6 เหตุผล ที่ "คนไทย" อ่านหนังสือน้อยลง !!

เข้ามาดู
  เรารู้กันมานานแล้วว่า  การอ่านหนังสือทำให้คนฉลาด สร้างและพัฒนาคนได้เป็นอย่างดี แม้จะต้องต่อสู้กันมานานแสนนานให้ คนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น แต่ดูเหมือนเราก็พบว่า คนไทยยังอ่านหนังสือกัน "น้อยมาก" เมื่อเทียบกับ คนชาติอื่น ๆ อย่าง อเมริกา  ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อังกฤษ  อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ??  ผมคิดว่า น่าจะมีอย่างน้อย 7 เหตุผลที่ทำให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ต้องขอโทษด้วย หากบทความนี้ ไปสะท้อนความจริงอะไรบางอย่างเข้า แล้วทำให้เกิดความหงุดหงิด หรือไม่เห็นด้วย   จริง ๆ แล้ว  คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อในทุก ๆ เหตุผลที่ผมยกขึ้นมากล่าวอ้าง แต่ผมขอนำเสนอในแง่มุมของตัวเองส่วนตัว แล้วลองดูว่า เห็นด้วยหรือเปล่าแค่นั้นครับ



1. พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยน เมื่อไอทีเข้ามาแย่งเวลาคนเรามากขึ้น  
   คนเรามี 24 ชม เท่ากัน ไม่มีใครมีมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เมื่อ ipad , smartphone เข้ามาเป็นส่วนผสมหลักของคนเรา ก็ทำให้เราโดนแย่งเวลา จากการอ่านหนังสือไปได้มากทีเดียว ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่ ( ขอย้ำว่า ส่วนใหญ่ ) เอา Tablet , Smartphone มาใช้งานในส่วนของบันเทิงมากกว่า อ่านหนังสือ แม้ว่าจะสามารถนำมันมาเป็นเครื่องอ่าน Ebook ได้ แต่เราพบว่า วัยรุ่นไทยและวัยทำงานทั่วไปใช้งาน Gadget เหล่านี้กับ App เกมส์ หรือ Facebook , Youtube , Twitter , หรือเข้าเวบไซต์ ตอบอีเมลล์มากกว่า  รวมไปจนถึง ช่องรายการ Cable มากมาย ที่แย่งเวลาคนไทยให้เสพรายการดู มากกว่าอ่าน ก็พอจะทำให้เห็นว่า พฤติกรรมคนไทยโดนแย่งเวลาจากหนังสือมากแค่ไหน



2. ภาระกิจของผู้คนบีบรัดเวลา ต้องแย่งกันทำงานจน ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ...
     เอาง่าย ๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่ในสังคมเมือง หรือแม้แต่ในจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วไป ผมว่า คนต้องทำงาน หาเลี้ยงชีพ ตื่นแต่เช้าไปทำงาน รถติด เครียดกับงานที่ทำงาน กลับบ้านมาเหนื่อยล้า แค่เอาเวลานั่งพัก กินน้ำ ดูทีวีให้หายเหนื่อย ก็หมดไปแล้ว ช่วงเวลากลางคืน จะเอาเวลาไหนไปอ่านหนังสือ หรือหาหนังสือดี ๆมาอ่าน เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศใช้เวลาแบบนี้ ก็แน่นอนว่า โอกาสจะเข้าหาหนังสือก็ยากขึ้นทุกที จะมีก็แต่คนประเภทที่ แม้จะเหนื่อยแค่ไหน ฉันก็จะต้องหาเวลาอ่านหนังสือให้ได้ กระยิ้มกระสน มีความมุ่งมั่นที่จะหาเวลาอ่านให้ได้ คนเหล่านี้มีน้อยมาก แต่คิดว่ามีครับ  แต่ส่วนใหญ่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานที่เคร่งเครียดจน หาเวลาอ่านหนังสือไม่ค่อยได้มากกว่า ...




