"ภูฎาน" ใกล้ถูกโลก "วัตถุนิยม" พิชิตแล้ว ทำใจกันหรือยังครับ

สุขเริ่มจางหาย! “สมาร์ทโฟน-ทีวี” เปลี่ยนชีวิตสมถะของ “ชาวภูฏาน”

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หลายคนเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าเป็น “สวรรค์แห่งสุดท้าย” เมืองแห่งความสุขที่ซ่อนตัวอย่างสงบเงียบอยู่ท่ามกลางขุนเขาหิมาลัย “ภูฏาน” เป็นสวรรค์ที่นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยอยากมีโอกาสเข้าไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต


โลกรู้จักภูฏานในฐานะประเทศเล็กๆ แถบเทือกเขาหิมาลัยที่มีพรมแดนติดกับจีนและอินเดีย รุ่มรวยด้วยธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง และวัฒนธรรมพุทธวัชรยานที่ยังคงหยั่งรากลึกอยู่ในจิตใจของผู้คน สายธงมนต์ที่ปลิวสะบัดเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตาตามหมู่บ้านและวัดวาอาราม รวมถึงภาพเขียน “ลึงค์” ขนาดใหญ่ตามกำแพงบ้าน ซึ่งชาวภูฏานเชื่อว่าจะช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลต่างๆ
       
       การปกป้องพระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญในทฤษฎี “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness) ของภูฏาน ซึ่งมุ่งสร้างสมดุลระหว่างความสุขทางจิตใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
       
       กระนั้นก็ดี เคนโช เชอริง พระลามะรูปหนึ่งซึ่งเคยบำเพ็ญสมาธิอยู่นานถึง 3 ปี 3 เดือน กับอีก 3 วัน ยอมรับว่า ศรัทธาที่เข้มแข็งของชาวพุทธภูฏานกำลังเปลี่ยนไป หลังจากที่ “โทรทัศน์” เริ่มแพร่หลายเข้ามาในปี 1999 โดยภูฏานถือเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่เปิดรับสื่อชนิดนี้
       
       “ภูฏานก้าวมาถึงยุคเปลี่ยนแปลงแล้ว วัดวาอารามไม่ได้มีอิทธิพลเหมือนสมัยก่อน แม้แต่พระอาวุโสก็ไม่ได้รับความเคารพนับถือจากคนในเมืองมากนัก” เชอริง ให้สัมภาษณ์ที่โรงเรียนสอนพระลามะ เดเชนโพดรัง ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาในกรุงทิมพู

การ์มา พุนโช อดีตพระลามะผู้แต่งหนังสือ The History of Bhutan ชี้ว่า การศึกษาแบบสมัยใหม่ที่เริ่มมีในภูฏานเมื่อทศวรรษ 1960 ทำให้โลกทัศน์ของชาวภูฏานเปลี่ยนแปลงไป วัดที่เคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาสำหรับเยาวชนก็เสื่อมความนิยมลงเป็นลำดับ
       
       “คนภูฏานกลัวเทพเจ้ากันน้อยลง เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติน้อยลง... พิธีกรรมที่เคยถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ก็ไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่” พุนโช กล่าว
       
       ซับดรุง งาวัง นัมเกล พระลามะชาวทิเบต เป็นผู้รวบรวมแผ่นดินภูฏานให้เป็นปึกแผ่นและก่อตั้งประเทศขึ้นในศตวรรษที่ 17 และสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “ซอง” (Dzong) ซึ่งเคยเป็นทั้งอารามและสำนักงานราชการ ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและการเมืองที่เคยผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นในอดีต
       
       อำนาจของสถาบันศาสนาลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากภูฏานเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย พระสงฆ์, ชี และนักบวชกึ่งฆราวาสไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการออกเสียง ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า ศาสนาและการเมืองจะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
       
       ชาวภูฏานบางคนมองว่า ความเสื่อมของวัดมีต้นเหตุมาจากพระสงฆ์เองที่ฝักใฝ่ “วัตถุนิยม” มากเกินไป พุทธศาสนาแบบภูฏานอนุญาตให้พระมีทรัพย์สินได้หลายอย่าง “บางรูปมีรถยนต์หรูเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ” แดมเบอร์ เค. นิโรลา จิตแพทย์ในกรุงทิมพู ให้สัมภาษณ์

อย่างไรก็ดี วัดภูฏานยังคงมีบทบาทด้านสังคมที่สำคัญยิ่ง คือเป็น “บ้าน” สำหรับเด็กๆหลายพันคนที่พ่อแม่เสียชีวิต หรือไม่สามารถที่จะส่งเสียเลี้ยงดูบุตรหลานได้
       
