วิกฤติ! 'แต้วแล้วท้องดำ' สร้างสำนึกอนุรักษ์...ก่อนสูญพันธุ์!

กระทู้ข่าว
.......................หากจะกล่าวถึงคุณค่าของนกที่อาศัยอยู่ในทุกทวีปทั่วโลกนั้นนับว่ามีมากมาย โดยนกหลากหลายชนิดที่ปรากฏในผืนป่า แหล่งชุมชน ฯลฯ นับเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมช่วยให้ระบบนิเวศดำรงอยู่ได้อย่างสมดุล

                       จากสภาพภูมิประเทศของไทยซึ่งตั้งอยู่ในแถบร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร สภาพธรรมชาติที่มีความหลากหลายของผืนป่าในประเทศไทยจึงเป็นแหล่งอาศัยของนกนานาชนิด ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกย้ายถิ่นที่อพยพเข้ามาสร้างรังวางไข่ในบางช่วงฤดูกาล แต่จากการศึกษาสำรวจล่าสุดพบว่า “นกแต้วแล้วท้องดำ” นกที่ได้รับการกล่าวขานถึงความสวยงามเป็นดั่ง “อัญมณีแห่งผืนป่า” กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย!!

                       นสพ.เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เหรัญญิกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบนกไม่น้อยกว่า 1,014 ชนิด ซึ่งถือเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนชนิดนกทั่วโลกซึ่งหากเทียบกับทวีปยุโรปซึ่งมีพื้นที่มากกว่าเกือบ 20 เท่า แต่พบนกเพียง 700 ชนิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของนกในประเทศไทยที่มีอยู่มากและมีคุณค่าในระดับนานาชาติ จึงทำให้นกของประเทศไทยกว่าร้อยละ 98 มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

                       นกแต้วแล้วท้องดำเป็นหนึ่งในนกที่นักนิยมธรรมชาติและนักดูนกทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจ โดยนกแต้วแล้วท้องดำมีการกระจายพันธุ์เพียง 2 ประเทศคือ ประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย เรียกได้ว่ากว่าร้อยละ 90 ของนักดูนกจากทั่วโลกที่ได้สัมผัสความงามของนกแต้วแล้วท้องดำล้วนแล้วแต่เดินทางมาพบที่ประเทศไทย

                      “จากการศึกษาการดำเนินงานอนุรักษ์ของสมาคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องพบข้อมูลการลดลงของนกแต้วแล้วท้องดำเรื่อยมา ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมามี การบันทึกภาพนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมียจับคู่กับนกแต้วแล้วลายเพศผู้ ซึ่งเป็นการจับคู่อย่างผิดธรรมชาติ และอาจเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่านกแต้วแล้วท้องดำในธรรมชาติมีจำนวนประชากรน้อยมากจนนกตัวเมียถูกบังคับให้จับคู่กับนกเพศผู้คนละชนิด หรือผืนป่าถูกทำลายแบ่งแยกเป็นหย่อมป่าเล็ก ๆ จนประชากรนกไม่สามารถเดินทางไปหากันได้ ปรากฏการณ์นี้น่าจะส่งสัญญาณถึงการสูญพันธุ์ที่ใกล้มาถึง ดังนั้นจึงต้องสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจช่วยกันปกป้องดูแลก่อนที่นกจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย”

                       นกแต้วแล้วท้องดำมีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นว่า “นกเต้นหัวแพรหรือนกเต้นสี” (Gurney’s Pitta) ชื่อวิทยาศาสตร์ Pitta gurneyi เป็นนกขนาดเล็ก รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ขนาดใกล้เคียงกับนกเอี้ยง

                       นกตัวผู้หัวสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้าสดใส หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องมีแถบสีดำขนาดใหญ่สมชื่อ ส่วนตัวเมียกระ หม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น

                       นกแต้วแล้วท้องดำเป็นนกที่มีความสวยงามเคียงคู่กับผืนป่า หากินด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกิน หรืออาจขุดไส้เดือนขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบและสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก โดยเฉพาะในช่วงเลี้ยงลูกอ่อน

                       ช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่นกแต้วแล้วท้องดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทยจะจับคู่ผสมพันธุ์ในป่าดิบชื้นที่ราบต่ำผืนสุดท้ายบริเวณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ตำบลคลองท่อมเหนือ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหย่อมป่าที่เดียวในประเทศไทยที่พบนกชนิดนี้และเป็นที่ที่นักนิยมธรรมชาติและนักดูนกจากทั่วโลกทราบดีว่าหากจะชมความงดงามของนกแต้วแล้วท้องดำในธรรมชาติต้องมาที่นี่

                       อีกทั้งนกแต้วแล้วท้องดำยังเป็นนกที่มีคนต้องการเห็นในธรรมชาติมากที่สุดชนิดหนึ่ง และแม้จะพบนกชนิดนี้ได้ในประเทศเมียนมาร์แต่อย่างไรแล้วในจำนวนตัวเลขก็ลดลงเช่นกัน

                       นกแต้วแล้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2418 ที่ประเทศเมียนมาร์จากนั้นมีรายงานการพบเรื่อยมาในช่วงปีพ.ศ.2453-2463 กระทั่งมีรายงานทางวิทยาศาสตร์พบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2495 จากนั้นไม่มีรายงานการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำอีกเลยจนทำให้เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว

