ช่วยแปล (ตีความ) ทีครับ จากหนังสือพระอัยการกระบดศึก ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1

"ศุภมัศดุศักราช1373กุกกุฏสังวัจฉระเชษฐมาศกาลปักเขปัญจมีดฤษถีพุทธวารกาลบริเฉทกำหนดพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตร...เสดจ์ออกณะพระธินั่งดิลกมาลามหาไพชนประสาท...จึงมีพระราชโองการมาณพระบันทูลสุรสีหนาทดำรัสให้ตราพระราชบัญญติเผดียงโฆษนาการแก่ชาวเจ้าเง่ายุพราชนาฏปิโยรสาพระภาคีไนย...อันมีพระราชอาณาเขตนครศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานี..."

ช่วยแปลให้ฟังคร่าวๆที่ครับ ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ผมลองนั่งคิดเองมาสองสัปดาห์แล้ว ยังคิดไม่ออก เลยว่าจะลองมาถามในห้องนี้ดูครับ ที่สันนิษฐานเองได้คร่าวๆคือ

ศุภมัศดุศักราช1373กุกกุฏสังวัจฉระเชษฐมาศกาลปักเขปัญจมีดฤษถีพุทธวารกาล น่าจะเป็นปีศักราชอะไรสักอย่างหนึ่ง
มีพระมหากษัตริย์เสด็จออกมา ณ ที่นั่งดิลกมาลามหาไพชนประสาท แล้วมีพระราชโองการให้ตรากฏหมายบังคับใช้แก่ชาวเจ้าเง่า (?)  ซึ่งอยู่ในเขตพระนครศรีอยุธยา

ที่ผมสงสัยคือ บริเฉทกำหนด หมายความว่าอะไร, พระราชโองการมาณพระบันทูลสุรสีหนาท หมายถึงอะไร, เผดียงโฆษณา คืออะไร, ชาวเจ้าเง่ายุพราชนาฏปิโยรสาพระภาคีไนย คือใคร

ถามเยอะเลย แหะๆ เท่าที่ลองอ่านๆเดาๆมาดูเหมือนจะยังเข้าใจข้อความได้ไม่ถึง 50% เลยครับ ยังไงรบกวนทุกท่านในห้องนี้ช่วยผมทีครับ T^T ขอบพระคุณล่วงหน้าอย่างสูงครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
เอาทีละอัน ช้าๆนะครับ

- ศุภมัศดุศักราช1373   หมายถึง มหาศักราช 1373 ตรงกับ พ.ศ.1996 รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 อยุธยา ใช้มหาศักราชแบบอินเดีย หลังเสียกรุงจึงใช้จุลศักราชแบบพม่า)

- กุกกุฏสังวัจฉระ ถอดคำ กุกกุฏ = ไก่ และ สังวัจฉระ = ปี  กุกกุฏ+สังวัจฉระ หมายถึง ปีระกา

- เชษฐมาศกาลปักเขปัญจมีดฤษถีพุทธวารกาลบริเฉทกำหนด ถอดคำ กำหนดกาล ณ วันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 7
1. เชษฐมาศ มาจาก เชษฐ = ดาวงาช้าง และ มาศ(มาส) = เดือน เมื่อรวมความ แปลว่า เดือนอันมีพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์ดาวงาช้าง ในทางโหราศาสตร์ หมายถึง เดือน 7 ตามจันทรคติ ซึ่งอยู่ราวเดือน มิถุนายน
2. กาลปักเขปัญจมี มาจาก กาล(กาฬ)ปักษ์ = เดือนแรม และ ปัญจมี = ที่ห้า เมื่อรวมความ แปลว่า แรม 5 ค่ำ
3. ดฤษถีพุทธวาร หมายถึง วันพุธ
4. กาลบริเฉทกำหนด หมายถึง ได้กำหนดกาลไว้

- พระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตร หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่พึ่งอย่างยิ่ง,พระเจ้าแผ่นดินที่เปรียบดั่งพระพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา

- เสดจ์ออกณะพระธินั่งดิลกมาลามหาไพชนประสาท หมายถึง เสด็จออกประทับบนพระที่นั่งดิลกมาลา (ชื่อพระราชบัลลังก์) ภายในพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท (ชื่อปราสาท-ภายหลังพระที่นั่งองค์นี้ถูกยกให้เป็นส่วนหนึ่งของวัดพระศรีสรรเพชญ์)

- จึงมีพระราชโองการมาณพระบันทูลสุรสีหนาทดำรัส หมายถึง จึงมีพระบรมราชโองการ (มาณพระบัณทูรสุรสีหนาท เป็นคำสร้อย หมายความรวมว่า คำสั่งอันยิ่งใหญ่ประดุจเสียงราชสีห์ของพระราชา)

- ให้ตราพระราชบัญญติเผดียงโฆษนาการแก่ชาวเจ้าเง่ายุพราชนาฏปิโยรสาพระภาคีไนย ถอดคำ เผดียงโฆษนาการ = ภาษาเขมร แปลรวมๆคือการบอกแจ้งข่าว ,ชาวเจ้าเง่า = เชื้อพระวงศ์ , ยุพราชนาฏปิโยรสา = พระทายาทโอรสธิดาอันเป็นที่รัก ,พระภาคีไนย = หลานลุง รวมความได้ว่า ให้ตรากฎหมายบอกแจ้งแก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง

- อันมีพระราชอาณาเขตนครศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานี หมายถึง อันมีในอาณาจักรอยุธยา (หมายความได้ทั้งอาณาจักรหรือเฉพาะตัวเมืองหลวง)

แปลรวมๆ สรุปได้ว่า
"มหาศักราช 1373 กำหนดกาล ณ วันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 7 ปีระกา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จออกประทับบนพระที่นั่งดิลกมาลา ภายในพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทจึงมีพระบรมราชโองการ ให้ตรากฎหมายบอกแจ้งแก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง อันมีในอาณาจักรอยุธยา"

ปล. พระไอยการกระบดศึกนี้ เป็นของเก่าครับ ตราสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีสองส่วน โดยส่วนแรก มาตรา 1-25 ตราในปี พ.ศ.1996 และส่วนที่สอง มาตรา 26-49 ตราในปี พ.ศ.1997 และมีปรับปรุงอีกสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ขอให้สังเกตว่ากฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่ของที่ตราขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการรวบรวมกฎหมายที่มีมาแต่โบราณมาจัดเป็นหมวดหมู่และรวมเล่มขึ้นใหม่ หลักการตรากฎหมายสมัยก่อนจะไม่นิยมทำใหม่ทั้งหมดแต่จะแทรกหรือปรับปรุงตามยุคสมัย เพราะมีคติว่ากฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระมโนสาราจารย์ เหาะขึ้นไปคัดลอกจากกำแพงจักรวาลมาให้มนุษย์ จึงไม่มีมนุษย์คนใคสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ (ผู้ที่เปลี่ยนกฎหมายได้มีเพียงพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้า)

ปล. 2 ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมครูสอนประวัติศาสตร์ชอบนำพระไอยการตอนนี้ มาสั่งเป็นใบงานให้นักเรียนแปลกันจัง และสั่งเหมือนกันหลายโรงเรียนด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่