ม็อคค่าปาท่องโก๋ : เปิดตัวคนดูแล “เฉลิมไทย” (ตอนแรก)

สวัสดีครับ

      ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1102


     นักท่องเน็ตไทยที่ใช้ชีวิตอยู่บนเครือข่ายสังคม online ใช้ Social Network เป็นดั่งลมหายใจ ย่อมไม่มีใครไม่รู้จัก webboard ชื่อดังของประเทศไทยอย่างเวบ ppantip.com

     ซึ่งเป็นที่รวบรวมความรู้ ข้อมูล ความคิดเห็นด้านต่างๆ ทั้งกระแส ทั้งดราม่า ทั้งเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย หรือบางครั้งก็เป็นหนทางการร้องเรียนการไม่ได้รับความเป็นธรรม

     คำขู่ที่เราจะได้ยินบ่อยๆเวลาไม่พอใจในบริการ สินค้า หรือสิ่งอื่นใด ก็จะขู่เจ้าของบริการ สินค้า เหล่านั้นว่า “เดี๋ยวจะเอาไปลง Pantip” สิ่งนี้คงบอกถึงความมี “อิทธิพล” ของ Pantip ต่อสังคมไทยได้ตัวอย่างหนึ่ง...

     และในบรรดา “ห้อง” หรือ Board ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในเวบ ppantip.com นั้น ห้องที่โด่งดังที่สุดคงไม่พ้นห้อง “เฉลิมไทย” ที่เป็นแหล่งรวบรวมความคิดเห็น ทั้งภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งหนังไทย ทั้งละครทีวี หรือจะเป็นเรื่องซุบซิบดารา ความเคลื่อนไหวในแวดวงบันเทิง แหล่งรวมแฟนคลับซุปตาร์ และแม้กระทั่งข่าวฉาว ฯลฯ

     ดังนั้น หัวข้อไหนที่ได้ขึ้น “กระทู้แนะนำ” ของห้อง “เฉลิมไทย” ก็มักจะเป็นตัววัดกระแสความนิยมในแต่ละเรื่องของวงการบันเทิงไทยได้เป็นอย่างดี...

     หรือหากขึ้นกระทู้แนะนำ แต่เป็นกระทู้แนะนำด้านลบ ก็รับรองได้ว่า จะเป็นเรื่องฉาวโฉ่ โด่งดังได้ในพริบตา
เหตุดังนั้น “เนชั่นสุดสัปดาห์” จึงนัดหมายกับ “อภิศิลป์ ตรุงกานนท์” หรือ “บอย” Product Development Manager หนึ่งในทีมผู้สร้างเวบ ppantip.com และเป็นผู้ดูแลห้อง “เฉลิมไทย” เพื่อเปิดเผยมุมองด้านต่างๆ ของห้อง “เฉลิมไทย” มาฝากแฟนๆ ครับ...

**** บอยใช้ Login : Macroart ครับ ****

Mr. Coffee : คุณทำหน้าที่อะไรเกี่ยวกับ ppantip.com
บอย : ผมทำงานในตำแหน่ง Product Development Manager ทำหน้าที่พัฒนาเวบ Pantip โดยตรงครับ และ Pantip 3G โฉมใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เป็นผลงานของผมครับ หลักๆ ก็คือดูแลด้าน Product Feature ว่าสมาชิกมีความต้องการอะไร หรือถ้าเจอ Bug (ปัญหา) ผมก็เป็นผู้แก้ไขปรับปรุงครับ จริงๆ ก็ทำงานมาตั้งแต่สมัยเวบ Pantip 2G (เวอร์ชั่นเก่า) ปี 2540

Mr. Coffee : อยากให้เล่าประวัติศาสตร์ของห้อง “เฉลิมไทย”
บอย : ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนหลังกลับไปถึงจุดประสงค์แรกของ ppantip.com เสียก่อน คือ ppantip.com นั้น ถูกสร้างมาเพื่อจะเป็นเวบท่า หรือ Portal Site หรือเป็น “เวบหน้าร้าน” ของร้านค้าในศูนย์การค้า พันธุ์ทิพย์พลาซ่าในยุคอดีต (ไม่ใช่ยุคเบียร์ช้าง) แต่ตอนนั้นไม่ค่อย work ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นเวบเกี่ยวกับ IT และมี Technical Chat เป็น webboard ที่พูดคุยเรื่อง IT โดยตรง จากนั้นสมาชิกเริ่มอยากจะคุยเรื่องอื่นเพราะ Internet เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ก็เลยเปิด “สภากาแฟ” เป็น webboard ที่พูดคุยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ IT มีทั้งหมด 8 ห้อง โดย “เฉลิมไทย” เป็น 1 ใน 8 ห้องนั้น แต่ก่อนคุยเรื่องบันเทิงทุกอย่าง แต่ปัจจุบันจะถูกแตกออกเป็น “เฉลิมกรุง” คุยเรื่องเพลง หรือพวกการ์ตูน ส่วนความบันเทิงที่ผ่านการรับชมทางสายตาก็อยู่ที่เฉลิมไทยเหมือนเดิม