3. การส่งเสริมจากภาครัฐ ไม่จริงจังยั่งยืน  ทำไปแค่ " ผักชีโรยหน้า" ...
     ขอพูดตรง ๆ จากความรู้สึกเลยก็แล้วกันว่า การที่เราเสนอตัว ให้ กรุงเทพ เป็น  " เมืองหนังสือโลก 2013 " เป็นอะไรที่ลวงโลกมาก ๆ สร้างภาพชัด ๆ สูญเสียงบประมาณเปล่า ๆ !!!!   ท้ายที่สุด ทำออกมาแล้ว คนรู้ในวงกว้างไหม แล้วคนไทยรับรู้ไหมว่า จัดแล้วได้อะไร  มันทำให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นหรือ ?? เปล่าเลย แค่การจัดฉากลวงตาตบตาชาวโลกเฉย ๆ เท่านั้นเอง  เราไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง แต่ก็อยากทำ
ภาครัฐไม่ได้จริงจังในการทำเรื่องนี้ การสนับสนุนให้คนไทยอ่านหนังสือ สร้างห้องสมุด พัฒนาระบบการศึกษาไทย ก็ยังทำไม่ได้เลย  บ่องตง ๆ  รัฐบาลทุกสมัยที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครกล้าทำเรื่องนี้จริงจัง เพราะคิดว่า โครงการพวกนี้ทำแล้ว ตรวจสอบง่าย โกงกินลำบาก เพราะต้องทำงานกับมวลชนเยอะ  ไม่คุ้มที่จะทำ ไม่เห็นผลงานในระยะสั้น ๆเหมือน สร้างรถไฟฟ้า สร้างถนน ให้จำนำข้าว ลดภาษีรถคันแรก  บ้านหลังแรก เพราะเห็นผลไว ตัวเลขเศรษฐกิจพุ่งปรี้ดทันที ได้คะแนนประชานิยมดีด้วย
แต่ต้องอย่าลืมว่า การสนับสนุนให้คนไทยอ่านหนังสือ สร้างชาติในระยะยาว สร้างคุณภาพของคนไทยในภาพรวม ซึ่งมันจะย้อนกลับมาทำให้ โครงสร้างความคิดของคนไทยแข็งแกร่ง ไม่โดนหลอกจากนักการเมืองชั่ว ๆ ได้ง่าย เพราะนักการเมืองรู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ เค้าจึงไม่ทำ เดี้ยวโดนตรวจสอบง่าย โกงกินลำบาก  ( ตรงไปป่าววะ )  



4. ราคาหนังสือในปัจจุบัน แพง เกินกว่าจะซื้อได้
   ปัจจัยนี้ มันควบคุมลำบาก เพราะมันแพงขึ้นตามกลไก ตลาดของราคา "กระดาษ"  และต้นทุนค่าแรง ค่า Production ของ สำนักพิมพ์ที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ  และผมว่ามันเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง เพราะไม่กล้าจะซื้อหนังสือ หรือจะซื้อแต่ละครั้ง พิจารณาความคุ้มค่าก่อนซื้อ เพราะราคาหนังสือสมัยนี้ เห็นราคาแล้วก็ตกใจเหมือนกันในบางเล่ม ..  อาจจะมีวิธีแก้ไขในเบื้องต้นก็คือ สร้างห้องสมุดให้ประชาชนได้หยิบยืมอ่านกันได้มากขึ้น เข้าถึงคนไทยในหลาย  ๆ พื้นที่  หรืออาจจะให้ นักอ่าน ซื้อหนังสือโดยตรงผ่าน สำนักพิมพ์ ไม่ต้องผ่าน ร้านหนังสือ  ก็จะได้ราคาพิเศษกว่า ซื้อหน้าร้าน หรือ อ่านจากทาง Ebook แทน เพื่อประหยัดเงิน และลดการใช้กระดาษแทน แต่ทุกวิธีมี ข้อดีข้อเสียในตัวของมันเอง แต่สุดท้าย เรื่องของ ราคาหนังสือ ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คนไทย เลือกที่จะซื้อหนังสืออ่าน อย่างคุ้มค่าที่สุดอยู่ดี  ทำไมรัฐบาลไม่อุดหนุนเงินเข้ามาช่วยให้กลายเป็นกองทุนหนังสือ เหมือนกองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาถูกลง แต่ก็อย่างว่า เดี้ยวทำแล้วก็จะมีการคอร์รัปชั่นอีก กลายเป็นช่องโหว่งได้ทุกที ประเทศไทย ! !!!


