ตอนจบบ้านทรายทองไฟไหม้ หรือกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง

'คู่กรรมที่เพี้ยนที่สุด','ขาดจิตวิญญาณของคู่กรรม','เสียดายบทประพันธ์ สงสารป้าอี๊ด ทมยันตี' เป็นดั่งเสียงห่าอิฐที่กระหน่ำเข้ากระแทกภาพยนตร์'คู่กรรม' ของผู้กำกับ เรียว กิตติกร ดังคลอไปกับเสียงอังศุมาลินเพ้อ "เลาจะลอ" ซึ่งนี่อาจเป็นแผลรอยใหญ่ที่สุดของ'คู่กรรม'เวอร์ชั่นนี้ (ถ้าเราไม่หันไปมองน้องริชชี่ อังศุมาลินเวอร์ชั่นนี้ ที่ยืนเป็นเป้าหลักของห่าอิฐ)

และนึกย้อนกลับไปไม่กี่เดือน ยังพบคำกล่าวลักษณะนี้ได้จากเสียงตอบรับต่อหนังคู่'จันดารา' ของหม่อมน้อย ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่บอกว่าดัดแปลงได้พิเรนทร์ยิ่งกว่าเซ็กส์วิตถารในต้นฉบับเสียอีก คุณแม่ดาราโดนโจนนุมโทรมยังไม่ชวนช๊อคเท่ากับหลานเคน กระทิงทองไปนาซ่า เสียงประนามว่านี่เป็นการ'ปู้ยี่ปู้ยำบทประพันธ์คลาสสิก' และถ้ายิ่งกับกรณีผู้ประพันธ์คือทมยันตี เป็นถึงศิลปินแห่งชาติแล้ว เราก็ได้ยินเสียงก่นเกรี้ยวใส่การตีความใหม่ว่า "ทมบันตีเป็นถึงศิลปินแห่งชาติอายุมากกว่าพวกคุณ(คนทำหนัง, คนดูที่ปกป้องหนัง) แล้วคุณเป็นใครถึงกล้าตีตนเสมอท่าน(ด้วยการไปตีความหนังสือท่านใหม่)!"

(ถ้าวงการวิจารณ์เราจะจมปลักอยู่กับตรรกะแบบนี้ ก็อยากให้กลับไปใช้ภาษาไทยบนศิลาจารึกหลักที่หนึ่งต่อไป ทำไมล่ะ พ่อขุนรามคำแหงเป็นถึงพระมหากษัตริย์สุโขทัยเลยนะ คุณเป็นใครตีตนไปปรับแปลงภาษาเขียนของพระองค์!)

ก่อนที่เราจะตัดสินว่าการตีความใหม่ เขียนใหม่ อ่านใหม่เป็นสิ่งไม่ดี ขอให้กลับไปมองผลตอบรับต่อหนังไทยอีกเรื่องนั่นคือ'พี่มากพระโขนง' ที่มหาชนต่างชื่นชม บทสรุปของพี่มากกับนางนาคในหนังบิดพลิ้วไปไกลกว่าความคุ้นชิน ต่อเรื่องผีนางนาค แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับในทำยอง 'ขาดจิตวิญญาณของนางนาค'(ซึ่งก็ขาดไม่ได้อยู่แล้วเพราะนางนาคเป็นวิญญาณในตัวของนางเอง) 'เสียดายประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริง สงสารผีอีนาคที่โดนปู้ยี้ปู้ยำ' ละอื่นๆ ใน'พี่มากพระโขนง' กระแสตอบรับการตีความใหม่เป็นไปในทางบวก ซึ่งถ้าเราตัดระเด็น brand loyalty ต่อค่ายหนัง ก็อาจมองได้ว่าการตีความใหม่ไม่ใช่อาชญากรรมในตัวของมันเอง (แต่ก็ต้องแยกประเด็นด้วยว่า การตีความใหม่ก็ไม่ได้แปลว่าหนังจะดี การตีความใหม่กับการฝีมือการนำเสนอของผู้สร้างหนังคนบละเรื่อง)

