การเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะตั้งครรภ์ รู้ไว้ได้ประโยชน์ค่ะ



***ความมหัศจรรย์ของ"มดลูก"***

ในการตั้งครรภ์หนึ่งครั้ง ร่างกายของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย
แต่อวัยวะที่ต้องรับภาวะกับการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ก็คงไม่พ้น"มดลูก"แน่นอน

ปกติตอนไม่ท้อง เจ้ามดลูก หรือ uterus จะมีน้ำหนักแค่ประมาณ 70 กรัม
เป็นอวัยวะเล็กๆที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ใกล้ๆกับกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ส่วนที่ต่อกับทวารหนัก

พอมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น มดลูกก็จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
โดยจะเริ่มคลำได้ เหนือหัวหน่าวขึ้นมาเป็นก้อนๆ ในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป
พอถึง 20 สัปดาห์ ก็จะอยู่ที่ระดับเดียวกับสะดือ จากนั้นก็จะโตเหนือสะดือขึ้นไปเรื่อยๆค่ะ

โดยมดลูกเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด จะมีความจุโดยเฉลี่ยถึง 5 ลิตร และมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโล (1100 กรัม) เลยทีเดียว

การตรวจหน้าท้องเพื่อดูขนาดของมดลูก เป็นการประเมินสุขภาพและการเติบโตของเด็กในท้องได้
แต่บางคนก็อาจจะไม่เป็นไปตามนั้น เช่นคุณแม่ที่สูงมาก หรือตัวเล็กมาก หรือเป็นครรภ์แฝด มีเนื้องอกมดลูก ขนาดมดลูกก็อาจจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์
ถ้าคุณหมอสงสัยว่ามดลูกจะไม่โตไปตามอายุครรภ์ ก็อาจจะใช้อัลตราซาวน์ตรวจเพิ่มเติม
เพื่อประเมินน้ำหนักเด็ก ดูปริมาณน้ำคร่ำ และหาว่ามีก้อนเนื้องอกอะไรรึเปล่าค่ะ

ในช่วงที่มดลูกขยายตัว อาจมีการยืดของเส้นเอ็น(ligaments)ที่ยึดมดลูกกับอวัยวะข้างเคียง
อาจทำให้บางคนรู้สึกปวดหน่วงๆท้องน้อยได้บ้าง ซึ่งถ้าอาการปวดไม่รุนแรง และไม่ได้มีอาการผิดปกติอื่น (เช่นเลือดออก)
ตรวจแล้วเด็กยังอยู่ดี ไม่ใช่อาการของการแท้ง ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ
แค่พักผ่อน ทานยาแก้ปวดเวลาที่ปวดขึ้นมา เมื่อายุครรภ์มากขึ้น อาการนี้ก็จะหายไปเองค่ะ
=======================
*** ระบบทางเดินอาหาร ***


ไล่ตั้งแต่ปากลงไปจนถึงก้นกันเลยนะคะ

- การเปลี่ยนแปลงของช่องปาก คนท้องอาจจะมีอาการเหงือกบวม ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมน ทำให้มีเลือดออกเวลาแปรงฟันได้
การดูแลรักษาทำเพียงแค่ดูแลความสะอาดให้ดี ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มๆ
ถ้าเลือดออกเยอะ หรือเหงือกอักเสบมาก ก็ควรไปพบทันตแพทย์ค่ะ
อ่านเรื่องการทำฟันเพิ่มได้ตามนี้ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=160017577510368&set=a.160279354150857.1073741899.138161163029343&type=3&src=https%3A%2F%2Ffbcdn-sphotos-f-a.akamaihd.net%2Fhphotos-ak-prn1%2F604168_160017577510368_1662011806_n.jpg&size=538%2C720

- กระเพาะอาหารและลำไส้ : ตัวมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น จะไปเบียดกระเพาะและลำไส้
นอกจากนี้ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป จะทำให้เกิดอาการของโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
คุณแม่อาจจะรู้สึกอึดอัดแน่นท้อง เรอบ่อย
สามารถแก้ไขเบื้องต้นโดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของเผ็ดหรือเปรี้ยว
หลีกเลี่ยงการนอนหลังกินอาหารทันที และถ้ามีอาการมาก ก็สามารถปรึกษาคุณหมอให้ยาบรรเทาอาการได้

- ริดสีดวงทวาร : เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากทีเดียว บางคนไม่เคยมีริดซี่มาก่อนก็มาเจอเอาช่วงนี้แหละ เกิดจากมดลูกไปกดเส้นเลือดในช่องท้องทำให้เกิดริดสีดวงง่ายขึ้น
ทางแก้คือการดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีกากใย ถ้าท้องผูกมากอาจให้ยาระบายช่วย ส่วนใหญ่หลังคลอดก็มักจะดีขึ้นเองได้

- ในเรื่องของการแพ้ท้องเคยเขียนไปแล้ว สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ตามนี้ค่ะ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=150058895172903&set=a.150672598444866.1073741860.138161163029343&type=3&src=https%3A%2F%2Ffbcdn-sphotos-f-a.akamaihd.net%2Fhphotos-ak-ash3%2F528369_150058895172903_970348857_n.jpg&size=275%2C183

================================
***ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ***


ช่วงท้องแก่ๆคงมีหลายคนบ่นปวดหลัง ปวดเอว ชามือชาแขน มันเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ คงกังวลกันบ้างใช่มั้ยคะ

ผลของฮอร์โมนในการตั้งครรภ์จะทำให้มีการยืดตัวของข้อต่อต่างๆมากขึ้น
ร่วมกับขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นตอนท้องแก่ จะเปลี่ยนศูนย์ถ่วงในการยืนของคุณแม่
ลักษณะหลังเวลายืนในช่วงนี้จึงจะมีการแอ่นหลัง (lordosis) มากกว่าปกติ (เพื่อไม่ให้ล้มไปข้างหน้า)
ทั้งหมดนี้อาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดเมื่อยแถวๆหลังช่วงล่าง บั้นเอว

นอกจากนี้การที่แอ่นหลัง ยังทำให้ช่วงคอนั้นต้องก้มกลับมาด้านหน้า และมีการห่อไหล่
ทำให้มีการดึงรั้งของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงแขน (median&ulnar nerves)
หลายๆคนจึงจะมีอาการชาที่แขนและนิ้วมือได้ค่ะ

การดูแลตัวเองในระหว่างนี้ ก็คือการหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ปวดมากขึ้น
เช่นเวลาก้มหยิบของที่พื้น ให้ลงไปนั่งยองๆแทนที่จะก้มเฉยๆ
หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง หารองเท้าสุขภาพที่ใส่สบายๆ
เวลานั่งให้เอาหมอนอิงมาหนุนหลัง ไม่ยืนหรือเดินนานจนเกินไป พักเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว

สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล และการประคบร้อน
หากมีอาการรุนแรงใช้ยาบรรเทาอาการเองแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมค่ะ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตั้งครรภ์นี้ 80% จะหายไปหลังคลอดค่ะ
มีส่วนน้อยที่จะเป็นปัญหาต่อระยะยาว
ถ้าไม่ดีขึ้นหลังคลอด ก็ควรไปปรึกษาคุณหมอนะคะ

หมอบาส@ใกล้มิตรชิดหมอ
www.facebook.com/Drnextdoor
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่