รุมตะเพิด กก.สิทธิ์ สรุปม็อบปี 53

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8290 ข่าวสดรายวัน

รุมตะเพิด กก.สิทธิ์ สรุปม็อบปี 53

นักวิชาการชี้เอียงข้าง"มาร์ค" อุทธรณ์ยกคดียิงวัดพระแก้ว สวนทาง"เทือก"อภิปรายสภา




ยกฟ้อง - ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม แนวร่วมนปช. ผู้ต้องหาคดียิงอาร์พีจีใส่กระ ทรวงกลาโหมเมื่อปี 2553 ขณะขึ้นศาลอาญารัชดาฯ โดยศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี เหตุพยานให้การขัดแย้งกัน

นักวิชาการรุมสับรายงาน "กก.สิทธิ์" สรุปม็อบเสื้อแดงปี 53 บ.ก.ลายจุดฉะเหมือนราย งาน "ศอฉ." มีวิสัยทัศน์เดียวกับ "เทพเทือก"ไม่พูดถึง "สไนเปอร์" ถามกลับมีม็อบไหนบ้างที่ไม่มีผู้หญิงและเด็ก มีอคติ บดขยี้เสื้อแดง แนะลาออกดีกว่า จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน "อ.ศิโรตม์" ชี้เอากรณีที่ไม่เกี่ยวข้องมาเปรียบเทียบ การที่ม็อบบุกร.พ. หรือกีดขวางจราจร ไม่ได้ผิดมากถึงขั้นใช้อาวุธสลายการชุมนุม ส่วน "อ.พิชญ์" ระบุเป็นรายงานที่เห็นใจเจ้าหน้าที่มากกว่าผู้ชุมนุม ขณะที่ "อ.พนัส" ร่วมชี้รายงานไม่ระบุถึงการดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งฆ่าและคนฆ่า เหมือนเห็นด้วยกับการเข่นฆ่าประชาชน "ธิดา" โวยแย่กว่าฉบับ "คอป." เสียอีก ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีเสื้อแดงยิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม



ไต่สวนศพแดง-ถูกปืนเร็วสูง

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ศาลอาญา ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการเสียชีวิตของ นายถวิล คำมูล อายุ 38 ปี ผู้ชุมนุมแนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ ในเหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553

โดยพยานปากที่ 1 เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2553 ได้รับแจ้งจากร.พ.รามาธิบดี ว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นชายไม่ทราบชื่อ เสียชีวิตบริเวณตึกสก. ร.พ.จุฬาลง กรณ์ เป็นจุดที่กลุ่มนปช.ชุมนุมอยู่ เบื้องต้นเชื่อว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ พบว่าผู้ตายคือนายถวิล คำมูล มีแผลถูกยิงที่ศีรษะ 1 นัด แพทย์ระบุว่าเสียชีวิตจากถูกกระสุนปืนลูก โดดความเร็วสูง



พยานแฉนาทีเจ้าหน้าที่ยิง

ต่อมาพยานปากที่ 2 เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อปี 2553 ประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่ จ.อ่างทอง เข้าร่วมชุมนุมกับนปช. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พยานตื่นเวลา 04.00-05.00 น. เดินไปที่บริเวณแยกศาลาแดง มีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณนั้นไม่เกิน 10 คน เวลา 06.00 น. เห็นรถสายพานหุ้มเกราะหลายคันอยู่บนสะพานข้ามแยกศาลาแดง จึงวิ่งมาหลบหลังบังเกอร์ยางรถยนต์ หน้าร.พ.จุฬาฯ ต่อมามีเสียงปืนดังต่อเนื่องเป็นชุด มาจากทิศทางที่รถเจ้าหน้าที่จอดอยู่ พยานจึงถอยไปหลบใกล้อาคารหลังหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา ประกาศให้ ผู้ชุมนุมสลายตัว

พยานเบิกความต่อว่า พยานเห็นวัยรุ่นคนหนึ่งนั่งซุ่มอยู่ที่บังเกอร์ ห่างจากพยาน 30-40 เมตร ใส่เสื้อสีดำ สวมกางเกงยีนส์ หันหน้าไปทางแยกศาลาแดง และจุดประทัด สักพักชายดังกล่าวขยับมาอยู่ที่จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ก่อนชายดังกล่าวจะล้มลง และมีวัยรุ่น 4-5 คนจะเข้าไปนำตัวออกมา แต่ก็ถูกยิงล้มลง ส่วนที่เหลือก็พากันหลบ ส่วนพยานก็ถอยออกมาเรื่อยๆ คิดว่าหากอยู่ต่อไปคงถูกยิงตายแน่ๆ เพราะเห็นผู้ชุมนุมถูกยิงหลายคน จึงชวนเพื่อนออกจากบริเวณดังกล่าวและกลับบ้านที่ จ.อ่างทอง และทราบภายหลังว่าผู้ตายที่เห็นครั้งแรก คือนายถวิล คำมูล



