ช็อค!!! “เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน” เมืองแห่งยานยนต์ ยื่นคำร้องขอต่อศาลคุ้มครอง "การล้มละลาย" เรียบร้อยแล้ว

เอเอฟพี -  เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ ยื่นขอศาลคุ้มครองการล้มละลายแล้ว หลังเผชิญภาวะซบเซามายาวนานหลายสิบปีจนหนี้สินรุงรัง ประกอบกับการบริหารจัดการที่ผิดพลาดทำให้ระบบเก็บภาษีไร้ประสิทธิภาพ
      

       จากที่ครั้งหนึ่งเมืองที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ทางด้านอุตสาหกรรม ดีทรอยต์ในวันนี้กลับกลายเป็นเมืองเสื่อมโทรม ดารดาษไปด้วยตึกระฟ้า, โรงงาน และ บ้านเรือนที่ปราศจากผู้คนอยู่อาศัย ฝ่ายบริหารเมืองไม่มีงบประมาณพอแม้แต่จะเปิดไฟส่องสว่างตามท้องถนน ทำให้ถนนหนทางร้อยละ 40 ตกอยู่ในความมืดมิดยามค่ำคืน
      

       นาย ริค สไนเดอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน ออกมายอมรับว่าไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว
      
       “มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นทางเลือกเดียวที่จะแก้ปัญหาซึ่งสะสมมานานถึง 60 ปี” สไนเดอร์ ระบุในถ้อยแถลง
      

       ประชากรเมืองดีทรอยต์ ลดลงมากกกว่าครึ่งในรอบ 60 ปี จากสถิติ 1,800,000 คนในปี 1950 เหลือเพียงประมาณ 600,000 คนในปัจจุบัน
      

       ปมขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติซึ่งถูกโหมกระแสโดยขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง รวมไปถึงเหตุจลาจลครั้งใหญ่เมื่อปี 1967 ทำให้พลเมืองผิวขาวและชนชั้นกลางอพยพหนีไปอยู่ชานเมืองกันมากขึ้น ติดตามมาด้วยการไหลออกไปของภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้ฐานภาษีของเมืองดีทรอยต์ร่อยหรอลงทุกวัน
      

       เมื่อเก็บภาษีได้น้อยลง ฝ่ายบริหารเมืองก็จำเป็นต้องตัดทอนบริการสาธารณะต่างๆ ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้คนย้ายออกจากเมืองมากขึ้น
      

       เจ้าของโรงงานที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องและถูกคู่แข่งจากเอเชียช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจำต้อง “ลอยแพ” พนักงาน เพื่อลดภาระ และหันมาใช้กระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติหรือจ้างแรงงาน Outsource แทน
      

       เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดีทรอยต์ ได้หยุดพักชำระหนี้บางส่วนจากมูลค่าหนี้สินที่สูงถึง 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ เควิน ออร์ ผู้บริหารเมืองฉุกเฉิน ก็ได้ยื่นเงื่อนไขผ่อนปรนกับบรรดาเจ้าหนี้ โดยจะจ่ายเงินคืนไม่ถึง 10 เซนต์ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรากฎว่ากองทุนเงินบำนาญ 2 แห่งซึ่งเป็นเจ้าของเงินกู้ราว 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ออกมายื่นฟ้องเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของพนักงานเกษียณ แต่การยื่นขอคุ้มครองล้มละลายของดีทรอยต์ก็ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องระงับไว้ชั่วคราว
      
       หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางว่าจะอนุมัติแผนปรับโครงสร้างหรือลดหนี้สินบางส่วนให้แก่ดีทรอยต์ ตามที่ระบุในมาตรา 9 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐฯหรือไม่
      

       ดักลาส เบิร์นสไตน์ ทนายความฝ่ายคดีล้มละลายจากบริษัทกฎหมาย พลังเค็ทท์ คูนีย์ ซึ่งมีฐานในรัฐมิชิแกน ชี้ว่า กรณีของดีทรอยต์อาจไม่ง่ายดายเหมือนคราว เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และ ไครส์เลอร์ ซึ่งยื่นขอรับการคุ้มครองล้มละลายเมื่อปี 2009 และดำเนินการปรับโครงสร้างได้ในไม่กี่สัปดาห์ ด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ
      

       “ปัญหาที่สำคัญก็คือ ที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีเทศบาลเมืองในสหรัฐฯยื่นล้มละลาย จึงไม่มีแบบอย่างให้ปฏิบัติตามได้มากนัก” เบิร์นสไตน์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
      

       สถิติการฆาตกรรมและชิงทรัพย์ในเมืองดีทรอยต์พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี และตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ดีทรอยต์ยังขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับที่หนึ่งใน “เมืองซึ่งอันตรายที่สุด” ของสหรัฐฯด้วย
      

       ชาวเมืองดีทรอยต์ที่โทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินต้องอดทนคอยโดยเฉลี่ยถึง 58 นาที กว่าจะมีตำรวจมารับสาย ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 11 นาที
      

       ปัจจุบันมีอาคารกว่า 78,000 หลังที่ถูกทิ้งร้าง และ รถพยาบาลก็ใช้การได้เพียง 1 ใน 3 เนื่องจากขาดงบประมาณซ่อมบำรุง
      

       ฝ่ายบริหารเมืองดีทรอยต์ใช้วิธีกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายนานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นความไร้วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่นำมาสู่ความเสื่อมของเมืองทุกวันนี้
      

       เงิน 38 เซนต์จากรายรับทุกๆ 1 ดอลลาร์ของเมืองดีทรอยต์ จะถูกดึงไปชำระหนี้และใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น จ่ายบำนาญ เป็นต้น และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 65 เซนต์ต่อ 1 ดอลลาร์ ภายในปี 2017





      



              http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000088630
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่