5. ไม่ได้รับการส่งเสริมจากครอบครัวเพียงพอ
   ทุก ๆ ปี ผมมองว่า จะมีหน้าใหม่ของวงการ นักอ่าน เข้ามาเสมอ คือ คนรุ่นใหม่ที่รู้จัก การอ่านหนังสือ ซึ่งหากไม่ได้รับการส่งเสริมจากครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานสำคัญ ก็อาจจะทำให้ เด็กรุ่นใหม่ โตขึ้นมา โดยอาศัยแต่เพียงการดู การฟัง การเล่น เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะแทบเลต ที่แทบจะกลายเป็นพี่เลี้ยงเด็กแล้วสมัยนี้ ...!!!  การอ่านหนังสืออาจจะเป็นได้แค่ ความจำเป็นในห้องเรียน และสำหรับการสอบเท่านั้น แต่ นิสัยรักการอ่าน ไม่ได้ฝังเข้าไปใจสายเลือดของเด็ก  ๆ เหล่านั้น ทำให้ การอ่าน จบอยู่แค่ ห้องเรียน เท่านั้น ซึ่งนั้น ไม่ควรเกิดขึ้นกับเด็กไทยของเราในยุคต่อ ๆ ไป  หากครอบครัวไม่ส่งเสริม สร้างบรรยากาศของการรักการอ่าน หนังสือให้เกิดขึ้น ก็ลำบากมากที่จะทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้นโตขึ้นมาด้วยนิสัยรักการอ่าน เราจึงจะเห็นเด็กไทยหลาย  ๆ คน หันไปทำอย่างอื่นแทน เพราะสนุกกว่า ง่ายกว่า เช่น เล่นเกมส์ iPad,  เล่น Facebook , เข้าประกวดแข่งขันโชว์ร้องเพลง เต้นรำ ( ไม่ได้บอกว่าผิดนะ แต่มันมาแย่งความสนใจของเด็กเท่านั้นเอง )


6. อุตสาหกรรมหนังสือจะโดนทำลายด้วยกันเอง จากระบบทุนนิยม
     อันนี้ผมว่ามันเป็นผลกระทบเชิงลูกโซ่ที่ เกิดขึ้นมานานแล้วในแวดวงหนังสือ คือ การจัดงานสัปดาห์หนังสือครั้งใหญ่ ปีละ 2 ครั้งที่ทำให้ ร้านหนังสือเล็ก ๆ ต้องทยอยปิดกิจการลงไปเรื่อย ๆ เนื่องด้วย คนหันไปซื้อหนังสือกันในงานส่วนใหญ่เพราะ ลดราคา ประหยัด หลากหลาย มีทุก สำนักพิมพ์ แต่ อีกมุมหนึ่งมันทำลาย ระบบร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่กระจายตัวทั่วไปในเมือง เมื่อขายหนังสือไม่ได้ ก็ต้องขาดทุน อยู่ไม่ได้ คนไทยก็เลยขาดโอกาสซื้อหนังสือใกล้บ้าน  ต้องไปเดินซื้อในห้างใหญ่ ๆ ร้านเชนสโตร์ดัง ๆ ซึ่งร้านเหล่านี้มีอำนาจต่อรองสูง มีทุนหนา แทบจะผูกขาดธุรกิจไปแล้ว   มีคนเคยบอกไว้ว่า ร้านหนังสือเล็ก ๆ นั้นเปรียบเสมือน ห้องสมุดเล็ก ๆ ของชุมชน เพราะคนเข้ามาแวะอ่าน แวะเปิดดูหนังสือ ซึ่งก็เท่ากับทำหน้าที่เป็น  " ห้องสมุด "  ในคราบร้านหนังสือได้เป็นอย่างดี
   อีกประการหนึ่ง ร้านหนังสือใหญ่ ๆ รวบหัวรวบหาง หนังสือในเครือที่อยากจะโปรโมทมากกว่า เปิดโอกาสให้กับ ทุก ๆ สำนักพิมพ์อย่างยุติธรรม เราจึงเห็นหนังสือดีๆ บางเล่ม ถูกซุกซ่อนไว้ในชั้น ต้องค้นหากันยากหน่อย ถึงจะได้เจอ แต่หนังสือบางเล่ม เนื้อหาไม่ได้มีอะไรมากหนัก แต่ถูกกระบวนการ "โฆษณา ยัดเหยียดโปรโมท"  ให้โดดเด่น ทำให้ดัง ยอดขายทะลุหลายล้านเล่ม แต่เอาเข้าจริง เนื้อสาระมีอะไรไหม ก็ต้องบอกว่า ไม่มีอะไรมากนัก แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบการตลาดเกินพอดี แถมนักเขียนก็กลายเป็นสินค้าของ สำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ เพื่อนำไปต่อยอดสร้างผลงานในมุมอื่น ๆ  อีกมากมาย ระวังให้ดี สิ่งเหล่านี้จะอย่าคิดว่า คนอ่าน เค้าไม่รู้ เค้ารู้แต่ไม่พูดเท่านั้นเอง !!!



หมดแล้วสำหรับ 6 เหตุผลที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง !!!  จากมุมมองของผม หากอ่านแล้วอยากแชร์ควาคิดเห็น หรือโต้แย้งในมุมไหน ๆ เรียนเชิญตามสบาย สามารถเสนอความคิดเห็นด้วยเหตุผลได้เลยครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่