อยากรวยหุ้น “อย่าโลภ”“ นิ้วโป้ง” อธิป กีรติพิชญ์

วันที่ 18 มิถุนายน 2556 01:00
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



“ดีเอ็นเอ” เลิฟการลงทุนของพ่อต่อสายส่งตรงถึงลูก “นิ้วโป้ง” อธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนแนว Fundamental VI ไม่รอช้าควักเงินตั้งต้นหลักแสนล้งหุ้น

เลือดพ่อแรง!!

วิถีแห่งการลงทุนแบบ Fundamental VI ของ “นิ้วโป้ง” อธิป กีรติพิชญ์ เจ้าของพอร์ตหุ้นมูลค่าหลักสิบล้าน ในฐานะวิทยากรสอนคอร์สสัมมนา “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน Value/Growth Investor” ประจำ Stock2Morrow ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่วัยเยาว์จากผู้เป็นพ่อเชื้อสายจีนไหหลำที่โล้เรือสำเภาจากเมืองจีนมาเมืองไทย

“กิจการค้าไม้แถวบางโพธิ์” ถือเป็นอาชีพหลักที่พ่อใช้หาเงินเลี้ยงคนในครอบครัว ก่อนจะผลันตัวเองมาเป็น “นักสะสมที่ดิน” เชื่อหรือไม่?!! ที่ดินผืนแรกที่พ่อควักเงินสดๆซื้อมา ยังคงอยู่เป็นสมบัติประจำตระกูล เพียงแต่แปลงสภาพจากที่ดินเปล่าเป็น “อพาร์ทเม้นท์ให้เช่า” หวังให้ลูกๆเก็บกินดอกผล ปัจจุบันครอบครัวได้ส่งไม้ต่อให้น้องสาวคนสุดท้อง จากพี่น้องทั้งหมด 3 คน รับหน้าที่ “กงสี” ดูแลธุรกิจค้าไม้และอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าต่อไป

เมื่อชีวิตต้องการ “อิสรภาพทางการเงิน” ทำให้เจ้าของแฟนเพจ “นิ้วโป้ง Fundamental VI” ใน Facebook ที่มีคนกดไลท์ 6,200 คน ภายในระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ตัดสินใจเข้ามา “ลองผิด-ถูก” ในตลาดหุ้น แม้ครั้งหนึ่งผู้เป็นพ่อจะเคยห้ามปราม หลังเคย “ขาดทุนหนัก” จากหุ้น ธนาคารนครหลวงไทย หลังโดนวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ถล่มยับ

“ตลาดหุ้นไม่ดี เมื่อเกิดวิกฤติ หุ้นจะมีมูลค่าเป็นศูนย์ทันที ไม่เหมือนที่ดิน มูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี” คำสอนของพ่อ "นิ้วโป้ง"

“พ่อนี่แหละไอดอลแห่งการลงทุน” อาจารย์โป้ง เปิดบทสนทนากับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” พ่อไม่เคยกู้เงินมาลงทุน บ้านเราไม่เคยมีหนี้ ซื้อทุกอย่างด้วยเงินสด คนจีนสมัยก่อนเป็นเยี่ยงนี้ละ วิถีการลงทุนอย่างเป็น “ธรรมชาติ” ของพ่อ สอนให้บรรดาลูกๆซึมซับโดยไม่รู้ตัว ก่อนท่านจะเสียชีวิตเมื่อปีก่อนท่านเพิ่งซื้อโกดังแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง แถวรัตนาธิเบศ หวังให้เป็นสมบัติของครอบครัว (ยิ้ม)

“ขยัน อดทน ประหยัด” พ่อพูดกล่อมลูกทุกคน “นิ้วโป้ง” สถบ..