ยันผู้ชุมนุมไม่มีระเบิด-ปืน

ทนายความญาติผู้ตายถามถึงสภาพการชุมนุมของกลุ่มนปช.ก่อนเกิดเหตุ พยานตอบว่าเห็นผู้ชุมนุมมีเพียงไม้ไผ่รวก ไม่มีอาวุธปืน หรือระเบิด ไม่เห็นบุคคลอื่นใช้อาวุธตอบโต้เจ้าหน้าที่

ด้านพยานปากที่ 3 เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุเป็นหัวหน้าหน่วยนิติเวช ร.พ.รามา ธิบดี เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2553 ผ่าชันสูตรพลิกศพนายถวิล มีบาดแผลจากกระสุนปืน 2 แห่ง แห่งแรกเป็นแผลจากกระสุนปืนลูกโดด ทางเข้าอยู่บริเวณศีรษะส่วนหน้าด้านซ้าย กระสุนทะลุศีรษะและเนื้อสมอง แผลที่ 2 เป็นแผลจากกระสุนปืนลูกโดดเช่นกัน ทางเข้าอยู่ที่เข่าขวาด้านหน้า มีแผลทางออกที่ใต้ข้อพับเข่าขวา จึงสรุปสาเหตุการตายว่ามาจากบาด แผลกระสุนปืนลูกโดดบริเวณศีรษะ ทำให้เนื้อสมองฉีกขาดมาก สันนิษฐานว่าเป็นแผลจากกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง มีใช้ในราชการสงคราม และเชื่อว่าจากรอยบาดแผลที่ศีรษะทำให้เสียชีวิตในทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 2 ก.ย. เวลา 09.00 น.



อุทธรณ์ยกฟ้อง-ยิงกลาโหม

ขณะเดียวกัน ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ยกฟ้อง ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม หรือนายบัณฑิต สิทธิทุม อายุ 44 ปี อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว จำเลยในคดียิงจรวดอาร์พีจีไปยังกระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2553 และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 38 ปี

โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สรุปว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พยานพบเห็นคนร้ายขับรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์วีโก้ สีทอง ทะเบียน ตศ 9818 ทม. เข้ามาจอดภายในซอยด้านหลังกระทรวงกลาโหม พยานระบุว่าเห็นจำเลยอยู่ในรถ จากนั้น 1 ชั่วโมงก็ได้ยินเสียงระเบิด ประเด็นมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์นำพยานขึ้นเบิกความหลายปาก แต่คำเบิกความของพยานไม่ตรงกัน บางรายระบุเห็นจำเลยเป็นคนขับ บางรายระบุว่านั่งข้างคนขับ บางคนระบุว่าใส่หมวกแก๊ป ขณะที่บางคนบอกว่าไม่ได้ใส่หมวก พยานให้การขัดแย้งกันเองไม่มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือ และขัดแย้งกับคำให้การของตนเองที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงยังไม่แน่ใจว่าคนร้ายใช่จำเลยหรือไม่



จำเลยแดงดีใจถึงร้องไห้

อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากลางคืน แสงไฟมีน้อย ถึงแม้ว่าผลตรวจลายนิ้วมือแฝงภายในรถและเสื้อแจ๊กเกต จะพบว่ามีสารพันธุกรรมจำเลยปะปนอยู่ แต่ก็มีของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย แม้ว่าพยานแวดล้อมจะเบิกความระบุว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับรถคันดังกล่าว แต่โจทก์ไม่มีพยานเบิกความเน้นว่าจำเลยเป็นคนร้ายแต่อย่างใด จึงมีเหตุสมควรยกประโยชน์ แห่งความสงสัยให้กับจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา และให้ริบของกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษา ส.ต.ต.บัณฑิตถึงกับร้องไห้ และกล่าวระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวไปเรือนจำว่า ดีใจมาก รอคอยวันนี้มานาน ความยุติธรรมยังมีอยู่จริง ยืนยันว่าไม่ผิดและจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับคดีดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรค ต่างนำไปพูดในเวทีผ่าความจริงของพรรค และล่าสุดในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมา โดยระบุในทำนองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายยิงวัดพระแก้ว