                       ต่อมา มีรายงานพบอีกครั้งที่ป่าดิบชื้นที่ราบต่ำความสูงไม่เกิน 100 เมตร จากระดับน้ำทะเลที่บริเวณบ้านบางเตียว ใกล้เขานอจู้จี้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2529 โดย ดร.ฟิลิปดี.ราวด์ (Phillip D. Round) และ อุทัย ตรีสุคนธ์ โดยใช้เวลาทั้งหมด 4 ปีในการค้นหา หลังจากได้มีความพยายามที่จะอนุรักษ์ประชากรนกแต้วแล้วท้องดำอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

                       จากวันที่มีการพบนกแต้วแล้วท้องดำซึ่งไม่น้อยกว่า 40 คู่ แต่ปัจจุบันนกแต้วแล้วท้องดำลดจำนวนลงเช่นเดียวกับผืนป่าดิบชื้นที่ราบต่ำถูกทำลาย ซึ่ง คาดว่ามีนกแต้วแล้วท้องดำเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 13 ตัว แบ่งเป็น เพศผู้ 8 ตัว และเพศเมีย 5 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากสำหรับการเพิ่มประชากรในอนาคต ซึ่งองค์การอนุรักษ์นกสากลหรือ Birdlife International จัดนกชนิดนี้ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่สำหรับในประเทศไทยจัดว่าเป็นนกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด

                      “การสูญพันธุ์ของอัญมณีแห่งผืนป่ามีความเด่นชัดขึ้นจากที่กล่าวถึงการบันทึกภาพนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมียจับคู่กับนกแต้วแล้วลายเพศผู้ จากสถานการณ์เบื้องต้นแสดงว่าฤดูผสมพันธุ์ปีนี้จะมีนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมียจับคู่เพียง 4 ตัวและจากการศึกษาวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระหว่างปี พ.ศ.2546-2550 พบว่านกจะสร้างรังสำเร็จเพียงร้อยละ 37.5 และกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่มีผลต่อการทิ้งรังถึงร้อยเปอร์เซ็นต์

                       ส่วนอัตราการรอดชีวิตของลูกนกมีเพียงร้อยละ 8.3 หรือ 0.25 ตัวต่อรัง หากคำนวณคร่าว ๆ ปีนี้อาจได้นกแต้วแล้วท้องดำเพิ่มอีก 1 ตัว ซึ่งหากเป็นเพศผู้ก็จะทำให้สัดส่วนประชากรนกในพื้นที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติมากขึ้น แต่หากเป็นเพศเมียเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ถ้านกแต้วแล้วท้องดำไม่ไปจับคู่กับนกแต้วแล้วลายเพิ่มอีก”

                       ปัจจัยการลดจำนวนลงของนกแต้วแล้วท้องดำมีสาเหตุจากการบุกรุกทำลายที่อยู่อาศัยโดยตรง ได้แก่ การทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของนกตามธรรมชาติจากการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากที่กล่าวมีเพียงแค่ประเทศไทยและเมียนมาร์ ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการอนุรักษ์ในอนาคตอันใกล้นี้นกชนิดนี้ก็อาจสูญพันธุ์ไปจากโลกด้วยน้ำมือของมนุษย์

                       การประสานความร่วมมือทำความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์นกและธรรมชาติในพื้นที่นับเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นหัวใจที่จะทำให้สถานการณ์ของนกแต้วแล้วท้องดำดีขึ้น โดยที่ผ่านมาสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีโครงการฟื้นฟูสถานภาพนกแต้วแล้วท้องดำทั้งในส่วนงานสำรวจ งานวิจัย งานชุมชน และงานเยาวชนร่วมกันทำงานอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำในระยะยาว

                       อีกทั้งการร่วมกันช่วยดูแลปกป้องอย่างเข้มแข็งและดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วนก็จะช่วยรักษาอัญมณีแห่งผืนป่าให้ได้รับการคุ้มครองโดยที่ไม่ต้องกล่าวคำอำลานกแต้วแล้วท้องดำครอบครัวสุดท้ายของประเทศไทยและของโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้.

                      “นกแต้วแล้วท้องดำเป็นหนึ่งในนกที่นักนิยมธรรมชาติและนักดูนกทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจ โดยนกแต้วแล้วท้องดำมีการกระจายพันธุ์เพียง 2  ประเทศคือ ประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย  เรียกได้ว่ากว่าร้อยละ 90 ของนักดูนกจากทั่วโลกที่ได้สัมผัสความงามของนกแต้วแล้วท้องดำล้วนแล้วแต่เดินทางมาพบที่ประเทศไทย”

........................นก 10 ชนิด ของไทยที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

                        นก 10 ชนิด ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) (IUCN) กล่าวถึง ได้แก่
        1.นกยูงไทย (Green Peafowl)
        2. เป็ดก่า (White-winged Duck)
        3. เป็ดดำหัวดำ (Baer’s Pochard)
        4. เป็ดปากยาวข้างลาย (Scaly-sided Merganser)
        5. นกฟินฟุตเอเชีย (Masked Finfoot)
        6. นกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank)
        7. นกปากช้อนหน้าดำ (Black-faced Spoonbill)
        8. นกกระสาคอขาวปากแดง (Storm’s Stork)
        9. นกตะกราม (Greater Adjutant) และ
        10. นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta)
........................โดยทั้ง 10 ชนิดนี้นกแต้วแล้วท้องดำหายากที่สุดและใกล้หมดไปจากประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้.

ที่มา  http://www.dailynews.co.th/article/224/207519








แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่