ก่อนซื้อที่ดิน ครอบครัวเราจะหาข้อมูลทุกอย่าง เรียกว่า “ครอบจักรวาล” ถ้าเปรียบการลงทุนที่ดินเป็นหุ้น ก็เหมือนเราเป็น “นักลงทุนแนว VI” อย่างแรกต้องนำโฉนดที่ดินมาเช็คหมายเลข สำรวจราคาขายที่ดิน จากนั้นเราจะยกครอบครัวไปขับรถวนดูที่ดิน “เช้า-บ่าย-ค่ำ” ขั้นตอนสุดท้าย คือ “ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ครอบครัวเรานับถือ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” บริเวณเสาชิงช้า ถ้าผล “เสี่ยงเซียมซี” ออกมาอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น (ความเชื่อส่วนบุคคล)

“นิ้วโป้ง” ย้อนประวัติฉบับย่อให้ฟังว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ไปต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นได้เริ่มต้นชีวิต “มุนษย์เงินเดือน” ตำแหน่งวิศวกรใน “ทีทีแอนด์ที” (TT&T) หน้าที่หลักลากสายโทรศัพท์อยู่แถวเชียงใหม่ และภาคกลาง

ทำอยู่ 4 ปี ก็ลาออกไปทำงานเป็นผู้จัดการโครงการใน Siemens ตอนโน้นอุตสาหกรรมสื่อสาร “พีคมาก” จากนั้นไม่นานก็ออกไปทำ “หัวเหว่ย” 5 ปี ตอนนี้นั่งทำงานในตำแหน่งวิศวกรรม ณ บริษัทสื่อสารรายใหญ่แห่งหนึ่ง ไม่อยากเปิดเผยชื่อที่ทำงาน เพราะเวลาพูดถึงชื่อหุ้นตัวนี้ เดี๋ยวคนอื่นจะหาว่าเชียร์ออกนอกหน้า (ยิ้ม) เมื่อปี 2543 เคยเปิดโรงเรียนกวดวิชาชื่อ “ติวเตอร์ไทยดอทคอม”

เริ่มรู้จักการลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรก เมื่อปี 2544 ก่อนเหตุการณ์ 911 เพียง 2 เดือน “หนังสือตีแตก” ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นี่แหละตัวจุดประกายความอยากเป็นนักลงทุนแนววีไอ (ยิ้ม) ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่เคยมีใครพูดถึงตลาดหุ้นในแง่ที่ว่า “ซื้อหุ้นเหมือนการลงทุนในธุรกิจ” ทุกคนจะได้ยินเพียงว่า “ซื้อให้ว่อง ออกให้ไว หรือ ซื้อเช้า ขายเย็น เป็นค่ากับข้าว” (หัวเราะ)

อ่านจบปุ๊บ!! หอบเงิน 100,000 บาท ไปเปิดพอร์ตลงทุนกับบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เลือกจิ้มหุ้น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ในราคา 5 บาท เป็นตัวแรก ช่วงนั้นมั่นใจมาก (ลากเสียงยาว) เพราะวิเคราะห์ทุกอย่างมาดี “เรียกว่าตามหลักแนววีไอเป๊ะ!!” พื้นฐานดี ค่า P/E 7-8 เท่า และมูลค่าหุ้นทางบัญชีต่ำๆ

ถือได้ 2 เดือน ราคาหุ้น CPF เหลือแค่ 3 บาทกว่าๆ ทำให้พอร์ตการลงทุนช่วงแรกติดลบทันที 38% ทันที “พลาดท่า” เพราะเราไม่กระจายความเสี่ยงของพอร์ต ทุ่มเงินไปในหุ้นตัวเดียว แถมยังซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินสดเพียงไม้เดียว ทำให้ไม่มีโอกาสแก้ตัว

ที่สำคัญเรามัวแต่ดูกระจกหลัง โดยไม่มองไปข้างหน้า อธิบายง่ายๆ เราไม่พิจารณาสิ่งที่ควรระมัดระวัง ตอนนั้นหุ้น CPF เจอเหตุการณ์ 911 เล่นงานหนัก แถม “ซวยซ้ำหนัก” อีกรอบ จากเหตุการณ์ไข้หวัดนก โรคที่ยังไม่มีใครรู้จัก ผ่านมาไม่นานเจอกีดกันภาษีอีก โอ๊ย!! ข่าวร้าย 3 เด้ง

