ใกล้เวลาโบกมืออำลาแล้วนะ"ตำรวจจราจร"

เรื่องเดิมจากข่าวเก่า

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 20 มี.ค. 55 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และคณะเข้าพบ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร เพื่อหารือความคืบหน้ากรณีการโอนตำรวจจราจรมาสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายสุทธิชัย กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมาย พ.ร.บ.กระจายอำนาจมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งหลาย ๆ ภารกิจยังไม่ได้มีการโอน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา โดยในส่วนภารกิจที่ทางตำรวจดูแลมีการโอนมาเฉพาะงานดับเพลิงเท่านั้น ต่างจากมหานครใหญ่ ๆ ที่พัฒนาแล้วที่ตำรวจจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของเมือง เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งการที่ตำรวจไม่ได้อยู่กับกทม.ทำให้ปัญหาในการดูแลประชาชน เช่น กรณีการแจ้งดำเนินคดีกับเจ้าของอาคารผิดกฎหมาย ที่เรื่องค้างที่ สน.เพราะตำรวจมีข้อจำกัดในเรื่องเจ้าหน้าที่ที่จะมาดูแลคดี หรือกรณีของหาบเร่แผงลอย ที่ กทม.เป็นผู้พิจารณาและส่งให้ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจจราจรเป็นผู้อนุมัติทำให้เป็นปัญหา หากตำรวจอยู่กับ กทม.ก็จะสามารถทำงานตามนโยบายต่าง ๆ ได้ดีขึ้น จากนี้จะตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาร่วมกัน ทั้งทางฝ่ายสภา กทม.และจะเชิญรอง ผบ.ตร.และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องมาหารือว่าจะสามารถดำเนินการถ่ายโอนภารกิจในเรื่องข้อกฎหมายให้เกิดผลได้มากน้อยเพียงใด โดยจะขอรับโอนในส่วนของตำรวจจราจรมาก่อน เพราะปัจจุบันนี้ กทม.ก็เป็นผู้ให้งบประมาณสนับสนุนตำรวจจราจรทุกด้าน เช่น งบการดูแลศูนย์ควบคุมสั่งการจราจร ของ บก.จร. การดูแลเรื่องการขีดสีตีเส้น สัญญาณไฟจราจรก็เป็นงบของ กทม.และกรณีของเงินเปรียบเทียบปรับคดีจราจรที่ตำรวจจะต้องส่งค่าปรับให้กับท้องถิ่นครึ่งหนึ่ง

ด้าน พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ในหลักการแล้ว ตร.เห็นด้วยในการโอนภารกิจบางอย่างให้ท้องถิ่นดูแล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีงานในความรับผิดชอบมาก ภารกิจหลักคือการดูแลความปลอดภัย ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งในส่วนการโอนภารกิจด้านการจราจรมีการเสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก เสนอไปตั้งแต่ปี 2547 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่างแก้ไขโดยสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งในร่างฉบับดังกล่าว จะให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เป็นฝ่ายปกครอง ให้มีอำนาจเช่นเดียวกับตำรวจจราจร เช่น การพิจารณาปิด-เปิดเส้นทางการจราจร  การบริหารจัดการจราจร รวมทั้งอำนาจในการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดกฎจราจร แต่จะให้อำนาจจับปรับได้เฉพาะข้อหาที่มีโทษปรับเพียงอย่างเดียว หากเป็นคดีจราจรที่โทษจำคุก เช่น คดีเมาแล้วขับ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จะยังไม่ให้อำนาจในการจับปรับเพราะจะยังมีปัญหากรณีที่ผู้ต้องหาไม่ยอมรับผิด จะต้องมีการสอบสวนและส่งฟ้องศาลซึ่งอำนาจในการสอบสวนเป็นของตำรวจเจ้าพนักงานปกครองไม่มีอำนาจสอบสวน อย่างไรก็ตามขณะนี้ขั้นตอนการออกกฎหมายจะต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้น จึงจะไปสู่การประกาศใช้บังคับได้.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/thailand/18223

และขณะนี้ กทม.พร้อมรับเผือกร้อน(ด้วยความเต็มใจ) เม่าบัลเล่ต์

รอสตช.ไฟเขียวโอนตำรวจจราจร
วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2556 เวลา 15:05 น.
นายโสภณ โพธิสป  รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ล่าสุดตนได้เป็นตัวแทนสำนักเทศกิจและกทม.เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามโครงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถึงความพร้อมการรับโอนภารกิจตำรวจจราจรมาให้ กทม.ซึ่งเป็นท้องถิ่นรับผิดชอบโดยตรงว่า ตนได้ชี้แจงถึงความพร้อมกับคณะอนุกรรมการฯ ว่าขณะนี้ กทม.มีความพร้อมในการรับโอนภารกิจหลายอย่าง รวมถึงการรับโอนภารกิจด้านการจราจร ปัจจุบันเจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม.มีภารกิจในการช่วยดูแลการจราจรมากขึ้น  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ต่างๆ มักจะมีหนังสือขอให้ กทม.ส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยเหลือในภารกิจการจัดและดูแลการจราจร เมื่อมีงานต่าง ๆ  ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจมีศักยภาพในด้านการจราจรเพิ่มมากขึ้นจากเดิม รวมทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม.ก็มีการปรับเพิ่มตามภารกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ปัญหาของแต่ละพื้นที่  และหากมีการรับโอนภารกิจด้านการจราจรนั้น ก็อาจจะมีการปรับเพิ่มเพื่อรองรับภารกิจอีกส่วนหนึ่งด้วย    ทั้งนี้อยู่ระหว่างการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)พิจารณาถึงความเหมาะสมและความพร้อมของตำรวจ แต่ในส่วนของ กทม.นั้นมีความพร้อมที่จะรับโอนภารกิจ เช่นเดียวกับที่เคยรับโอนตำรวจดับเพลิงมาเป็นสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.)

นายโสภณ  กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กทม.มีการเพิ่มศักยภาพของเทศกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน  โดยจะเปรียบเหมือนตำรวจเมือง โดย กทม.ก็กำลังเดินหน้าอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถ ให้ทันกับสถานการณ์ เช่น การอบรมภาษาอังกฤษเพื่อต้อนรับประชาคมอาเซียนหรือเออีซี การอบรมกฎหมายต่าง ๆ การรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม ตามภารกิจที่เพิ่มขึ้น  เนื่องจากภารกิจของเจ้าหน้าที่เทศกิจนั้นมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ประชาชนคนทั่วไปมักจะมองว่าเทศกิจ ทำหน้าที่แค่จัดระเบียบผู้ค้าหรือหาบเร่แผงลอยเท่านั้น

ที่มา http://www.dailynews.co.th/bkk/220999
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่