อธิการบดีม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เตือนนศ.ใช้หนี้ กยศ.ทดแทนสังคม เผยบางคนเปลี่ยนชื่อเพื่อหนีหนี้

วันนี้(31ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จัดโครงการประชุมวิชาการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย เรื่อง “การพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย บนเส้นทางมหาวิทยาลัยกับความรับผิดชอบต่อสังคม” โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง มหาวิทยาลัยกับความรับผิดชอบต่อสังคม ตอนหนึ่งว่า ในการเติบโตของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันล้วนต้องพึ่งพิงสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ดังนั้นทุกคนจึงมีหนี้โดยธรรมชาติและหนี้ที่เกิดระหว่างการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ นักศึกษาทุกคนก็เช่นกัน ยกตัวอย่าง นักศึกษาที่ได้กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ถือเป็นหนี้สังคมด้วย ดังนั้นเมื่อเราเป็นหนี้สังคมแล้วก็ต้องมีหน้าที่สืบสานสังคมนี้ต่อไป ถือเป็นความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นตามบทบาทและหน้าที่ในฐานะนักศึกษานั่นเอง

“สำหรับคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยถือว่าได้เบียดเบียนคนไปจำนวนมากโดยไม่ตั้งใจ ผมขอเปรียบเทียบโดยยกตัวอย่าง กลุ่มนักศึกษากู้เงิน กยศ. อาจจะกำลังเบียดเบียนคนเปลี่ยนไตในจังหวัดของท่านเอง เพราะแทนที่รัฐบาลจะเอาเงินหลายหมื่นล้านบาทไปซื้อเครื่องฟอกไตแจกให้คนป่วยโรคไตตามต่างจังหวัดที่กำลังขาดแคลนเครื่องฟอกไต แต่รัฐบาลได้นำเงินมาจัดสรรให้โครงการ กยศ.แทน อย่างไรก็ตามกลับพบว่าปัจจุบันมีลูกหนี้ กยศ.ชักดาบมากถึง 2 ใน 3 ของลูกหนี้ทั้งหมด 2.6 ล้านคน โดยร้อยละ 20 ของกลุ่มคนชักดาบใช้วิธีการเปลี่ยนชื่อตัว ซึ่งกรณีนี้หากจะว่าไปแล้วคนที่ได้ทุน กยศ.ก็คือคนที่กำลังแย่งชิงเครื่องฟอกไต ดังนั้นอยากให้นักศึกษาตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในฐานะเป็นหนี้สังคมจะต้องมีหน้าที่ชดใช้ต่อสังคมด้วย” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็เป็นหนี้สังคมจากการแย่งชิงบุคลากรในสังคมมาเป็นนักศึกษา แทนที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะได้ใช้เวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัย เลือกที่จะไปประกอบธุรกิจสร้างรายได้ ดังนั้นการที่มีเด็กแห่มาเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นการสูญเสียทางหนึ่ง มหาวิทยาลัยจึงจะต้องรับผิดชอบในการทำให้บุคลากรเหล่านั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้น เพราะถ้าไม่พัฒนาก็เท่ากับจับคนมาขังไว้ ถือเป็นการทำลายมนุษย์และสังคมทำให้สูญเสียโอกาส.

http://www.dailynews.co.th/education/223084

อยากให้มีการเปิดเผยว่า คณะใด มหาวิทยาลัยใดมีจำนวนผู้เบี้ยวหนี้ กยศ. เท่าไร

อยากให้ดูต้นตอของผู้เบี้ยวหนี้แต่ละคนว่า แต่แรกมาขอกู้แต่ไม่จนจริงหรือไม่ กู้แล้วนำไปใช้อะไรบ้าง จนเรียนจบตั้งใจเบี้ยวหนี้หรือไม่มีรายได้พอจะใช้ จะได้เป็นมาตราการในการกำหนดคุณสมบัติการกู้ยืมต่อไป

และปัจจุบันเรามีโครงการ "โตไปไม่โกง" แต่บัณฑิตปัจจุบันที่เบี้ยวหนี้สมควรเป็นบัณฑิตหรือไม่ จะเป็นแบบอย่างให้เด็กๆ เห็นในโครงการโตไม่ไม่โกงได้อย่างไร

http://bit.ly/ชมรมผู้ไม่ใฝ่ใจบริโภคนิยมวัตถุนิยม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่