5 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการใส่บาตร

กระทู้สนทนา
5 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการใส่บาตร
#นายอุ๊ย!!

เคยตื่นแต่เช้ามาใส่บาตรกันบ้างไหม ถ้าเคย เคยบ่อยแค่ไหน

การใส่บาตรเป็นการทำบุญง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำกันได้ ขอแค่ตื่นให้ไหวก็พอ (แต่เนี่ยแหละที่ยาก)

ผมจะมาแนะนำวิธีใส่บาตรจากประสบการณ์ตรงให้นะครับ

การใส่บาตรมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้


1. นิมนต์พระ

หลังจากที่เราเตรียมสำรับกับข้าว อาหารคาวหวานตามจิตศรัทธาเรียบร้อยแล้ว เราก็ยืนรอพระที่จะเดินบิณฑบาตผ่านมา

การยืนรอพระในขั้นตอนนี้ ควรศึกษาให้ดีก่อนว่า มีพระเดินผ่านเส้นทางนี้รึเปล่า

ไม่ใช่ว่าไปยืนรอบนทางสายเปลี่ยวที่ไม่มีพระเดินผ่าน คงไม่ได้ใส่กันพอดี
รอซักพัก พอมีพระเดินมาก็นิมนต์ท่าน

การนิมนต์ ควรใช้คำว่า "นิมนต์ครับ/ค่ะท่าน" แค่นี้พระท่านก็ทราบแล้ว

เคยมีโยมนิมนต์ด้วยผมถ้อยคำอันระรื่นหูว่า

"ท่านเจ้าประคุณเจ้าคะ นิมนต์เจ้าค่ะ"

โยมใช้คำได้ไฮโซมาก นึกว่าอาจารย์แม่มาเอง

มีอยู่ทีนึง โยมใช้คำว่า "นิมนต์เจ้าค่ะ พระอาจารย์"

เอ่อ โยม อาตมาเพิ่งบวชอาทิตย์เดียว เรียกซะละอายเลย

การนิมนต์พระควรนิมนต์ด้วยความสำรวมและใช้เสียงดังพอประมาณ
โยมบางคนเรียกพระด้วยเสียงอันดัง

"นิ โมนน!!"

แง้ ทำไมต้องตะคอกด้วย - -"

การนิมนต์ควรสังเกตอายุของพระด้วย

ถ้าอายุน้อยกว่าเราหรือว่าเยอะกว่าไม่มากก็เรียกว่าหลวงพี่ ถ้ามีอายุหน่อยก็เรียกหลวงน้า ถ้าแก่พรรษามากก็เรียกหลวงตา หรือนอกจากนี้ก็อาจจะเรียกหลวงอา หลวงลุง หลวงปู่ ฯลฯ แล้วแต่จะลำดับญาติ (แต่ไม่มีหลวงป้านะ)

อย่างผมปีนี้อายุ 23 ปี หน้าตาค่อนข้างเด็ก แต่เคยมีโยมใช้คำว่า

"นิมนต์ค่ะ หลวงลุง"

ทำเอาเสีย Self จนอยากสึกออกไปทำ Baby face เลยทีเดียว

มีอยู่ครั้งนึง โยมคงนึกไม่ออกว่าจะใช้คำเรียกพระว่าอะไร เลยเรียกผมว่า
“นี่ ๆ พระ”

ไอ้เราหันไปแบบงง ๆ คิดว่ามีเรื่องอะไร ที่แท้โยมแค่อยากใส่บาตรเฉย ๆ

ใช้คำว่า “นิมนต์” ไม่ใช่ “นี่พระ” พยางค์แรกออกเสียงใกล้เคียงแล้ว แต่พยางค์หลังต้องปรับปรุง

โยมบางคนคงเขินอายพระ เวลาพระเดินผ่านก็ยื่นมือออกมาทำท่ากวัก ๆ ทำเหมือนเรียกรถเมล์ยังไงยังงั้น

อาตมาเปิดไฟเลี้ยวแทบไม่ทันเลย

แค่กล่าวคำนิมนต์ครับ / ค่ะ พระท่านก็เข้ามารับบาตรแล้วล่ะ

หลังจากนิมนต์พระ ก็เข้าสู่ขั้นตอนถัดไปคือ

2. จบ

เอาล่ะครับ สำหรับขั้นตอนการใส่บาตรทั้งหมดก็ขอจบเพียงเท่านี้

เฮ้ย!! ไม่ใช่จบอย่างนั้น!!

