หายนภัยน้ำมันรั่ว "ทะเลโลก"รับเคราะห์



รายงานพิเศษ
ข่าวสด ต่างประเทศ


เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันของพีทีที เคมิคอล กรุ๊ป รั่วไหลในอ่าวไทย ทำให้หลายหน่วยงานเร่งฟื้นฟูชายหาดของเกาะเสม็ดจากคราบน้ำมัน พร้อมประเมินผลกระทบทางการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การประมง และสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่ประสบภัยมาตลอดสัปดาห์นี้

ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ล้วนตอกย้ำถึงภัยจากมนุษย์ที่ส่งผลต่อธรรมชาติทางทะเลที่เกิดขึ้นหลายครั้งในนานาประเทศ

สำหรับเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดในต้นศตวรรษที่ 21 นี้ คือกรณีน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก เมื่อต้นปี 2553 ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกา

เกิดขึ้น ณ แท่นขุดเจาะน้ำมันชื่อ "ดีปวอเตอร์ ฮอร์ไรซอน" อันอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ บริษัทบริติช ปีโตรเลียม หรือ บีพี บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ควบกิจการโดยบริษัทน้ำมันอเมริกันตั้งแต่ปี 2541

ดีปวอเตอร์ปฏิบัติงานผ่านบริษัททรานส์โอเชียนอีกต่อหนึ่ง และมีบริษัทฮัลลิเบอร์ตันเป็นผู้ออกแบบด้านเทคโนโลยี

แท่นขุดเจาะขนาดยักษ์แห่งนี้ถือเป็น สุดยอดนวัตกรรมด้านพลังงานฟอสซิลในขณะนั้น มีกำลังการผลิตมหาศาล โดยขุดเจาะน้ำมันผ่านท่อที่ดำดิ่งลงไปสู่ก้นทะเล ณ ความลึกประมาณ 5.4 กิโลเมตร วิศวกรใช้วิธีก่อสร้างโดยหุ่นยนต์บังคับจากผิวน้ำ

ท่อส่งน้ำมันมีอุปกรณ์ขนาดเท่ากับตึก 3 ชั้นติดอยู่ โดยเป็นวาล์วปิด-เปิดช่องทางเดินของน้ำมัน จะปิดได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 เม.ย. 2553 มีแก๊สและเชื้อเพลิงจำนวนหนึ่งรั่วไหลเข้าไปในท่อเดินน้ำมัน จนเกิดระเบิดและเพลิงไหม้ลุกลามไปทั่วแท่นขุดเจาะ มีผู้เสียชีวิตในเหตุนี้ 11 ราย ขณะที่ผู้รอดชีวิตพยายามปิดวาล์วฉุกเฉิน แต่วาล์วกลับไม่ทำงาน

ต่อมาแท่นขุดเจาะที่ไฟลุกท่วมก็จมลงสู่ทะเล และน้ำมันหลายหมื่นแกลลอนก็ทะลักออกมาจากท่อส่งอย่างไม่หยุดยั้ง!!

ในช่วงแรกนั้น ผู้บริหารของบริษัทบีพีพยายามกลบเกลื่อนข่าวการรั่วไหลของน้ำมันจากดีปวอเตอร์ โดยระบุว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ กลางทะเล และกล่าวว่ามีน้ำมันไม่มากรั่วไหลสู่ทะเล ขณะเดียวกันก็พยายามกันไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวบริเวณที่เกิดเหตุด้วย อีกทั้งยังตัดพ้อว่า สื่อกำลังใส่ร้ายป้ายสีบริษัทของตน

ทว่าไม่กี่วันถัดมา สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างเห็นได้ชัด น้ำมันได้รั่วไหลไปทั่วชายฝั่งตอนใต้ของสหรัฐ ซึ่งเป็นแหล่งประมงสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิดอีกด้วย

ตั้งแต่ปลา แพลงตอน โลมา เต่าทะเล และสัตว์น้ำอื่นๆ ไปจนถึงนกหลายชนิดซึ่งมีถิ่นที่อยู่ตามบึงหรือที่ลุ่มชายฝั่งหลายร้อยตารางกิโลเมตร ที่ถูกปกคลุมไปด้วยคราบน้ำมันที่รั่วไหล