ฃบอกตรงๆตอนนั้นไม่เลียวดูหุ้น CPF เลย ปล่อยทิ้งไว้แบบนั้นหละ สงสัยจะติดนิสัยขายของยากเหมือนพ่อ (หัวเราะ) บนความโชคร้ายยังมีโชคดีซ่อนอยู่ “ผมได้เงินปันผลคืนกลับมาจากหุ้น CPF มากกว่าปีละ 1 ครั้ง เรียกว่าชนะดอกเบี้ยเงินฝาก แม้ราคาหุ้น CPF จะ “นอนหนาวบนยอดดอยแต่ก็ยังดีที่เขาให้ความอบอุ่นเราด้วยเงินปันผล”

ถือหุ้น CPF มา 4 ปี ตัดใจขายในราคา 7 บาท ตอนนั้นต้องนำเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว ทำให้ช่วงนั้นจำต้องเน้นลงทุนเล็กๆน้อย หนักไปทางซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพราะทำงานประจำไม่มีเวลาส่องตลาดหุ้น

ถามถึงกลยุทธ์สอยหุ้นเข้าพอร์ต? เขาตอบว่า เมื่อก่อนเคยปันใจอยากใช้กราฟเป็นตัวช่วย ศึกษาไปสักพัก รู้เลยไม่ใช่ตัวเรา เล่นกราฟต้องมี “จุดซื้อ-จุดขาย” ฉะนั้น “หุ้นพื้นฐาน” ดูจะเหมาะกับจริตของเรามากกว่า เมื่อก่อนดูแต่งบการเงินอย่างเดียว พักหลังอายุมากขึ้นผ่านอะไรมาเยอะแยะ จำต้องเปลี่ยนแนวมาวิเคราะห์หุ้นเชิงคุณภาพมากขึ้น

ลงทุนหุ้น อย่าโลภ ท่องไว้ให้ขึ้นใจ !!

ก่อนช้อนหุ้นสักตัวจะพิจารณา 5 ปัจจัยหลัก คือ 1.วิเคราะห์ธุรกิจ เน้นดูความขั้นเทพของธุรกิจ เช่น พูดชื่อมาแล้วผู้บริโภครู้จัก 2.วิเคราะห์อุตสาหกรรม ดูเรื่องการแข่งขันเป็นหลัก 3.วิเคราะห์กิจการเชิงคุณภาพ ด้วยการส่องเรื่องราวในอดีต เขาเติบโตด้วยอะไร 4.วิเคราะห์กิจการเชิงปริมาณ ด้วยการสำรวจงบการเงิน งบดุล กำไรขาดทุน ข้อสุดท้าย ดูความสามารถของผู้บริหาร เขาต้องอธิบายความเป็นตัวตนของบริษัทได้อย่างดี

ก่อนซื้อต้องหมั่นถามตัวเองว่า “โลภหรือเปล่า” ที่ผ่านมาใช้เวลาดูหุ้นก่อนตัดสินใจช้อนค่อนข้างนาน เพราะสัดส่วนการลงทุนอยู่ในรูปของหุ้นมากถึง 80% ที่เหลือเป็นเงินสด 20%

เขา เล่าต่อว่า ส่วนตัวจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 พอร์ต คือ พอร์ตออมหุ้น โดยจะซื้อหุ้นเข้าพอร์ต 10-20% ทุกๆวันที่ 20 ของทุกเดือน ตอนนี้มีหุ้นอยู่ 7-8 ตัว แบ่งเป็นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มประกันชีวิต

“ผมจัดพอร์ตลงทุนเหมือนจัดทีมฟุตบอล ในทีมต้องมีคนเก่งหลากหลายแนว”

จริงๆไม่เคยคาดหวังผลตอบแทนมากมาย ขอแค่พอร์ตออมหุ้นเติบโตปีละ 15% ก็ “หรูหรา” แล้ว ตั้งใจจะซื้อหุ้นเติมเรื่อยๆ จนถึงอายุ 60 ปี ที่ผ่านมามักรีวิวพอร์ตออมหุ้นปีละ 2 ครั้ง ผมหวังว่าเงินลงทุนปีที่ 1 จะเติบโตเป็น 16 เท่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า พอร์ตหุ้นจะเกิดเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด นี่คือความ “มหัศจรรย์” ของกำไรทบต้น

อีกพอร์ตเป็น “พอร์ตเงินก้อน” เราต้องหาจังหวะเหมาะสมเข้าลงทุน ยกตัวอย่าง เช่นหุ้น พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) เพิ่งเข้าไปซื้อช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปลายปี 2554 เล็งหุ้นตัวนี้มานาน แต่ไม่มีจังหวะ เมื่อสบโอกาสจึงนำเงินที่กั้นไว้ส่วนหนึ่งมาลงทุน ทุกวันนี้ยังไม่ได้ขายหุ้น PS เลย เชื่อป่ะ!!

