ม็อกค่าปาท่องโก๋ : End Credits กับ “ความโง่” ของ “โรงหนัง”

สวัสดีครับ

ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1094


     ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของผู้ชมภาพยนตร์โดยทั่วไปที่จะลุกขึ้นและทยอยเดินออก เมื่อมีแถบตัวหนังสือแสดงรายชื่อผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานฝ่ายต่างๆ หรือที่เราเรียกกันว่า End Credits ขึ้นติดกันมาเป็นพรืดๆ ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาณบอกว่า หนังจบแล้ว ออกได้แล้ว อย่าชักช้า...

     แต่ในความเป็นจริง เชื่อว่าผู้กำกับภาพยนตร์ทุกคน ก็ย่อมอยากให้รายชื่อของผู้ที่มีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้ผ่านสายตาของผู้ชม เพื่อเป็นการขอบคุณ และให้เครดิต

     ดังนั้น ในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง จึงมีการนำเสนอ “เทคนิคใหม่ๆ” ของการใส่ End Credits คือการปรับเปลี่ยน/ดัดแปลง End Credits เพื่อจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป สิ่งเพิ่มเหล่านี้เรียกกันว่า Post-credits Scene หรือ Movie Stinger

โดยผมจะขอสรุป “เทคนิคใหม่” คร่าวๆ ดังนี้ครับ

1.แบบใส่เนื้อเรื่องที่ยังเหลืออยู่ : ลักษณะนี้มักจะเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้ผ่านจุดสำคัญหรือไคลแม็กซ์ของเรื่องไปแล้ว แต่ยังคงเหลือเนื้อเรื่องที่อยากเล่าเรื่องต่อไปอีกหน่อย ในภาพยนตร์หลายเรื่องก็จะขึ้นชื่อผู้กำกับมาคั่นก่อน แล้วจึงเล่าเรื่องต่อ โดยมักจะย่อขนาดภาพลงแล้วขึ้นเครดิตทางขวาหรือซ้ายไปพร้อมๆ กัน ในกรณีนี้พอหนังจบ ก็มักจะขึ้น End Credits มาตรฐาน (พื้นดำ เจาะ (ตัวอักษร) ขาว) ตัวอย่างของ End Credits แบบนี้คือหนังไทยเรื่องพี่มาก...พระโขนง, สุดเขตเสลดเป็ด และคุณนายโฮ

2.แบบใส่เบื้องหลังการถ่ายทำ : ปกติจะพบได้แน่นอนในภาพยนตร์ของเฉินหลง ที่มักมีฉากเบื้องหลังตลกๆ หรือหลุดๆ ใส่เข้ามา ส่วนใหญ่ใช้การย่อขนาดภาพแล้วขึ้นเครดิตขึ้นทางซ้ายหรือขวาเช่นกัน End Credits แบบนี้เหมือนการผ่อนคลายอารมณ์ของผู้ชมให้สบายใจก่อนจบ รวมทั้งใช้เบื้องหลังที่ถ่ายทำไว้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ตัวอย่างของ End Credits แบบนี้เช่น ภาพยนตร์จีนเกือบทุกเรื่องของเฉินหลง และหนังฝรั่งตระกูล Johnny English Reborn

3.แบบใส่ Music Video : กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน คือมีการย่อขนาดภาพแล้วขึ้นเครดิตขึ้นทางซ้ายหรือขวา และมักจะใช้เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ (OST หรือ Original Sound Tracks) ที่ต้องการโปรโมตเป็นพิเศษ แล้วให้นักแสดงมาเล่น Music Video ส่วนจะเหมือนหรือไม่กับ Music Video ที่โปรโมตเพลง ร่วมกับภาพยนตร์ก่อนฉายนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญนัก ตัวอย่างของ End Credits แบบนี้คือภาพยนตร์ไทยเรื่องรัก 7 ปี ดี 7 หน, ส.ค.ส.และวาเลนไทน์ สวีตตี้

4.แบบใส่เนื้อหาสำหรับภาพยนตร์ภาคต่อไป : กรณีมักพบในภาพยนตร์ที่เป็นภาพยนตร์ภาคต่อแบบแฟรนไชส์ ซึ่งจะนำเอาฉากที่เชื่อมโยงไปถึงภาคถัดไป ไปไว้ท้าย End Credits ซึ่งผู้ชมมักจะต้องชม End Credits จนจบก่อน ตัวอย่างของ End Credits แบบนี้เช่นหนังฝรั่งตระกูล Fast and Furious

5.แบบใส่เนื้อหาสำหรับภาพยนตร์เรื่องอื่นในค่าย : กรณีนี้จะพบมากในภาพยนตร์แนว Super Hero ของค่าย Marvel ซึ่งจะเชื่อมโยงเนื้อเรื่องที่มีเหล่า Super Hero ทั้งหมดไปที่ภาพยนตร์รวมทีม Super Hero ของทางค่าย Marvel เอง คือ The Avenger ถือเป็นการใช้ End Credits ได้มีประโยชน์และน่าสนใจอย่างยิ่ง