1.น้ำมันทะลักจากท่อส่ง

2.วาระสุดท้ายของแท่นขุดเจาะ

3.คราบน้ำมันในทะเล

4.ช่วยเต่าทะเลจากคราบน้ำมัน



บีพีถูกดึงมาเป็นผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการกู้ภัยร่วมกับทางการสหรัฐ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะไม่ได้วางแผนรับมือกับหายนะในระดับนี้มาก่อนเลย ทำให้มาตรการต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า

บีพีเพิ่งครอบท่อน้ำมันที่รั่วไหลได้หลังจากเวลาผ่านไป 87 วัน และน้ำมันรั่วไหลออกไปเกือบ 5 ล้านบาร์เรล

จนถึงทุกวันนี้ แม้ผ่านไปแล้ว 3 ปี ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ยังดำรงอยู่ตามชายฝั่งตอนใต้ของสหรัฐ มีการพบคราบน้ำมันตกค้าง หรือก้อนน้ำมันดิบ ที่จับตัวอยู่ในทะเลบางจุด จนต้องห้ามชาวประมงเข้าไปหาปลาในบริเวณเหล่านี้เป็น บางครั้ง

ในช่วงแรก การดำเนินการทางกฎหมายเป็นไปอย่างสับสน เพราะบีพีโยนความผิดให้กับฮัลลิเบอร์ตันและทรานส์โอเชียน อ้างว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในทางปฏิบัติการบนแท่น ขุดเจาะ ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของสาธารณชนที่เดือดร้อนจากวิกฤตน้ำมันรั่ว

ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐ ถึงกับแถลงออกทีวี ย้ำว่า บีพีจะต้องชดใช้ต่อความผิดพลาดครั้งนี้

การสอบสวนจากภาครัฐพบว่าแท่นขุดเจาะดีปวอเตอร์มีปัญหาหลายประการ เช่น ไม่มีการตรวจเช็กอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการฝึกซ้อมลูกเรือให้เตรียมรับมือเหตุร้ายแรง และใช้มาตรการฉุกเฉินต่างๆ ที่ไม่มีการทดสอบจริง

ในที่สุดบีพีถูกฟ้องร้องและรับผิดต่อคดีหลายกระทง ตั้งแต่ประมาทเลินเล่อจนมี ผู้เสียชีวิต ไปจนถึงพยายามโกหกหลอกลวงต่อเจ้าหน้าที่สอบสวน

ต่อมาบีพีถูกปรับเป็นเงินประมาณ 135,000 ล้านบาท และค่าเสียหายที่ต้องจ่ายให้แก่ชุมชน ธุรกิจ และผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 240,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับค่าปรับเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเมินกันว่าจะมีจำนวนถึง 525,000 ล้านบาท

นับว่าเป็นการเรียกค่าปรับที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

ถึง ณ วันนี้คดีนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาฮัลลิเบอร์ตันเพิ่งสารภาพผิดต่อศาลสหรัฐว่า พยายามทำลายหลักฐานเพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาดของระหว่างการไต่สวนคดีนี้

กรณีดีปวอเตอร์เป็นเสมือน "นาฬิกาปลุก" ที่ทำให้บริษัทด้านพลังงานทั่วโลกฉุกคิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสาธารณชนที่อาจเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมของตน ซึ่งหลายบริษัทก็ได้พิจารณาและปรับปรุงความปลอดภัยมากน้อยต่างกันไป

สำหรับในประเทศไทยได้แต่หวังว่ากรณี "ทะเลทมิฬ" ที่เกาะเสม็ดจะช่วยสร้างบรรทัดฐานให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุหายนะเช่นนี้อีกในอนาคต

ถึงจะเข้าสุภาษิตวัวหายล้อมคอก แต่ก็ดีกว่าไม่มีการสรุปบทเรียนหรือรับผิดชอบใดๆ

จาก ข่าวสด 3 สค 56

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่