คำขอจากใจผู้สร้างหนังไทย ปลดปล่อยหนังไทยเถิด!?

"ที่หนังบ้านเรามีปัญหาเพราะมันใหญ่ เมืองไทยจึงยอมรับไม่ได้ อย่างเรื่องโสเภณีพูดไม่ได้เวลาทำเป็นหนัง แต่พอเดินเลี้ยวไปก็เจอ ผมว่าถ้าไม่ขึ้นจอใหญ่ เขาคงไม่ยุ่ง เพราะพวกจอเล็กๆ มีตำบอนต่ำกว่าของเราเยอะ" นี่คือเสียงจาก ปุ๊ก-พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์

ผู้กำกับคนดังถึงสาเหตุที่หนังไทยถูกควบคุมจากภาครัฐ ระหว่างร่วมเสวนา "สิทธิหนังไทย : ฐานะสื่อและการกำกับดูแล" ที่หอศิลป์ กทม. เมื่อวันก่อน

ขณะที่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ บอกว่า "ภาพยนตร์มีพลังมาก พวกสังคมนิยมใช้ควบคุมคนมาแล้วมีประสิทธิผล ทุนนิยมเองก็ใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างฮอลลีวู้ดของอเมริกาทำเงินเข้าประเทศไม่รู้เท่าไหร่ รัฐจึงอยากเข้ามาจับตรงนี้บ้าง"

ซึ่ง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มองว่า การควบคุมดูแลหรือแบนสามารถทำได้ หากหนังเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เรื่องเพศ หรือเด็กและเยาวชน แต่ต้องไม่แบน เพราะขัดต่อภาพลักษณ์ของรัฐ หรือขัดต่อความมั่นคงดังเช่นที่บ้านเรากำลังทำอยู่

"หนังสามารถเลือกข้างได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง เพราะการยึดหลักความปรองดองเป็นเทคนิคของรัฐบาล คนทำหนังไม่ใช่อย่างนั้น แล้วรัฐต้องมีหน้าที่แนะนำประชาชนให้เชื่อ ไม่ใช่ทำตัวเป็นศาลตัดสินอีกขั้น เพราะมีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่แล้ว"

แถม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ยังดูจะจำกัดสิทธิคนทำหนังหนักกว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2473 อันเก่าเสียอีก

เพราะแม้จะมีการจัดเรตอายุผู้ชมแล้ว แต่การ "ห้ามฉาย" ก็ยังคงอยู่ ที่สำคัญยังคงไม่ถูกจัดเป็น "การสื่อสาร" ไม่ถูกยอมรับในฐานะ "สื่อมวลชน" ที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยไม่ต้องมีใครมาตรวจสอบเนื้อหาก่อนเผยแพร่ เว้นแต่ในยามสงคราม

คนทำหนังจึงเห็นตรงกันว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแก้ พ.ร.บ. โดยใส่คำว่า "สื่อมวลชน" แทนที่คำว่า "วัสดุ" ในมาตรา 4 ที่ว่า

"ภาพยนตร์" หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์

ซึ่งสามารถทำโดยอาศัยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเดินเรื่อง

หรือว่าอีกทางที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ฝ่ายสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมของไอลอว์ : โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน แนะนำคือล่ารายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อเสนอขอให้มีการแก้ไขเรื่องดังกล่าวไปที่สภา

พร้อมกันนั้นยังสามารถใช้วิธี "ตอดเล็กตอดน้อย" ที่แม้จะไม่เห็นผลทันที แต่อย่างน้อยก็น่าจะพอเห็นการเปลี่ยนแปลง

อย่างที่เมื่อ "อินเซค อินเดอะ แบ็คยาร์ด" ถูกสั่งแบน ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับได้ยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ขณะเดียวกันก็ได้ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ในประเด็นที่อีกฝ่ายให้เหตุผลในการแบนเพียงว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ไม่ระบุรายละเอียดชัดเจนว่าขัดอย่างไร รวมถึงไม่เรียกผู้สร้างเข้าไปชี้แจงก่อนจะมีคำสั่ง