กก.สิทธิ์สรุปเสื้อแดงปี"53

วันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. 2553 - 19 พ.ค. 2553" หนา 92 หน้า สาระสำคัญคือส่วนที่ 4 การดำเนินการตรวจสอบใน 8 กรณี ผลปรากฏดังนี้ 1.การชุมนุมของนปช.ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในวันที่ 7 เม.ย. นั้น การชุมนุมเรียบร้อย กระทั่งมีการเคลื่อนย้ายไปชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 3 เม.ย. มีการกระทำที่มีแนวโน้มไปสู่การใช้กำลังความรุนแรง ถือเป็นชุมนุมที่นอกเหนือขอบเขตรัฐธรรมนูญ

2.กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจัดตั้งศอฉ. แม้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ แต่ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ส่วนกรณีการระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล เป็นการกระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากขณะประกาศพ.ร.ก. แต่พีทีวียังคงเผยแพร่การชุมนุมของนปช.ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม เป็นภัยต่อความมั่นคง ขณะที่ปิดกั้นบางเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที แม้จะอ้างอำนาจตามพ.ร.ก. แต่ถือว่าลิดรอนและจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น ละเมิดเสรีภาพการเสนอข่าวและการแสดงความเห็น



ม็อบผิดกฎหมาย-ละเมิดสิทธิ์

3.กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มนปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เห็นว่าคำสั่งขอคืนพื้นที่ของ ศอฉ. เป็นมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย เนื่องจากมีการใช้ความรุนแรง และมีกลุ่มชายชุดดำพร้อมอาวุธปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เพียงแต่การเข้าปิดล้อมพื้นที่ขาดการวางแผนที่ดี ใช้วิธีไม่เหมาะสม จนเกิดการปะทะกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งจะต้องสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมถึงตรวจสอบที่มาของอาวุธร้ายแรงที่ใช้ชุมนุมเพื่อดำเนินคดีด้วย

4.กรณีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดงเมื่อ 22 เม.ย. 2553 เห็นว่าคืนเกิดเหตุมีพยานระบุว่ามีระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงมาจากบริเวณที่ชุมนุมของนปช. อีกทั้งแกนนำก็ประกาศทำนองรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งยังมีการจุดพลุ ตะไล ประทัด เพื่อกลบเสียงระเบิด จึงเป็นการชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน



บุกร.พ.ละเมิดหลักมนุษยธรรม

5.กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2553 ระบุว่าแม้ศอฉ.จะสั่งเจ้าหน้าที่สกัดกั้นขบวนของกลุ่มนปช. ป้องกันไม่ให้กองกำลังติดอาวุธใช้ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ใช้อาวุธต่อสู้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจทางกฎหมาย แต่ผลจากการปะทะกันทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นาย จากอาวุธปืน และมีประชาชนกับเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน

6.กรณีการชุมนุมบริเวณรอบ ร.พ.จุฬาลง กรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าตรวจค้นร.พ.จุฬาลงกรณ์ ทำให้ต้องย้ายผู้ป่วยในทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลอื่น เห็นได้เป็นการกระทำที่ไม่เคารพและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น บุคลากรทางการแพทย์เกิดความหวาดกลัวจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ละเมิดต่อหลักมนุษยธรรม ต้องสืบสวนสอบสวนทางอาญาต่อไป



ชี้วัดปทุมฯมีกลุ่มติดอาวุธ

7.กรณีเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. 2553 นั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิด สำหรับการเผาอาคารทำลายทรัพย์สินและแผ่ขยายไปถึงเผาศาลากลางในหลายจังหวัดนั้น มีพยานหลักฐานพบว่ามีผู้กระทำบางคนอยู่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนปช. แสดงว่าการ ชุมนุมของนปช. เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

8.กรณีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บบริเวณวัดปทุมฯ เมื่อ 19 พ.ค. 2553 นั้น แม้แกนนำประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 13.30 น. แต่เจ้าหน้าที่กับกลุ่มบุคคลติดอาวุธยังคงยิงปะทะกันต่อเนื่องถึงเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมสถานการณ์บริเวณรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีกลุ่มบุคคลติดอาวุธวิ่งหลบหนีไปมาและหลบเข้าไปในวัด แล้วยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องป้อง กันตนเอง ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และบาดเจ็บ 7 คน อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีการไต่ สวนในชั้นศาลแล้ว จึงไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัย


(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่