การจบในที่นี้ หมายถึง การเอามาทูนไว้เหนือศีรษะแล้วอธิษฐาน

การจบ ควรใช้เวลาอธิษฐานแต่พองาม ไม่นานจนเกินไป

เคยมีโยมนิมนต์ผมไปรับบาตร ไอ้เราก็เปิดฝาบาตรรอรับ เปิดก็แล้ว ปิดก็แล้ว โยมก็ยังคงจบอยู่ ไม่ใส่ซักที รออยู่นานมาก

ผมว่าการทำบุญตักบาตรไม่ต้องขออะไรมากหรอกครับ ทำด้วยใจที่อยากทำนุบำรุงศาสนาก็พอแล้ว

และที่สำคัญ ขอไปก็เท่านั้นแหละ พระท่านให้ไม่ได้หรอก

ถ้าให้ได้จริง ผมขอให้ผมเป็นนายกแล้วใส่บาตรตัวเองไปแล้วล่ะ


3. ถอดรองเท้า ยืนด้วยเท้าเปล่า

จริง ๆ แล้ว จุดประสงค์ของการถอดรองเท้าคือเป็นการให้ความเคารพพระสงฆ์โดยการไม่ยืนที่สูงกว่าหรือเสมอท่าน เพราะเวลาพระสงฆ์บิณฑบาต ท่านจะเดินด้วยเท้าเปล่า

แต่มีญาติโยมหลายคนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการถอดรองเท้าซึ่งมีอยู่หลายประเภทเหมือนกัน

บางคนถอดรองเท้าอย่างเรียบร้อย แต่กลับยืนบนรองเท้า กลายเป็นสูงกว่าเดิมซะอีก

หรือบางคนถอดรองเท้าและลงมายืนบนพื้นจริง แต่ว่าตัวเองยืนบนฟุตบาท พระยืนบนพื้นถนนซะงั้น (หนักกว่าเก่า)

เคยมีเรื่องเล่าว่า มีโยมคนนึงยืนใส่บาตรพระ พระเห็นว่าโยมใส่รองเท้าเลยแนะนำโยมเป็นวิทยาทานไปว่า

พระ : “โยม อาตมาว่าโยมควรถอดรองเท้าใส่บาตรนะ”

โยมมีสีหน้าตกใจ ตอบพระไปว่า

โยม : “เอ่อ จะดีเหรอคะ”

พระ : “ไม่เป็นไรหรอกโยม”

โยมก็จัดแจงถอดรองเท้า ยกขึ้นมาพร้อมกับถามพระว่า

โยม : “จะให้ใส่ข้างเดียวหรือว่าสองข้างเลยคะ”

เอ่อ ไอ้บ้า!! ท่านหมายถึงถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร ไม่ใช่ถอดรองเท้าเอามาใส่ในบาตร

เรื่องนี้ได้ยินมาจากหลวงน้าท่านนึงเล่าให้ฟังระหว่างฉันเพล ผมว่าคงไม่มีโยมซื่อขนาดนั้นหรอกมั้งเนอะ คงเป็นแค่เรื่องขำขันระหว่างฉันเพลมากกว่า

พอถอดรองเท้าเสร็จก็เข้าสู่ขั้นตอนที่สี่


4. ใส่บาตร

อันนี้ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ของการใส่บาตร

สำหรับคนที่ตั้งใจทำสำรับกับข้าวเอง ก็คงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร

แต่สำหรับชาวเมืองอย่างเรา ไม่ค่อยมีเวลาทำกับข้าวอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีไปซื้อกับข้าวตามร้านค้ามาใส่กัน

จริง ๆ แล้วเราควรเลือกร้านที่สะอาดและควรดูด้วยว่าของที่นำมาใส่บาตรนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เสียรึเปล่า

บางคนมีเจตนาอยากทำบุญดี แต่ดันไปซื้อของเสียมาใส่บาตร
พระฉันไป เข้าห้องน้ำไป

พวกร้านค้าบางร้านก็แย่จริง ๆ บางครั้งก็เอาของค้างคืนมาขายเอากำไร ไม่สนใจพระ เห็นแก่ตัว หากินกับพระ แย่ที่สุด

