โกลด้า เมียร์ สตรีเหล็กของชาวยิว



ในโลกของการเมือง มีสตรีอยู่ไม่มากนักที่สามารถก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดในฐานะผู้นำของประเทศ เราขอไม่นับเหตุการณ์ในสมัยโบราณที่สตรีก้าวขึ้นมาปกครองแผ่นดิน อย่างในยุคของพระนางบูเช็คเทียน ที่ปกครองแผ่นดินจีนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนพระนางถูกยกย่องให้เป็นจักรพรรดินีพระองค์แรกของโลก หรืออย่างพระนางคลีโอพัตรา ที่เคยปกครองแผ่นดินไอยคุปต์ หากถ้าจะนับเอาโลกยุคใหม่แล้ว คงต้องยกย่องให้ นางศิริมาโว บันดาราไนยเก เป็นผู้นำสตรีคนแรก เธอขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาในปี ๑๙๖๐ หลังจากนั้นเป็นต้นมาทั่วโลกก็เริ่มเปิดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่มีสตรีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทัดเทียมกับผู้ชาย

แต่ยังมีผู้นำสตรีอีกท่านหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในยุค ที่โลกเต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ เธอคือ นางโกลด้า เมียร์ (Golda Meir) นายกรัฐมนตรีหญิงของอิสราเอล



ภาพจากภาพยนตร์ MUNICH



หากท่านใดมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง MUNICH ของสตีเว่น สปิลเบิร์ก เมื่อปี ๒๐๐๕ จะเห็นฉากที่ประชุมของอิสราเอล มีหญิงชราคนหนึ่งที่ดูเหมือนแค่คนแก่ไร้พิษสง แต่คนทั้งที่ประชุมต่างยำเกรง และเธอเป็นผู้ออกคำสั่งให้ตอบโต้พวกอาหรับอย่างลับๆ นั่นแหละเธอล่ะ นางโกลดา เมียร์ ผู้นำหญิงเหล็กของชาวยิว

เส้นทางชีวิตของเธอนับว่าต้องฝ่าฟันความยากลำบากมาไม่ใช่น้อย กว่าจะก้าวมาอยู่ยังจุดสูงสุดของชีวิต เธอเกิดเมื่อปี ๑๘๙๘ ในครอบครัวชาวยิวผู้ยากจน ในวัยเด็กเธออาศัยอยู่กับครอบครัวในยูเครน ประเทศรัสเซีย (ในขณะนั้น) ตามประสาเด็กผู้หญิงชาวยิวที่มักจะไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมเรื่องของการศึกษามากนัก เธอเรียนหนังสือเบื้องต้นจากบิดาของเธอเอง แต่เธอก็เป็นเด็กที่ใฝ่รู้และมีความฝันจะโตขึ้นมาเป็นครูให้จงได้

ครอบครัวของเธออพยพมายังแผ่นดินอเมริกาในปี ๑๙๐๖ ชีวิตที่นี่ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่ยูเครนนัก ครอบครัวของเธอยังต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบอยู่เช่นเดิม เธอมีโอกาสได้เรียนถึงแค่ชั้นประถม ทางบ้านจึงให้ เธอออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เธอเสียใจมากที่ไม่ได้เรียนต่อจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อออกหางานหาเงินเรียนหนังสือด้วยตนเอง ในตอนนั้นเธอมีอายุเพียง ๑๔ ปี

เมื่ออายุ ๑๖ ปี เธอเดินทางกลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง ในตอนนั้นครอบครัวของเธอเริ่มลงหลักปักฐานในอเมริกาและเริ่มมีฐานะที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เธอก็ยังตั้งปณิธานที่จะเรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และความฝันในการเป็นครูของเธอก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเธอเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยครูในมิลวอคกี้ ที่นั่นเธอเป็นดาวเด่นด้วยความเป็นคนที่ฉลาด หัวไว และเธอเป็นคนที่มีความสามารถในการพูดในที่ชุมชนมากทีเดียว ซึ่งทำให้เธอถูกจับตามองจากกลุ่มการเมืองชาวยิวที่นั่น