6.แบบเฉลยเนื้อเรื่อง/เฉลยตัวละคร : กรณีนี้ล่าสุดพบในหนังฝรั่งเรื่อง Cloud Atlas ที่ใช้ฉากหลัง End Credits เพื่อเฉลยว่าใครเป็นใคร เป็นอะไรมาบ้าง ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าไม่ได้รอดู

7.แบบเปรียบเทียบภาพจริงกับภาพในภาพยนตร์ : แบบนี้พบในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์เรื่องล่าสุดคือ Argo เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้นำมาจากเรื่องจริง จึงได้มีการนำภาพในภาพยนตร์มาเทียบกับภาพจริง คือนำดาราผู้แสดงในภาพยนตร์มาเทียบกับบุคคลจริงๆ ในเหตุการณ์ ตอนที่ได้ชม ผมชอบมากครับเพราะทำให้ทึ่งสุดๆ กับกระบวนการแคสติ้งของ Argo

8.End Credits แบบอื่นๆ : ตัวอย่างเช่น Wreck-it ralph ทำเป็นภาพจากเกมส์ 8 บิต หรือผสมผสานหลายๆ แบบ อย่างในหนังไทยเรื่อง ATM เออรักเออเร่อ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างเบื้องหลังกับ Music Video ฯลฯ

        สำหรับประเทศไทย ซึ่งผู้ชมภาพยนตร์โดยส่วนใหญ่ จะลุกออกจากที่นั่งทันทีเมื่อ End Credits ขึ้น การที่ฉากซ่อนไว้ท้าย End Credits มักจะไม่มีใครได้ดู ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาที่เป็นวิธีมาตรฐานไปแล้ว คือการมีประโยคเตือนขึ้นมาตรง Subtitle ช่วงท้าย ก่อนเข้า End Credits เช่น “ความสนุกยังไม่หมด รอชมหลัง End Credits” “ยังมีต่ออีกนิดนะ” ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่า ช่วยได้พอสมควร

     แต่เท่าที่เคยพยายามรอดูฉากหลัง End Credits จะพบกับบรรยากาศแปลกๆ (จะเกิดชัดเจนมากๆในกรณีที่มีข่าวลือว่ามีฉากต่อ แต่ไม่มี Subtitle ขึ้นเตือน) เช่น สายตาทิ่มแทงของผู้ชมท่านอื่นที่อยู่ในแถวเดียวกันที่รอให้เราลุกออก เพื่อจะได้ลุกออกตาม ประมาณว่า “จะรอดูอะไร?” หลายครั้งที่อยากดู ผมจะต้องลุกออกมายืนดูที่ทางเดินซ้าย-ขวา หรือที่หน้าจอ เพื่อยืนรอดูได้โดยไม่ขวางใคร

     ที่สำคัญที่สุดก็คือ พอผมลุกออกมายืนบนบันไดทางเท้าข้างเก้าอี้ดูหนัง ผมก็มักเหลือบไปเห็นสายตาทิ่มแทงของคนกลุ่มที่ 2 คือ พนักงานของโรงภาพยนตร์ที่บริเวณประตู โดยเฉพาะพนักงานที่รอเข้ามาทำความสะอาดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฉายรอบต่อไป ประมาณว่า “คนอื่นเค้าเดินออกไปกันหมดแล้ว รออะไรอยู่?” หลายครั้งก็จะถูกกระตุ้นด้วยประโยคว่า “ทางออกทางนี้ เชิญครับ/ค่ะ” เพื่อกดดันเพิ่มเติมให้รีบออกไป
ยังไม่นับการ “เปิดไฟสว่างจ้า” จากฝีมือของคอนโทรลด้านบน (ห้องฉาย) มันจะอะไรกันนักกันหนา!

     ดังนั้นการพยายามดู End Credits หรือฉากหลัง End Credits ให้จบสำหรับประเทศไทย ต้องอาศัยความอดทนและ “หน้าด้าน” พอสมควรครับ! ทั้งที่จริงแล้ว ผู้สร้างภาพยนตร์ทุกเรื่องย่อมมีความต้องการที่จะให้ผู้ชมได้ชมทุกส่วนของภาพยนตร์อย่างครบถ้วนและไม่มีใครมากดดัน
แม้ผมจะทราบว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว End Credits โดยเฉพาะแบบที่มีฉากเพิ่มอยู่ท้ายสุด เป็นสิ่งที่ทำให้การบริหารเวลาในการฉายของโรงภาพยนตร์เกิดปัญหาได้ เพราะการจัดฉายในรอบต่อไป ต้องมีเวลาในการทำความสะอาดและเตรียมความพร้อม...

