ปัญหา อุเทน-จุฬา อาจจบสวย หลังเสนอแนวคิดจัดการศึกษาร่วมกัน

สกอ.เชิญ “อุเทนถวาย-จุฬาฯ” ถกหาทางออกปัญหาที่ดิน เสนอให้ร่วมจัดการศึกษาร่วมกัน สร้างลุคใหม่ภายใต้ชื่อ “อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์” ด้าน “กำจร” เผยผลหารือเบื้องต้น 2 สถาบันเห็นด้วยแนวทางดังกล่าวแต่ขอไปหารือกันภายในก่อนให้คำตอบอีกครั้งจากนั้นเสนอ รมว.ศธ.และเข้า ครม.เพื่อเป็นหลักฐานไม่ให้ผิดสัญญาในอนาคต ฟากอุเทนถวายให้คำมั่นระหว่างนี้จะไม่สร้างความวุ่นวาย

    

       รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เชิญ นายสืบพงศ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะศิษย์เก่าอุเทนถวาย และ ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมหารือเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับกรณี จุฬาฯขอคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากอุเทนถวาย โดยให้อุเทนฯ ย้ายออกจากที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทั้งอุเทนฯ และ จุฬาฯ ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นตัวกลางหาข้อยุติเรื่องดังกล่าว
       
       ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา ไม่ควรมาจะมาพูดเรื่องให้อุเทนฯ ย้ายออกจากพื้นที่อีก แต่ควรจะหาวิธีการร่วมกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เสนอทางเลือกให้ทั้งจุฬาฯ และอุเทนฯ ใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวจัดการศึกษาร่วมกัน โดยอาจจะพัฒนาอุเทนถวายให้เป็นสถาบันใหม่ ที่มีชื่อว่า “อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเน้นการเรียนการสอนทางด้านช่างฝีมือ ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนและมีความต้องการสาขาหนึ่ง
       
       นพ.กำจร กล่าวต่อว่า จากการหารือดังกล่าวในส่วนของ อุเทนฯ โดย นายชาญชัย เห็นว่าแนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ แต่ได้ขอเวลาประมาณ 6 เดือนไปสอบถามความคิดเห็นจากทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันว่าเห็นด้วยหรือไม่ และระหว่างนี้ทางศิษย์เก่าฯ รับปากว่าระหว่างนี้จะไม่ก่อปัญหา ทั้งการเดินขบวนหรือสร้างข่าวต่างๆ ให้เกิดความวุ่นวาย ขณะที่ในส่วนของจุฬาฯ เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้ทั้งสองสถาบันสามารถอยู่ร่วมกันได้และเชื่อว่าประชาคมจุฬาฯ จะเห็นประโยชน์ทางวิชาการมากกว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง
       
       “ดังนั้นผมจึงขอให้ทั้งสองสถาบัน ไปร่างแผนการดำเนินงานการจัดการศึกษาร่วมกัน ว่าแต่ละฝ่าย ต้องการ จัดการศึกษาในรูปแบบใด เพื่อให้ตรงตามความต้องการของทั้งสองสถาบัน ซึ่งหากได้ข้อสรุปที่ลงตัวแล้ว สกอ.จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบ เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อยุติในปัญหาดังกล่าว และเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ให้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา ในอนาคต” รศ.นพ.กำจร กล่าว
       
ที่มา: ASTV ผู้จัดการ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000103927

----
ในห้องนี้คิดอย่างไรกันบ้าง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่