“ผมเล่นหุ้นตามกระแสเงินสดที่มี ทำให้สามารถโกยผลตอบแทนจากราคาหุ้นและเงินปันผลแล้ว 50% จากนี้ไปขอแค่พอร์ตเติบโตปีละ 15% ทบต้นก็พอแล้ว แม้จะประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ครั้งหนึ่งก็เคย “เจ็บหนัก” เพราะหุ้น บ้านปู (BANPU)”

“นิ้วโป้ง” ปิดท้ายบทสนทนาด้วยการพูดถึง “หุ้นสื่อสาร” ว่า ปลื้มหุ้นกลุ่มนี้มากๆ ด้วยความที่คลุกคลีในแวดวงสื่อสารมานานกว่า 10 ปี ทำให้รู้จักทุกซอกทุกมุม ครั้งแรกที่รู้จักหุ้น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ราคาซื้อขายที่ 38 บาท วันนี้ทะยาน 270-280 บาทแล้ว

หุ้นลักษณะนี้ หลายคนเรียกว่า “Growth Stock” (หุ้นเติบโต) “ผมเพิ่งขายหุ้น ADVANC ไปเมื่อปี 2549 ตอนนั้นต้องใช้เงินซื้อเรือนหอ” ใครซื้อหุ้น ADVANC รับรองไม่มี “ขาดทุน” เพราะเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ แถมผลประกอบการยังติบโตดีสม่ำเสมอ

หากคุณลงมือสำรวจหุ้นสักหนึ่งตัว แล้วพบว่าหุ้นตัวนั้นมีมูลค่าแท้จริงสูง ประกอบกับเวลาเหมาะสม ขอจงอย่ารีรอ....

"นิ้วโป้ง" พูดถึงหนังสือ “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” ว่า “ผมภูมิใจนำเสนอพ็อกเก็ตบุ๊คที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์สต็อคทูมอร์โรว์เล่มนี้มาก ในหนังสือจะบอกเล่าเรื่องหุ้นเชิงปัจจัยพื้นฐาน “รับรองอ่านสนุก เข้าใจง่ายที่สุด นำไปใช้งานได้จริง”

หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้ต้องขอบคุณ “ป้อม” ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา” ประธานกรรมการบริหาร Stock2Morrow ใครอ่านรับรองคุ้ม เพราะจะถ่ายทอดประสบการลงทุนแนวเน้นคุณค่าตลอด 12 ปี “ผมเชื่อว่านักลงทุนวีไอที่รวยมากๆอาจมีจุดเริ่มต้นคล้ายๆกัน” ตลาดหุ้นเป็นเรื่องของการซื้ออนาคต เมื่อเห็นว่าวันข้างหน้าจะมีแต่เรื่องดีๆทุกคนย่อมตีค่าตีราคาหุ้นตัวนั้นสูง ลองอ่านดูเถอะ ไม่อยากเล่าเยอะ

ครั้งหนึ่งเคยเล่า “ความฝัน” ให้คุณป้อมฟังว่า อยากเห็น Stock2Morrow เป็นศูนย์กลางของการลงทุน สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเห็นใครในตลาดหุ้นทำ คือ หาคนที่มีความรู้จริงๆ ในอุตสาหกรรมนั้นๆมาบอกเล่าเรื่องราวที่เคยพบเจอให้นักลงทุนรายย่อยฟัง อีกไม่กี่เดือนเราจะจัดงานสัมมนารับรองงานนี้จะมีแต่กูรูเก่งๆมาเล่าโน่นนี่ให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่