"ความซื่อสัตย์อาจใช้ได้ดีกับชีวิตสมรส แต่กับการดัดแปลงหนังสือเป็นหนัง ผมว่าวอกแวกแฉลบไปมาน่าจะได้งานที่ดีกว่า" ไบรอัน แม๊กฟาเลน เขียนไส้ในบทความ 'It Wasn't Like That in the Book' ซึ่งน่าจะสรุปปัญหาพื้นฐานสุึดต่อการดัดแปลงได้ชัดเจน แต่น่าสังเกตุว่าผู้ชมส่วนใหญ่เวลาดูหนังในกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เปรียบเทียบมันกับ'ต้นฉบับ' ที่เป็นหนังสือหรือนวนิยายเท่านั้น หลายครั้งยังเปรียบเทียบหนังกับละครทีวีเวอร์ชั่นก่อนๆ เช่น "คู่กรรมของพี่เบิร์ดซึ้งกว่า","จันดาราของนนทรีย์ถ่ายทอดดีกว่า" ละอื่นๆ ดังนั้น ปัญหา่ของคนดูอาจไม่ใช่การดัดแปลงข้ามสื่้อ แต่เป็นการตีความเสียมากกว่า ดังจะเห็นได้จากกรณี คู่กรรม ฉบับล่าสุด

แต่เรื่องที่น่าสนใจเกิดขึ้น คู่กรรม คือ ขณะที่แฟนๆหนังสือพยายามทวงคืนการตีความอย่างดุเดือด(ประหนึ่งคู่กรรมเป็นเขาพระวิหาร) ตัวทมยันตีก็ให้สัมภาษณ์ว่าชื่นชมหนังฉบับนี้ อังศุมาลินคนนี้ก็ตรงตามใจคิด กระนั้นแฟนหนังสือก็ไม่หยุดต่อต้านหนังและมองว่าทมยันตีแก้ตัวให้หนังเฉยๆ พวกเขาเลือกที่จะเพิกเฉยต่อความเห็นของผู้เขียนที่พวกเขาอ้างความศักดิ์สิทธิ์ไปว่าเป็นเจ้าของเรื่อง พวกเขาเห็นต่างจากทมยันตี แต่กฌยังรู้สึกผูกพันกับคู้กรรมในแบบที่ตัวเองเข้าใจ จึงมีการเบนความสนใจจากการปกป้อง'คู่กรรมของทมยันตี'มาที่การปกป้อง'คู่้กรรมของฉันเอง'

เมื่อนั้นก็เหมือนงูกินหางตัวเอง ถ้าในตอนแรกแฟนหนังสือวางความศักดิ์สิทธื์สูงสุดไว้ให้ผู้ประพันธ์ว่าคือผู้กุมความหมายหรือมีอำนาจหนือตัวหนังสือที่ตนเขียนขึ้น (ผู้เขียนย่อมเข้าใจหนังสือตัวเองดีที่สุด) แต่กลับสามารถทำเป็นลืมคนเขียนไปได้และยืนยันความเป็นเจ้าของคู่กรรมตามความเข้าใจและการตีความของตนเอง  ดังนั้น ตรรกะที่แฟนหนังสือยึดไว้ในคราวแรกก็ย่อมสลายหายไป ในเมื่อสิทธิ์การเป็นเจ้าของความหายไม่ใช่คนเขียนเสียด้วยซ้ำ (เราเพิ้่งปฏิเสธความเห็นผู้เขียนไป) สิทธิ์นั้นจึงเป็นของใครก็ได้ทั้งแฟนหนังสือและผู้สร้างหนัง การตีความสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายแล้วแต่บุคคล และไม่มีการตีความชิ้นไหนพิเศษกว่ากัน

การดัดแปลงโดยตีความใหม่นั้นแท้จริงไม่ใช่เรื่องแปลก ประหลาด อย่างน้อยในแวดวงภาพยนตร์โลกที่หนังหลายเรื่องที่ตีความใหม่จากวรรณกรรมขึ้นหิ้ง เช่น Great Expectations(1997) ที่เปลี่ยนบริบทจากลอนดอนยุคศตวรรษที่19 มาเป็นนิวยอร์คศตวรรษที่20, Wuthering Height (2011) จากวรรณกรรมอังกฤษคลาสสิกที่ตีความตัวเอกของเรื่องจากหนุ่มผิวขาวเป็นหนุ่มผิวดำ หรือถ้าให้สุดกู่หน่อย ผู้กำักับหนังและละครเวทีเชิงทดลองสุดขั้งจากอิตาลีอย่าง การ์เมโล เบเน ยังเคยกำกับ Romeo and Juliet เวอร์ชั่นไม่มีโรมิโอมาแล้ว!! เื่พื่ออะไร? เพื่อมองหาความเป็นไปได้อื่นจากต้นฉบับ ถ้าไม่มีโรมิโอ พวกตัวละครรองๆจะได้มีบทบาทมากขึ้นบ้าง