     ซึ่งโดยปกติ ช่วงที่มี End Credits คือช่วงเวลาทองของพนักงานทำความสะอาดที่จะได้ไม่ต้องรีบร้อนเก็บกวาด แต่เมื่อมีผู้ชมนั่งรอชมจนจบ End Credits ก็ย่อมจะใช้ช่วงเวลาทองนี้มิได้ แน่นอนว่า โรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ย่อมมีวิธีแก้ไข...

วิธีที่ 1 เป็นวิธีที่ค่อนข้างน่าเกลียด คือการตัดทิ้งไปดื้อๆ แบบ “ปิดเครื่องฉาย” ซะเลย ซึ่งมักจะทำในกรณีที่ภาพยนตร์ได้ผ่านการฉายในสัปดาห์แรกไปแล้ว แต่วิธีนี้เสี่ยงต่อการโดนด่าจากผู้ชมที่ต้องการชม จึงมีวิธีที่ 2

วิธีที่ 2 คือการตัดฉากท้าย End Credits มาโปะไว้ต่อจากท้ายเรื่องเลย วิธีนี้ผู้ชมย่อมชื่นชอบแน่นอน ไม่มีใครบ่น เพราะไม่ต้องรอนาน แต่น่าจะมีข้อจำกัดที่ทำได้เฉพาะระบบฟิล์ม เพราะระบบฉายแบบดิจิตอล น่าจะทำไม่ได้ และน่าจะทำได้อีกไม่นานเพราะระบบเครื่องฉายกำลังถูกทยอยปรับเปลี่ยนจากระบบฟิล์มเป็นระบบดิจิตอลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าทางโรงภาพยนตร์คงจะหาวิธีอื่นๆ มาแก้ไขอีกในอนาคต

     จากที่กล่าวมา ล่าสุดมีสิ่งเลวร้ายที่โรงภาพยนตร์บางแห่งในประเทศไทย กระทำกับ End Credits เกิดขึ้น คือการตัด End Credits ของ “พี่มาก...พระโขนง” ทิ้ง!

     ผมคิดว่า จุดประสงค์หลักก็คือ เพื่อลดระยะเวลาฉายของภาพยนตร์ (ในทางกลับกันก็คือเป็นการเพิ่มจำนวนรอบที่ฉายให้มากขึ้น เพราะผู้ชมแทบจะเต็มตลอดทุกรอบทุกโรงนานเป็นเดือน) อย่างไรก็ดี วิธีนี้เป็นวิธีที่แฟน “พี่มาก” มิอาจยอมรับได้! เพราะ End Credit ของ “พี่มาก...พระโขนง” มีฉากและมุกตลกสำคัญหลายฉาก...

     ดังนั้น ผู้ชมภาพยนตร์ควรเรียกร้องสิทธิของท่านเสมอ หากพบว่ามีการตัด End Credits ทิ้งไป โดยแจ้งไปทางผู้กำกับผ่านค่ายภาพยนตร์ต้นสังกัด!

     ผมเชื่อว่า ค่ายภาพยนตร์และผู้กำกับทุกคน ย่อมไม่ต้องการส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนรอบที่ได้เพิ่ม โดยการหั่นงานสำคัญที่ตนเองต้องการนำเสนออย่างแน่นอน

     และะสุดท้าย End Credits แบบปกติที่ไม่มีฉากใดๆ ก็เคยสร้างให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างมากมายมาแล้ว อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่... เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นคือในหนังไทยเรื่อง “กวน มึน โฮ” End Credits ของ “กวน มึน โฮ” จะมีรายชื่อนักแสดงที่มีส่วนสำคัญต่อเนื้อเรื่องในตอนจบ ทว่าในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ได้ถูกตัดฉากนั้นทิ้งไป (จึงไม่มีฉากและนักแสดงท่านนั้น)

     แต่แล้วในที่สุด แผ่น DVD Special Feature ของ “กวน มึน โฮ” ได้นำฉากของนักแสดงท่านนั้นใน  Extended Scene กลับมาใส่...
ดังนั้น นักดูหนัง ถ้าไม่รีบร้อนจนเกินไป ลองรอชม End Credits ให้จบดูนะครับ เผื่อจะเห็นอะไรดีๆ และช่วยๆ กันกดดันโรงหนังผ่านไปยังค่ายหนัง ร่วมกันให้ความสำคัญกับ End Credits กันต่อๆ ไป

ผมคิดว่า ประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็กับนักเรียนหนังในปัจจุบันและอนาคตครับ.

ฝากบทความก่อนๆด้วยนะครับ

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : Checker ฟันเฟืองสำคัญของ “หนังไทย”
http://ppantip.com/topic/30776136

บทความถัดไปเอามาลงให้อ่านแล้วครับ

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : ว่าด้วย DVD Box Set
http://ppantip.com/topic/30862595
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่