       เชอริง เล่าว่า โรงเรียนเดเชนโพดรังที่เขาเป็นอาจารย์ใหญ่ต้องดูแลนักเรียนราว 260 คน เด็กบางคนอายุแค่ 6 ขวบ พอตกค่ำก็ต้องให้เด็กๆนอนเรียงกันบนพื้นห้องเรียนเนื่องจากไม่มีสถานที่ แต่ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือค่าใช้จ่าย เพราะทางโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไม่ถึง 1 ดอลลาร์ต่อวันต่อนักเรียน 1 คน
       
       การ์มา ปันจอร์ เลขานุการคณะกรรมการกิจการศาสนาแห่งภูฏาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีพระลามะที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรกลางราว 7,000 รูป แต่ในความเป็นจริงน่าจะมีมากถึง 9,000-11,000 รูปทั่วประเทศ
       
       “ทางวัดไม่สามารถปฏิเสธเด็กๆได้ เพราะวัดเป็นสถาบันที่ต้องให้การศึกษาแก่กลุ่มพลเมืองที่ยากจนที่สุดในภูฏาน” เขากล่าว
       
       วัดในภูฏานเองก็เช่นเดียวกับองค์กรศาสนาในประเทศอื่นที่ยากจะหนีพ้น “ข่าวอื้อฉาว” เมื่อไม่นานนี้ นิตยสาร เดอะ ราเวน ของภูฏานได้เปิดโปงกรณีเด็กหนุ่ม 2 คนที่หนีออกจากวัดเพราะถูกพระลามะล่วงละเมิดทางเพศ คณะกรรมการเพื่อเด็กและสตรีแห่งชาติภูฏานยืนยันกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เจ้าหน้าที่ได้แก้ไขปัญหานี้เป็นการภายใน และมีพระลามะถูกจับสึกไป 1 รูป
       
       รายจากจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เมื่อปีที่แล้ว ก็เอ่ยถึงพฤติกรรมสำเร็จความใคร่โดยไม่มีการสอดใส่ระหว่างพระลามะหนุ่มๆในภูฏาน

นพ. นิโรลา ซึ่งเคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำเขต เล่าว่า พระลามะจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งบางกรณีก็เกิดจากการไป “มั่วสีกา” นอกวัด
       
       เด็กวัยรุ่นภูฏานบางคนยังป่วยเป็นโรคเครียด เพราะถูกสังคมบีบให้ต้องใช้ชีวิตที่เคร่งครัดเกินไป
       
       “เด็กๆเหล่านั้นอยากลงไปเที่ยวในเมือง อยากเล่นสมาร์ทโฟน พอไม่ได้รับอนุญาตก็เกิดความเครียด” น.พ.นิโรลา กล่าว
       
       เดือนพฤษภาคมปีนี้ คณะกรรมการกิจการศาสนาแห่งภูฏานได้เปิดสำนักงานคุ้มครองเยาวชน เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพระลามะวัยรุ่น และทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงสิทธิที่ตนเองมี แต่ ปันจอร์ ชี้ว่า “การจัดเวิร์คช็อปเพื่อสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากขาดการสนับสนุนเชิงโครงสร้าง การละเมิดสิทธิก็จะเกิดขึ้นอีก”
       
       พระลามะบางรูปยอมเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อดึงเงินสนับสนุนเข้าวัด เช่น วัดพาโจดิง ซึ่งต้องใช้เวลาเดินเท้าขึ้นเขาประมาณ 3 ชั่วโมงจากถนนที่ใกล้ที่สุด หันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวกิจกรรมของวัดและระดมเงินบริจาค โดยมีการอัพเดตข้อมูลอย่างสม่ำเสมอทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก
       
       พุนโช ชี้ว่า การจะฟื้นฟูองค์กรพระพุทธศาสนาในภูฏานนั้นจำเป็นต้องมีมากกว่าการโฆษณา สิ่งที่จะช่วยได้มากที่สุดคือ ปฏิรูปและยกระดับการศึกษาศาสนาพุทธให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น
       
       “นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับวัดในภูฏาน พวกเขาจำเป็นต้องปฏิรูปตัวเองโดยด่วน แต่คงไม่ยุติธรรมนักที่จะคาดหวังอะไร ในเมื่อวัดเองก็ยังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้”

ข่าวจาก :

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000102381

----------------------------------

ใครชอบอ้างว่าภูฏานเป็นสวรรค์ของสังคมสงบ เงียบ สมถะ

ต่อไปอาจจะต้องทำใจนะครับ เพราะของเล่นไฮเทคที่เราคุ้นเคยกัน เข้าไปแล้ว และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมแบบกลับหัว (มี Joke เรื่องนึง เขาบอกว่า "สหภาพโซเวียต" ล่มสลายเพราะ "แมคโดนัลด์" หมายถึงในสมัยกอร์บาชอฟ สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตมีความสัมพันธ์ืที่ดีขึ้น ขนาดที่แมคโดนัลด์ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวอเมริกัน เขาไปเปิดสาขาในกรุงมอสโคว์ของรัสเซีย และจากนั้นคนรัสเซียทั่วสารทิศจึงแห่กันมาที่ร้านดังกล่าว ซึ่งนั่นคือก้าวแรกแห่งจุดจบของจักรวรรดิหลังม่านเหล็กแห่งนี้)