Mr. Coffee : ปัจจุบันเฉลิมไทยมี traffic (ความหนาแน่นในการใช้งาน) มากน้อยแค่ไหน
บอย : เรายังคงเป็นอันดับ 1 และแทบจะเป็นมาตลอดครับ แต่ก็เริ่มมีผู้ท้าชิงคือห้อง “สินธร” (เกี่ยวกับตลาดหุ้น) วันไหนหุ้นขึ้นหรือตกเยอะ ก็อาจจะแซง “เฉลิมไทย” ไปได้บ้าง

Mr. Coffee : ถามถึงบทบาทต่อวงการหนังไทยของห้อง “เฉลิมไทย”
บอย : เท่าที่ทราบ ผมคิดว่า คนจะดูหนังหลายคนจะอ่านข้อมูลจาก Pantip ก่อน อาจเช็คกระแส ดูว่ามีการพูดถึงหนังมากแค่ไหน หรือในแง่ไหนบ้าง หนังเรื่องแรกที่เห็นผลกระทบชัดเจนมาที่สุดคือเรื่อง “โหมโรง” เพราะเป็นหนังที่ 2 สัปดาห์แรกไม่ทำเงิน แต่พอกระแสใน Pantip เกิดขึ้นมา มีคนพูดกันแบบปากต่อปาก ว่าหนังดีมาก ทำให้ “โหมโรง” สามารถฟื้นขึ้นมา และทำรายได้มากมายในสัปดาห์ที่ 3 และสัปดาห์ต่อๆ มาได้ กรณี “โหมโรง” จึงน่าจะเป็นจุดที่ทำให้ค่ายหนังเริ่มเห็นว่า คนใน Pantip มีพลังอยู่ ก็เลยมีการลงโฆษณาหนังไทยในห้อง “เฉลิมไทย” มากขึ้น แต่ค่าโฆษณาของห้อง “เฉลิมไทย” จะราคาไม่สูง เพราะเราไม่ใช่พวกกอบโกย อีกอย่างตอนนี้ตั๋วหนังก็ราคาแค่ 160 บาท ที่สำคัญก็คือรายได้ต่อหัวของกลุ่มเป้าหมายคือคนดูหนังก็ไม่มาก

Mr. Coffee : ความแตกต่างระหว่างห้องเฉลิมไทยในยุค 2G กับยุค 3G
บอย : ที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือเกิดการพูดคุยในกลุ่มย่อยมากขึ้น เริ่มมีการติด tag ดารา มี tag ณเดชน์ เจมส์ จิรายุ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่แบ่งเป็นห้องย่อย ภาพยนตร์ หนังไทย ดารานักแสดง มีการ tag ถึงชื่อหนังเพิ่มขึ้น เช่น “พี่มาก...พระโขนง” หรือ “คู่กรรม”

Mr. Coffee : ตรงนี้ต่างกับระบบคลับ (คลับคือกลุ่มย่อยที่ไม่แสดงในหน้ารวม) ในสมัย Pantip 2G อย่างไร
บอย : คลับสมัยก่อนเปิดยาก ต้องมีการรวบรวมรายชื่อมาขอให้ทาง Pantip เปิดให้ แต่พอเป็น tag เปิดได้เลย เราเพิ่มให้ได้รวดเร็ว เมื่อก่อนที่ต้องมีคลับเพราะถ้ามีการพูดคุยเรื่องดาราคนไหนมาก ก็จะไปรบกวนพื้นที่หลัก ก็จะเปิดคลับให้ แต่ปัจจุบันเราต้องการให้สมาชิกตาม tag ที่สนใจ เปลี่ยนจากตามห้องเฉลิมไทยเป็นตาม tag ที่แต่ละคนสนใจ ในอนาคตระยะยาวกำลังปรับปรุงให้มีการแนะนำสิ่งที่แต่ละคนน่าสนใจได้ด้วย ไม่ต้องใช้สายตาหากระทู้ที่สนใจเหมือนเมื่อก่อน

Mr. Coffee : กระแสครั้งใหญ่ของหนังไทยใน Pantip ที่เคยมีผ่านมา มีเรื่องอะไรบ้าง
บอย : เรื่องแรกก็ “โหมโรง” ต่อมาก็ “รักแห่งสยาม” ตอน “แฟนฉัน” ก็แรงเหมือนกัน ในยุคหลังๆ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” และ “สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก” หรือ “กวนมึนโฮ” ก็แรง แต่ “พี่มาก...พระโขนง” แรงที่สุด ถ้าให้สรุปก็เหมือนกับว่าแนวหนังมีความแตกต่างออกไปเพิ่มขึ้น