แฟนานุแฟนวรรณกรรมคลาสสิกขึ้นอาจปุจฉาพาทีว่า ถ้าจะดัดแปลงเยอะขนาดนี้ ทำไมไม่เขียนเรื่องใหม่ไปเลยล่ะ ทำไมยังต้องใช้ชื่อ ใช้ตัวละครเดิมกับตัวต้นฉบับด้วยให้สาวกเขาสะเทือนใจ เดบอราห์ คาร์ตเมลล์ อธิบายการดัดแปลงประเภทหนึ่งนั่นคือ การ Commentary ที่ตัวงานดัดแปลงคอมเม้นต์กลับไปยังตัวบทต้นเรื่อง

หนึ่งในเทรนด์งานดัดแปลงที่น่าสนใจในโลกตะวันตกคืองานวรรณกรรมที่ได้รับแนวคิดหลังอาณานิคม สตรีนิยม และเควียร์ศึกษา นักเขียนจำนวนมากที่มาจากประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้น เป็นผู้หญิง หรือ LGBT (Lesbians Gay Bisexual and Transgender) ได้นำวรรณกรรมคลาสสิกมาเขียนใหม่โดยใช้โครงเรื่อง ตัวละครเดิมเพื่อเผยให้เห็นว่าวรรณกรรมคลาสสิกเหล่านั้นมีกลไกภายในเรื่องอะไรบ้างที่กดทับคนชนชาติอื่น ผู้หญิง หรือเพศวิถีนอกกระแสให้กลายเป็น'คนอื่น' เช่น Coetzee นักเขียนแอฟริกาใต้เขียน Foe เพื่อตอบโต้ Robinson Crusoe ที่ปิดทับเสียงของผู้หญิงและคนผิวดำ หรือ Rhys นักเขียนหญิงชาวโดมินิกันเขียน Wide Saragossa Sea เพื่อตอบโต้ Jane Eyre ที่สร้างตัวละครหญิงลูกครึ่งชาวแคริบเบียนให้เป็นบ้าเพื่อเทียบกับตัวนางเอกที่เป็นผู้หญิงผิวขาวปกติ

เหตุใดต้องเป็นวรรณกรรมคลาสสิก? เพราะวรรณกรรมกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก มันถูกนำมาสอนในโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับ ถูกผลิตซ้ำบ่อยๆผ่านสื่อต่างๆ ดังนั้น ค่านิยม โลกทัศน์ ที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างมีอคติตั้งแต่ยุคอาณานิคม, ชาตินิยม, ปิตาธิปไตย หรือเหยียดเพศ ก็จะถูกวนใช้ซ้ำไปมาจนเหมือนเรื่องปกติ นี่อาจสามารถตอบคำถามข้างต้นว่าทำไมต้องดัดแปลงเอาวรรณกรรมเดิมมาเขียนใหม่ ทำไมไม่เขียนแยกไปเขียนเรื่องคนดำ ชนกลุ่มน้อย ผู้หญิง เกย์ เลสเบี้ยนในเรื่องใหม่ไปเลย มาทำตัวเป็นปรสิตเกาะกินหิ้งบูชาทำไม...ก็ในเมื่อหิ้งบูชาเหล่าเกาะกินและหาผลประโยชน์กับคนดำ ผู้หญิง เกย์ เลสเบี้ยนผ่านกระบวนการต่างๆมาตั้งแต่ต้น การตอบโต้ควรจะเกิดขึ้นในพื้นที่การหากินเอาประโยชน์เกิดขึ้นด้วย

สิ่งที่น่าสนใจที่งานตีความใหม่เหล่าทำคือ การเผยให้เราเห็นความคลอนแคลบนของโลกทัศน์แบบเดิมๆ ที่แฝงฝังอยู่ในงานเหล่านี้ ความคลอนแคลนที่นำไปสู่ช่องโหว่ให้เราแอบมองเห็นอนาคตแบบอื่น อนาคตที่สุ้มเสียงสำเนียงอื่นๆจะผุดเผยออกมาให้เราได้ยินหลังจากฟังแต่เสียงของโครงสร้างสังคมเดิม คู่กรรม ที่มิใช่ฉบับรองรับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดิม แต่เป็นเรื่องของวัยรุ่นไม่ประสาสองคนมาเจอและรักกัน เอาโรมิโอพระเอกที่กดทับออกไป เพื่อให้เสียงของตัวละครรอง เสียงของตัวละครที่ไม่เคยมีพื้นที่บนเวทีได้พูดบ้าง

ที่มา :: Deep Focus/ดูหนังอย่างผู้ดีมีศีลธรรม By สิวิกา่ แซ่ฮ่องนารีผู้กลั้นฉี่ได้นานที่สุดในสิบสองปันนา @Bioscope 136

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่