ทำใจกันได้ไหมครับ ผมเฝ้าดูสังคมโลก ยังไงสินค้ายั่วกิเลส ตามลัทธิบริโภคนิยม ก็ชนะเสมอจริงๆ

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 5
เราเห็นแก่ตัวไปหรือเปล่าคะ อยากให้ทุกอย่างคงอยู่แบบที่เราอยากเห็น ... แค่อยากเห็น ให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ไม่อยากให้เขาเป็นวัตถุนิยม ไม่อยากให้เขาพัฒนา เพราะอยากเก็บไว้ดู ทั้งๆที่เมื่อก่อนสมัยสยาม ผู้ชายนุ่งผ้าเตี่ยวตัวเดียว ผู้หญิงนุ่งผ้าแถบกับผ้าสิ้น ใช้เกวียนในการเดินทาง แต่เดี๋ยวนี้เราขวนขวายใส่เสื้อสูทที่ไม่เหมาะกับบ้านเราเลย เรามีรถขับกันคนละคัน จนพื้นที่บนถนนไม่พอ เราสร้างอาระธรรมใหม่ๆขึ้นมาให้ตัวเองอยู่ ทั้งๆที่เราอยากเห็นอารยะธรรมเก่าๆอยู่ งงตัวเองกันไหมคะ
ความคิดเห็นที่ 18
ดีใจกับภูฏานด้วยครับ ที่ค่อยๆโผล่พ้นความคิดครอบงำของคนชั้นสูงในประเทศเขาได้บ้างแล้ว
การเอาความสุขมาให้ความสำคัญมากกว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แท้จริงแล้วก็แค่การหลอกคนในประเทศตัวเองไปวันๆ เป็นการยอมแพ้ที่จะไม่สู้กับโลก และเป็นการล้างสมองคนในประเทศตนเองให้กลายเป็นตัวตลกของโลก

เช่นเดียวกับประเทศไทย หลังนี้ก็ดีขึ้นมากแล้วหลังจากถูกปั่นหัวเรื่องการเกลียดกลัววัตถุนิยมมาอย่างไร้เหตุผล
เอาเข้าจริง ผมไม่เห็นว่าคนในประเทศไทยจะมีระดับจิตใจที่สูงไปกว่าคนในประเทศที่วัตถุนิยมสุดๆอย่างญี่ปุ่น เยอรมัน นอร์เวย์ หรือออสเตรเลียตรงไหนเลย
ความคิดเห็นที่ 11
ทำไมผมนึกถึงเรื่องคนกรุงที่อยากเห็นการอนุรักษ์ควายไทยทั้งๆที่ชีวิตนี้ไม่รู้ว่าเคยไปทำนาด้วยควายบ้างหรือเปล่า เคยเลี้ยงควายบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันเป็นความดัดจริตของคนที่อยากเห็นชีวิตเก่าๆ อยากไปเที่ยวบ้านเมืองเก่าๆ ชนบทล้าสมัย แต่ถ้าให้ลองไปใช้ชีวิตอยุ่ชั่วชีวิตเชื่อเหอะว่าร้องอยากกลับมาในกรุงทั้งนั้น
ความคิดเห็นที่ 3
เยอรมันโคตรทันสมัยแต่อนุรักษ์เมือง ธรรมชาติได้สุดยอด ญี่ปุ่นยิ่งสุดยอด เมือง ธรรมชาติ วัฒนธรรม
เรื่องพวกนี้ต้องสอน ไม่ใช่บังคับ
อย่าเหมือนบางประเทศ ที่มันพร้อมที่จะเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อเอามาขาย วัฒนธรรมดีๆ ก็เปลี่ยนซะ จะได้ขายได้
โบราณสถานก็เอามาให้ทัวร์จีนเรียงหิน
ความคิดเห็นที่ 8
มันมีเหตุผลอะไรที่เขาต้องหยุดอยู่กับที่ ขณะที่ทั่วโลกเขากำลังเดินไปข้างหน้าล่ะ

หรืออยากให้เขาอยู่อย่างสัมมถะใช้ชีวิตตามป่าเขาไม่ต้องมีเทคโนโลยีอย่างเดิมเหมือนภาพวาดในฝันที่สวยงามเพื่อรอให้คนในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วทั้งหลายได้ไปเสพสุขชั่วครั้งชั่วคราว

เราไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะโลกมันหมุนไป คนในประเทศเหล่านั้นเขาก็มีสิทธิ์จะหมุนตามโลก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่