเหมือนกัน ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงอย่างที่เคยอ่านจากกระทู้อื่นเลยค่ะ

ที่ทำงานเก่าสามีเราอยู่ใจกลางเมือง คิดค่าจอดรถเดือนละ 2 พัน
เขาจอดรถไว้บ้าน แล้วนั่งรถเมล์ไปทำงานเหมือนกันค่ะ ดีที่จากบ้านเรานั่งรถเมล์ไปแค่ต่อเดียว
ลงรถก็เดินไปอีกหน่อยประมาณ 10 นาที ทำให้ได้ออกกำลังกายไปในตัว
ทำที่นั่นอยู่หลายปี ไม่เคยเอารถไป แต่ต้องไม่แคร์สายตาใครด้วยนะคะ
เขามาเล่าให้ฟังว่ามีแต่คนมาบ่นว่าค่าที่จอดรถแพง แต่ก็ยังเอารถมากัน
มีเพื่อนร่วมงานคนนึงเท่านั้นที่ทำตาม เพื่อนคนนั้นกำลังมีลูกเล็กเลยต้องประหยัดขึ้น
จอดรถไว้ที่ทำงานแฟนแล้วนั่งรถไฟฟ้ามาทำงานแทน

15.เงินสมทบประกันสังคม + เงินสะสมกองทุนสำรอง + ภาษีหัก 8,250 บ. (ตัวนี้ลดไม่ได้เลย)
-มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีแล้วค่ะ



** จัดหน้าใหม่ เพราะของเดิมพิมพ์ตอบจากมือถือค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่