"เรื่องนี้ถึงยังรอผลวินิจฉัยของศาลปกครองอยู่ แต่ก็สร้างผลกระเทือนกับกรรมการเซ็นเซอร์บ้าง เพราะเรื่อง ?เช็คสเปียร์ต้องตาย? และ ?ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง? ที่จะโดนแบนหลังจากนั้น เขาก็ชี้แจงมาว่าขัดตรงไหน นาทีที่เท่าไหร่ แล้วก็เรียกผู้สร้างเข้าไปชี้แจงก่อนแบนด้วย" เขาบอก

นอกจากนี้อีกวิธีที่ทำได้ คือ ต่อไปหากมีหนังเรื่องใดโดนแบน ผู้สร้างก็อาจฟ้องคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ เรื่องการขาดคุณสมบัติของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ ควบคู่ไปด้วย

คณะกรรมการที่อภิชาติพงศ์มองว่า "มีปัญหา" ทั้งที่เป็นข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสในการแต่งตั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่มีการแจงคุณสมบัติความเหมาะสมของคณะกรรมการให้ประจักษ์ ซึ่งโดยหลักแล้วควรมี "สอบ" เพื่อคัดคนที่สมควร จะได้ไม่เกิดข้อกังขาว่าการที่มีคณะกรรมการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบางส่วนเป็นคนวัยเกษียณอายุแล้วนั้น เป็นการนำระบบพวกพ้องมาใช้หรือเปล่า

ขณะที่ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับการแสดงชื่อดัง เล่าว่า สมาพันธ์ภาพยนตร์ฯเคยทำคู่มือเพื่อเป็นกรอบดุลพินิจของกรรมการเซ็นเซอร์ ในนั้นรวบรวมข้อมูลจากคนในแวดวงหนังและอื่นๆ ที่ตีความเรื่อง "ความหยาบคาย", "เพศ" แถมแยกการจัดเรตเป็นตารางชัดเจน ส่งมอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเรียบร้อย แต่ดูเหมือนคู่มือเล่มนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้ ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบแน่ชัด

ดังนั้น "คราวหน้าต้องฟ้อง ฟ้องไปว่ากรรมการ 7 คน ขาดคุณสมบัติ ซึ่งเขาจะมีหน้าที่ไปหาข้อแก้ต่างมา เพื่อครั้งหน้าถ้าเขาจะตั้งคณะกรรมการจะได้คิดให้มากขึ้น"

เหล่านั้นล้วนเป็นทางแก้ระยะยาว

สำหรับระยะสั้น อภิชาติพงศ์เสนอว่า "ให้ล้มล้าง พ.ร.บ.แล้วตั้งเป็นองค์กรอิสระ หรือสภาวิชาชีพไปเลย"

รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์-วีดิทัศน์ ม.เกษมบัณฑิต ก็เห็นด้วย

"พ.ร.บ.นี้โดนล็อก 2 ชั้น ทั้งจัดเรต ทั้งเซ็นเซอร์ ยกเลิกได้เลย ไม่มีประโยชน์ เพราะหนังยังมีกฎหมายอื่นรองรับ ถ้าอยากให้หนังเป็นสื่อ เราต้องต่อสู้ให้ชัด ต้องดูแลกันเอง จัดตั้งสภาองค์กรที่มีอิสระ มีวุฒิภาวะ มีบุคลากรที่มีความคิด ถ้าอยากให้อุตสาหกรรมหนังโตจริงมีทางนี้ทางเดียว" เขาว่า

ก่อนจะทิ้งท้าย "ที่ผ่านมาเราเป็นเด็กดีเกินไปหรือเปล่า เขาเซ็นเซอร์เรายังไปขอบคุณ ไปจ่ายเงินให้เขา เราอาจต้องลุกเป็นตัวร้ายล่า 10,000 ชื่อ"

"ถึงเวลาที่เราอาจต้องยืนขึ้น"

หน้า 26,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่