ในช่วงที่เธอศึกษาอยู่ในวิทยาลัยครูนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาในปีถัดมา เธอก็หันเหความสนใจและล้มความฝันในการเป็นครูเข้าสู่โลกของการเมือง โดยเธอเข้าร่วมงานกับพรรคการเมืองชาวยิวอย่างเต็มตัว เนื่องจากเธอคิดว่างานการเมืองนั้นน่าจะเปิดโอกาสให้ได้ช่วยเหลือชาวยิวทั่วโลกที่ถูกข่มเหงได้มากกว่า



คณะรัฐบาลอิสราเอล นายกรัฐมนตรีเบนกูเรียน (หัวโต๊ะ) และนางโกลดา (ซ้ายล่าง)



ในขณะนั้นปัญหาทางเชื้อชาติลุกลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาติพันธุ์ยิว ปัญหาเรื่องของดินแดนในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้นทุกที ประกอบกับผลพวงจากสงครามโลกยิ่งทำให้ตะวันออกกลางร้อนระอุยิ่งขึ้น

ชาวยิวทั่วโลกสร้างเครือข่ายถึงกัน ความตั้งใจอย่างหนึ่งของพวกเขาคือความพยายามในการทวงคืนแผ่นดินปาเลสไตน์ กลับมาเป็นของพวกเขา เพราะเชื่อว่าเดิมทีนั้นแผ่นดินนี้เป็นของชาวยิว ชาวยิวชั้นปัญญาชนกระจายแนวคิดนี้ไปทั่วโลกและส่งเสริมให้ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่เดินทางกลับแผ่นดินแม่ ชาวยิวนั้นนับว่าเป็นชนชาติที่แข็งแกร่ง ฉลาด และทำการค้าเก่ง จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะจัดเป็นกลุ่มชนที่มีฐานะพอสมควร เมื่อเดินทางกลับดินแดนปาเลสไตน์พวกเขาก็กว้านซื้อที่ดินอย่างไม่เกี่ยงราคา แม้จะเป็นผืนดินที่แห้งแล้งหาประโยชน์อันใด้ไม่ได้

ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่เดิมเห็นเป็นช่องทางทำเงิน จึงยอมขายที่ดินแห้งแล้งเหล่านั้นโดยไม่คาดคิดเลยว่าในเวลาต่อมาจะกลายเป็นผลร้ายกับพวกเขาเอง

นางโกลด้าเดินทางกลับสู่ปาเลสไตน์ในปี ๑๙๒๑ แต่ชีวิตเธอก็ไม่สบายนัก เธอทำงานรับจ้างทุกอย่างเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จนในปี ๑๙๒๘ เธอก็ได้รับโอกาสกลับเข้าทำงานการเมืองอีกครั้ง โดยเข้าทำงานเป็นเลขานุการในสภาแรงงานสตรีและต่อมาไม่นานเธอก็ก้าวขึ้นเป็นผู้นำของสภาในที่สุด

ตอนนั้นเองที่ชาวยิวทั่วโลกต่างเดินทางกลับแผ่นดินแม่มากขึ้นทุกทีๆ โดยมีแผนที่จะก่อตั้งรัฐอิสราเอลขึ้น แผนการครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองลัทธิไซออนนิสต์ (Zionist) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของชาวยิวระดับปัญญาชนและบรรดาเศรษฐียิวทั้งหลาย ช่วงนั้นเองกลุ่มไซออนนิสต์ได้สร้างผลงานยอดเยี่ยม จากผลงานของ ดร. คาอิม ไวช์มันน์ ที่คิดค้นสูตรระเบิดให้อังกฤษใช้ในการทำสงคราม

