เกาะปาปัวนิวกินีเป็นเกาะที่ใหญ่ แต่ทำไมโดนแยกครึ่งนึงไปให้อินโดนีเซียด้วย ทำไมไม่เป็นประเทศปาปัวนิวกินีไปเลยทั้งเกาะ

กระทู้คำถาม
คือประเทศอินโดนีเซีย เกาะแก่งอะไรก็เยอะแล้ว ทำไมยังลากยาวไปเอาเกาะปาปัวนิวกินีอีกครึ่งมาเป็นประเทศด้วย (หรือจริงๆแล้ว เกาะปาปัวนิวกีนีแต่เดิมเป็นของประเทศอินโดนีเซียอยู่แล้ว แต่เพิ่งมาแยกเป็นประเทศปาปัวนิวกินีครึ่งเกาะในภายหลัง หลังยุคล่าอาณานิคม ตรงนี้ผมลองสมมติดูนะครับ)

เรื่องราวเป็นมายังไง ขอสอบถามผู้รู้หน่อยครับ ขอบคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
เกาะที่เป็นที่ตั้งของประเทศปาปัวนิวกินี(ทางตะวันออก)และจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย(ทางตะวันตก) นั้น มีชื่อเรียกว่าเกาะนิวกินี(New Guinea) เป็ยเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก รองจากกรีนแลนด์ เกาะนี้ถูกค้นพบโดยนักเดินเรือชาวสเปน เมื่อพบว่าประชากรบนเกาะซึ่งเป็นชาวเมลานีเซียน(Melanesian)นั้นมีลักษณะผิวคล้ำ ผมหยิกเหมือนกับชาวกินีในแอฟริกา จึงเรียกเกาะนี้ว่า Nueva Guinea หรือ New Guinea
  ต่อมาเกาะนี้ถูกครอบครองโดยชาวตะวันตก โดยเนเธอร์แลนด์ได้ยึดครองด้านตะวันตกของเกาะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือถูกเยอรมนียึดครอง ตะวันออกเฉียงใต้เป็นของอังกฤษ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีได้เสียสิทธิในการครองครองนิวกินีไป
  สงครามโลกครั้งที่ 2 เกาะนี้ถูกญี่ปุ่นยึดครอง
  หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง อาณานิคมต่างๆก็ได้เอกราช รวมทั้งอินโดนีเซียด้วย เกาะนิวกินีอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติและออสเตรเลียจนมีการลงข้อตกลง New York Agreement ปี 1962 ให้อินโดนีเซียครอบครองซีกตะวันตกของเกาะในปี 1963 และได้เปลี่ยนชื่อเขตนี้เป็น Irian Jaya หรือ "แดนร้อนแห่งชัยชนะ"
  ส่วนซีกตะวันออกอยู่ภายใต้การดูแลของ UN จนปี 1975 จึงได้เอกราชเป็นประเทศปาปัวนิวกินี
  กลับมาที่ฟากตะวันตกของนิวกินี คืออิเรียนจายา หากลองมาวิเคราะห์ลักษณะประชากร และขนบธรรมเนียมต่างๆแล้ว จะพบว่า ประชากรส่วนใหญ่ที่อินโดนีเซียเรียกว่าปาปัว(แปลจากภาษามาเลย์ว่า "หัวหยิกหยอย") นั้น เป็นชาวเมลานีเซียผิวคล้ำ มีหลายเผ่าทั้งอัสมัต ดานี กอรอวาอิ ฯลฯ มีการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ มีขนบการเลี้ยงหมู(หมูเป็นสัตว์มีค่ามาก) และมีการกินเนื้อมนุษย์ (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) แทบจะไม่มีอะไรคล้ายกับชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ที่เป็นคนเอเชียผิวเหลือง นับถือศาสนาอิสลามเลย แต่อินโดนีเซียอ้างว่า ดินแดนนิวกินีเป็นดินแดนทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในอดีตเคยมีการติดต่อกับอาณาจักรโบราณในแถบอินโดนีเซีย และเคยเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์มาเหมือนกัน
  จากการที่มีการลงข้อตกลงนิยอร์คในปี 1962 นั้น แม้ทางสหรัฐฯจะมองว่าอิเรียนจายาต่างจากอินโดนีเซีย แต่เนื่องจากต้องการให้อินโดนีเซียเป็นพันธมิตรเพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงให้เขตนี้อยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซีย อินโดนีเซียจึงได้สิทธิในการครองครองด้านตะวันตกของเกาะ และได้จัดให้มีการลงประชามติอีกครั้งในปี 1969 Act of Free Choice พบว่าชาวปาปัวต้องการอยู่กับอินโดนีเซีย (ในภายหลังมีผู้มาเปิดเผยว่า ทางการอินโดนีเซียใช้วิธีการบังคับลงคะแนนกับชาวปาปัว)
  สาเหตุที่อินโดนีเซียต้องการอิเรียนจายา เนื่องจากเขตนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้และแร่ธาตุ ที่สามารถทำรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล และสามารถเลี้ยงประชากรของตนที่มีอยู่กว่า 200 ล้านคนได้ นอกจากนี้ อินโดนีเซียมีแผนการที่จะขยายประชากรไปยังเกาะต่างๆ(Transmigration,Transmigrasi) เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่แออัดอยู่ในเกาะชวา ด้วยสาเหตุเหล่านี้จึงเป็นที่มาให้อินโดนีเซียครอบครองอิเรียนจายา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อกลับเป็นจังหวัดปาปัว(Provinsi Papua)ตามเดิมในปี 2000 และให้สถานะปกครองตนเองในปี 2001 ต่อมาทางตะวันตกของจังหวัดปาปัวได้มีการแบ่งเป็นจังหวัดปาปัวตะวันตก(Provinsi Papua Barat)ในปี 2003
  ชาวปาปัวในจังหวัดปาปัวเองได้ตั้งขบวนการปาปัวเสรี(Organisasi Papua Merdeka : OPM) ในปี 1965 เพื่อปลดแอกตัวเองจากอินโดนีเซีย ทำให้ทางการอินโดนีเซียส่งทหารเข้าปราบปราม มีผู้เสียชีวิตนับถึงปัจจุบันหลายหมื่นคน อีกจำนวนมากได้อพยพข้ามพรมแดนไปเป็นผู้ลี้ภัยในปาปัวนิวกินี ปัจจุบันนี้ปัญหานี้ยังเป็นปัญหาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
(ลองไปหาสารคดี Secret War in Papua , Papua Merdeka หรือ Forgotten Bird of Paradise ดูประกอบ)
(ใครมีอะไรเพิ่มก็เติมมาได้เลยนะครับ)
เกร็ด:เกาะนิวกินีเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นเขตที่มีวัฒนธรรมและภาษาหลากหลายที่สุดในโลกเช่นกัน เนื่องจากมีชนเผ่ากว่าร้อยชนเผ่าที่มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง นักภาษาศาสตร์บันทึกภาษาได้กว่าสองร้อยภาษา โดยครึ่งหนึ่งของภาษาเหล่านั้นมีผู้พูดไม่ถึงหนึ่งพันคน แม้กระทั่งบางหมู่บ้านที่ห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตร ก็มีภาษาที่ต่างกันแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่