"จดทะเบียนซ้อนซ่อนรัก" ระวังติดคุก !!!

เกือบติดคุกเสียแล้ว คอลัมน์ ฎีกาชีวิต  โดย พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช  มติชน 25 พ.ค. 2556

เรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นคดีความในศาลถึงสามศาล สื่อความหมายให้สังคมรู้ว่าในแต่ละวันเกิดปัญหามากมายแตกต่างกันไป ตัวเราเองอาจเป็นหนึ่งปัญหาหรือไม่ก็ได้ อย่าได้ประมาทเป็นดี

เพียงแต่ว่า ในชีวิตจริงใช่ว่าปัจเจกบุคคลอยากจะค้าความกันถึงขั้นฟ้องร้องสู้คดีกันถึงสามศาลก็หาไม่ หรือแม้แต่จะคิดฟ้องรัฐหรือตกเป็นจำเลยทางอาญาแผ่นดิน

ในแต่ละวันของชีวิตครอบครัวก็เช่นกัน สามีภริยาอาจขัดใจกันเง้างอนเข้าหากันทะเลาะกัน หรือไม่ยอมพูดกันเป็นอาทิตย์อาจมาจากหลายสาเหตุสรุปเหมารวมเพราะความคิดต่างกันก็ดีน่ารักไปอีกแบบหนึ่ง ถือว่าเป็นปกติของชีวิตคู่

ถ้าไม่มีเรื่องราวเกิดขึ้นข้างต้น ก็ให้ดูว่าผิดปกติและน่าสนใจทีเดียว ให้สงสัยอยู่คนเดียวว่ามีความจริงเช่นนี้หรือ? หากมีจริงให้ถือว่าชีวิตสามีภริยาคู่นี้ควรเป็นตัวอย่างที่ดีและควรเผยแพร่หลักคิดหลักปฏิบัติ

เพราะสภาวการณ์ทางสังคมเกิดสิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติทางสังคมเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่เว้นชีวิตครอบครัวหรือชีวิตรักของคนหนุ่มสาวที่ไม่สมปรารถนา

ต่างลงเอยด้วยการชายทำร้ายหญิงหรือทิ้งภริยาให้อยู่กับลูกคนเดียวหรือแอบไปมีหญิงคนใหม่รุนแรงถึงขั้นหย่ากันดีๆ หรืออาจต้องฟ้องหย่า หรือให้มีอันต้องฆ่าให้ตายกันไปข้างหนึ่ง

นั่นคือเรื่องจริงที่เกินปกติปล่อยให้อารมณ์ครอบงำหรือเป็นเพราะความเห็นแก่ตัวหลงตัวเองหรือตามแต่ใจตนจนมองข้ามความสำคัญภริยาตนเอง ทำนองนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งน่าสนใจทีเดียว จึงนำมาเสนอเป็นตัวอย่างไว้เตือนใจ "หนึ่งชายสองเมีย" ชายที่เชื่อว่าซื่อสัตย์กับภริยาจึงจดทะเบียนสมรสให้เธอทั้งสองคน หรือที่เรียกว่า "จดทะเบียนซ้อนซ่อนรัก" หรือถ้าให้พูดกันตรงๆ ก็คือซ่อนภริยาคนแรกจดทะเบียนสมรสกันอยู่แล้ว

เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องจริงหาใช่อิงนิยายไม่ ก่อนหน้ายุคพัฒนาเทคโนโลยีการคมนาคมสื่อสารเจริญก้าวหน้าดั่งยุคปัจจุบันนี้ ข้อมูลข่าวสารเรื่องชายใดจดทะเบียนสมรสกับหญิงใดมาแล้วจะตรวจสอบรายใดก็ต้องไปที่ท้องที่นั้น ประเทศไทยกว้างใหญ่คงจะทำได้ยาก

ยุคสังคมคลิกเดียวชายใดที่คิดจะจดทะเบียนสมรสซ้อนก็คงจะหนักใจมิใช่น้อย

เมื่อใดคิดจะจดทะเบียนซ้อนใคร่ครวญให้ดีเสียก่อนอาจติดคุกได้ วันนี้จะไม่พูดเรื่องคุกเพราะไม่มีชายใดอยากฟัง

ถ้าชายใดอยากรู้ว่าทำได้ ตบตาเจ้าหน้าที่รัฐได้ลองดูก็ได้ เพื่อพิสูจน์ความจริงว่าหน่วยงานของรัฐไทยมีศักยภาพเรื่องข้อมูลทางทะเบียนแตกต่างไปจากอดีตหรือไม่

แต่วันนี้ขอฉายหนังตัวอย่างตอบเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่เข้าใจเองแต่มีผลหรือความหมายอย่างเดียวกันตามประสาคนซื่อจึงไม่ต้องติดคุก ดั่งคำพิพากษาเรื่องจดทะเบียนไม่ผิดเงื่อนไขการสมรส

ขณะที่จำเลยจดทะเบียนกับ ส. จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วก่อนหน้านั้น การจดทะเบียนสมรสของจำเลยกับ ส.จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตาม ป.พ.พ.มาตรา 1452 แม้จำเลยจะแจ้งนายทะเบียนต่อมาว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเคยจดทะเบียนสมรสกับ ค. ก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเอง

การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน การ

กระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 3237/2544)

ถ้าผิดคุกรออยู่ 2 ข้อหา มีทั้งโทษเบา

กับโทษหนัก ถ้าผิดเงื่อนไขการสมรสล่ะ คุกมาแน่?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่