ก็ฝากด้วยนะครับ ลองเลือกดูดี เดี๋ยวทำบุญจะได้บาปเปล่า ๆ

นอกจากนี้ ของที่นำมาใส่ ถ้าเพิ่งปรุงสุกเสร็จ ควรดูด้วยว่ามันร้อนมากมั้ย

เคยมีโยมใส่ถุงแกงมา ร้อนมากกกกก ผมให้พรไป มือสั่นพลับ ๆ ไป บาตรเกือบหล่นแน่ะ

อย่าลืมว่าบาตรทำจากโลหะนะครับ นำความร้อนได้ดีจริง ๆ ผมรับรองได้

ปริมาณที่ใส่ก็ไม่ควรมากจนเกินไป

เคยมีโยมใส่บาตรผมด้วย ”กล้วย 3 หวี “

ถ้าเป็นกล้วยเล็บมือนางหรือกล้วยไข่ อาตมาไม่ว่า

แต่อนิจจา นี่โยมดันใส่ “กล้วยหอม" ซะนี่

คิดดู กล้วยหอม 3 หวีอยู่ในบาตร หนักมากกก หนักจนอยากจะกระซิบบอกโยมว่า

"โยม อาตมาไม่ใช่ช้าง"

จำได้ว่าวันนั้นต้องเดินกลับวัดเลยทีเดียว ไม่ไหวครับ หนักจริง ๆ

การใส่ของก็ควรวางในบาตรด้วยอาการสำรวม

โยมผู้หญิงบางคนกลัวโดนพระจัด ถุงกับข้าวยังไม่ทันถึงปากบาตร ก็ปล่อยลงมา ตุ๊บ!!

แหม นี่ใส่บาตรหรือทำการทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกเนี่ย (วางดี ๆ ก็ได้ 55+)

โยมบางคนอัธยาศัยดี ระหว่างใส่บาตรก็จะพูดคุยสนทนากับพระไปด้วย ซึ่งผมว่าก็ไม่ผิดอะไรถ้าพูดคุยด้วยความสำรวม

มีพระใหม่อยู่รูปนึงเคยเจอโยมใส่ปลามาในบาตรพร้อมกับพูดว่า

“หลวงพี่ฉันปลานะ จะได้ฉลาด”

เอ่อ เหมือนถูกโยมหลอกด่ายังไงก็ไม่รู้

มีอยู่ครั้งนึง เคยมีโยมถามว่า

โยม : “หลวงพี่รู้จักพระหลานชายอิชั้นมั้ย อยู่วัดด่านเหมือนกัน”

พระ : “รูปไหนล่ะ”

แล้วคำตอบของโยมก็ทำให้พระถึงกับต้องสะดุ้ง

โยม : “อืม..........องค์ที่หัวโล้น ๆ น่ะ”

โอย มันก็โล้นกันหมดแหละโยม 55+


5. รับพร

หลังจากใส่บาตรเสร็จ พระสงฆ์ส่วนมากก็จะให้พร

เราเป็นญาติโยม ก็ประนมมือรับพรกันตามระเบียบ โดยอาจยืนหรือนั่งยอง ๆ ก็ได้ ก้มหัวแต่พองาม

มีโยมผู้ชายคนนึงที่ใส่บาตรผมอยู่ประจำ เวลารับพร แกจะชอบก้มหน้ามาจนแทบจะชนพระ หน้าโยมห่างจากหน้าพระประมาณคืบเดียวเอง

เอ่อ ไม่ต้องใกล้ชิดศาสนาขนาดนั้นก็ได้ โยม

ผมต้องแอบให้พรเบา ๆ เพราะไม่ค่อยมั่นใจเรื่องกลิ่นปาก

ถ้าเป็นโยมผู้หญิงก็นั่งให้เรียบร้อย เหมาะสม ดูเสื้อผ้าว่าเรียบร้อยดีรึเปล่า
ระหว่างนี้ก็อุทิศส่วนกุศลให้คนที่รัก เจ้ากรรมนายเวรและอื่น ๆ ก็ว่ากันไป

การใส่บาตรที่ผมอยากแนะนำก็มีประมาณเท่านี้
ขั้นตอนการทำบุญง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้
ตื่นเช้ามาใส่บาตรกันเถอะครับ ^^

Credit: นายอุ๊ย!!

*** ติดตามเรื่องราวสนุก ๆ ได้ที่เพจ นายอุ๊ย!! นะครับ --> https://www.facebook.com/lovenaioui ***

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่