Mr. Coffee : คำว่า “กระแสใน Pantip” มีผลต่อหนังไทยมากน้อยแค่ไหน
บอย : ก็อยู่ที่ว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังเรื่องนั้นๆ ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ หรือชนชั้นกลางในหัวเมืองใหญ่ Pantip จะมีผลมาก แต่ถ้าเป็นกลุ่มเป้าหมายในชนบทหรือจังหวัดเล็กๆ หนังเช่นของคุณพจน์ อานนท์ ถูกด่าใน Pantip เละเลย แต่หนังก็ได้เงินเละเลยเช่นกัน ดังนั้น อยู่ที่ตลาดของค่ายหนัง อย่าง GTH นี่เห็นชัด เขาจับกลุ่มนี้เลย มี “พี่มาก...พระโขนง” นี่แหละที่เป็น Mass มากขึ้น จับตลาดทั่วประเทศได้

Mr. Coffee : กระแสใน Pantip มีผลชี้เป็นชี้ตายต่อหนังหรือไม่
บอย : คือถ้าเราดูจากกรณีที่เกิดขึ้นจริงเช่น “คู่กรรม” ผมก็ไม่ได้มองว่า Pantip เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายตัวเดียว มันก็มี Media อื่นๆ มี facebook มี twitter มี magazine นักวิจารณ์อื่นๆ ที่เขียนถึงหนังกันอยู่แล้ว ผมว่า มันอยู่ที่ว่า คนเหล่านั้นอยู่ในวงไหน ยกตัวอย่าง เดิมทีผมเห็น MV คู่กรรม ผมอยากดูมากเลย พอหนังฉายรอบสื่อมวลชน ใน twitter คนวิจารณ์กันเละ ในกระทู้ Pantip มีคนดูมาครึ่งเรื่องแล้วก็เดินออกมา มาเจอคอลัมน์วิจารณ์ facebook ทุกอย่างมันประดังเข้ามา มันผสมกันหมด ดังนั้น Pantip ไม่ใช่ที่ชี้เป็นชี้ตายเพียงอย่างเดียว เราเป็นส่วนหนึ่งของกระแสรวมๆ กันมากกว่า

Mr. Coffee : คิดว่าคนดูหนังในปัจจุบันเชื่อใครมากที่สุด ระหว่าง twitter facebook pantip หรือสื่อหลัก
บอย : สำหรับ facebook คนที่บอกว่าหนังดีหรือไม่ดีคือเพื่อนเรา แต่ Pantip คือคนแปลกหน้า อยู่ที่ว่าเราจะเชื่อเพื่อนเราซึ่งก็ไม่รู้ว่าดูหนังเป็นแค่ไหน รสนิยมเป็นอย่างไร หรือคนแปลกหน้าที่อย่างน้อยก็ดูหนังกันมาระดับหนึ่ง ไม่นับพวกเซียน คือจริงๆ มันมีงานวิจัยของต่างประเทศ ซึ่งผมก็ไม่มั่นใจนะครับ ว่าของคนไทยจะเหมือนกันหรือเปล่า งานวิจัยชี้ว่า คนเราเชื่อความคิดเห็นบน internet จากคนแปลกหน้า พอๆ กับที่เชื่อเพื่อน คือเปอร์เซ็นต์แทบจะเท่ากัน ต่างกันนิดเดียว ผมก็สงสัยว่า ทำไมเราเชื่อคนแปลกหน้ามากขนาดนั้น หรือเนื่องจากสำนวนของคนที่เขียนความคิดเห็นใน internet ดูน่าเชื่อถือมากกว่าหรือเปล่า ผมกำลังหาคำตอบอยู่

**** (อ่านตอนจบได้ที่นี่ครับ / ม็อคค่าปาท่องโก๋ : เปิดตัวคนดูแล “เฉลิมไทย” (ตอนจบ) http://ppantip.com/topic/31004533 ) ****

ฝากบทความก่อนๆด้วยนะครับ

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : Checker ฟันเฟืองสำคัญของ “หนังไทย”
http://ppantip.com/topic/30776136

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : End Credits กับ “ความโง่” ของ “โรงหนัง”
http://ppantip.com/topic/30848998

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : ว่าด้วย DVD Box Set
http://ppantip.com/topic/30862595

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : ปมร้อนตั๋วหนัง : กรณีศึกษาโรงหนังมาเลเซีย
http://ppantip.com/topic/30923730

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : ยอดเยี่ยมที่สุด
http://ppantip.com/topic/30934588

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : จิบกาแฟกับ “โต้ง 1,000 ล้าน” (ตอนที่ 1)
http://ppantip.com/topic/30965553

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : จิบกาแฟกับ “โต้ง 1,000 ล้าน” (ตอนที่ 2)
http://ppantip.com/topic/30968008

ม็อกค่าปาท่องโก๋ : “อยากเป็นนักเขียน” ความในใจ “โต้ง 1,000 ล้าน”
http://ppantip.com/topic/30972745
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่