ปี ๑๙๓๙ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวยิวทั่วโลก เนื่องจากผลของการล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ นางโกลด้าที่ในตอนนั้นเริ่มมีบทบาทและตำแหน่งที่สูงขึ้น เธอร่วมมือกับ เดวิด เบนกูเรียน ผู้นำกลุ่มไซออนนิสต์ ในการเดินทางไปยังอเมริกาเพื่อหาทุนร่วมในการก่อตั้งรับอิสราเอล ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม และผลงานยอดเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งของเธอคือการเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดนเพื่อเจรจาขอให้พระองค์หยุดยั้งการรุกคืบของอาหรับที่จะขัดขวางแผนการก่อตั้งรัฐอิสราเอล

ที่สุดแล้วในปี ๑๙๔๘ ประเทศอิสราเอลก็ก่อตั้งขึ้นสำเร็จ มี ดร. คาอิม ไวช์มันน์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เดวิด เบนกูเรียน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนนางโกลด้า ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงแรงงาน อาจกล่าวได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาประเทศอิสราเอลขึ้นและตำแหน่งที่ได้รับก็นับว่าสมควรแล้ว




นางโกลด้ากับ เดวิด เบนกูเรียนผู้นำกลุ่มไซออนนิสต์


ปี ๑๙๕๖ เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือว่าสำคัญมากต่อการดำรงอยู่ของอิสราเอล เนื่องจากในตอนนั้นอิสราเอลต้องเผชิญกับภัยคุกคามรอบด้าน และนับว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องทีเดียวเมื่ออิสราเอลเลือกที่จะจับมือกับพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา

ปี ๑๙๖๙ เธอได้รับเกียรติให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ และเมื่อจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ เธอก็ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ของอิสราเอล และเป็นผู้นำหญิงคนที่ ๓ ของโลก

ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งผู้นำนั้น อิสราเอลหรือชาวยิวถูกคุกคามจากภัยร้ายรอบด้าน ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มชาติอาหรับ และกลุ่ม PLO (ขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์) บททดสอบสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในฐานะ ผู้นำประเทศของเธอก็คือเหตุการณ์จับตัวประกันในโอลิมปิก ๑๙๗๒ ที่มิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก ผลก็คือนักกีฬาชาวอิสราเอลและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปถึง ๑๑ คน




ลีลาเผ็ดร้อนบนเวทีสหประชาชาติ



นางโกลด้า สั่งให้ทำการตอบโต้อย่างเต็มรูปแบบ แต่การตอบโต้ของเธอไม่ใช่การประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่เธอใช้กองกำลังลับ มอสสาด บุกเข้าทำการจู่โจมแบบกองโจร ผลที่ตามมาคือการเกิดสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ที่รู้จักกันในชื่อ Yom Kippur War โดย อียิปต์และซีเรียร่วมมือกันบุกรุกเข้าตีอิสราเอลเหมือนในสงคราม ๖ วัน เมื่อปี ๑๙๖๗ และผลก็จบลงเหมือนกันเป๊ะ คืออิสราเอลเป็นฝ่ายชนะและยังได้ดินแดนเพิ่มอีกด้วย




นางโกลดา เมียร์ สนิทชิดเชื้อกับผู้นำอเมริกาถึงสามท่าน
จากซ้าย เจเอฟเค, นิกสัน และคาร์เตอร์



นางโกลดา เมียร์ ดำรงตำแหน่งผู้นำอิสราเอลอยู่ ๕ ปี ตลอดระยะเวลานั้นเธอต้องทำสงครามแทบจะตลอดเวลา แต่เธอก็ฉลาดพอที่จะหาแนวร่วมชั้นดีอย่างอเมริกาหรือประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง หลายในยุโรป เธอจึงมักจะออกพบปะกับบรรดาผู้นำของประเทศเหล่านั้นอยู่เสมอ เป็นการประกาศว่าอิสราเอลของเธอนั้นไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีพันธมิตรสำคัญๆ อยู่ทั่วโลก

เธอก้าวลงจากตำแหน่งในปี ๑๙๗๔ และเสียชีวิตในอีก ๔ ปีถัดมาด้วยโรคมะเร็ง เหลือไว้แต่ผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวอิสราเอลทั้งมวล


http://janghuman.wordpress.com/2009/04/10/โกลด้า-เมียร์-สตรีเหล็กข/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่