"ยิ่งลักษณ์" โรดโชว์ "ญี่ปุ่น" สร้างเชื่อมั่น แจง "โปรเจกต์ยักษ์"

กระทู้ข่าว

"ยิ่งลักษณ์" โรดโชว์ "ญี่ปุ่น" สร้างเชื่อมั่น แจง "โปรเจกต์ยักษ์"



นายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์” โรดโชว์ “ญี่ปุ่น” หวังสร้างความเชื่อมั่น แจงโปรเจกต์ยักษ์ “แผนบริหารจัดการน้ำ-โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน-โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย”

วันที่ 22 พ.ค. เวลา 15.00 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน "Tokyo Roadshow 2013" ในหัวข้อ "Building a Strong Foundation for Thailand and ASEAN" ที่โรงแรมเพนนินซูล่า ซึ่งกระทรวงการคลังจัดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจ แก่นักลงทุนญี่ปุ่น ถึงศักยภาพการบริหารประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของอาเซียน รวมทั้ง การสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุน นักธุรกิจ ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการของกระทรวงการคลังไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดงาน วันนี้ และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความตั้งใจของรัฐบาลไทย ในการจัดงานในครั้งนี้ ก็เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยหลายโครงการที่ประเทศไทยต้องการเห็นความร่วมมือในการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น และมั่นใจว่า แผนงานโครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค ปกป้องการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย และทำให้การลงทุนที่มีอยู่แล้วมีศักยภาพสูงขึ้น มีผลตอบแทนที่ชัดเจนและเพิ่มพูน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ "The Future of Asia" ของบริษัท Nikkei เพื่ออธิบายถึงภาพรวมของการเจริญเติบโตของเอเชียในอนาคตในมุมมองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเกี่ยวเนื่อง และสอดคล้องกับแผนการลงทุนของประเทศไทย สำหรับการหารือกับ นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ซึ่งต่อเนื่องจากการเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและการกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ร่วมกันทั้งในภาครัฐและเอกชน ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นนั้น มีมายาวนาน ปีนี้นับเป็นปีที่ครบรอบ 126 ปี แห่งความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ คนญี่ปุ่นและคนไทยมีความสนิทสนมเป็นเพื่อนกันต่อเนื่องมาหลายรุ่น ทุกวันนี้มีคนญี่ปุ่น อาศัยอยู่หรือทำงานในประเทศไทย มากกว่า 50,000 คน โดยมีคนไทยในจำนวนที่เท่าๆ กัน อาศัยและทำงานในญี่ปุ่น

ในด้านการลงทุน ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย เป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านเยน และการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 7.5 ล้านล้านเยน ในปีที่แล้ว โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศกว่า 1.6 ล้านคน เมื่อปีที่แล้วเช่นกัน และการที่ประเทศทั้งสอง มีประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันยาวนาน มีความเจริญเติบโตในด้านการค้าการลงทุนในระดับสูง จึงทำให้ความไว้วางใจกันของรัฐต่อรัฐ ระหว่างบริษัทห้างร้านธุรกิจภาคเอกชน และระหว่างประชาชน ต่อ ประชาชน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อถึง การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2011 ว่า ท่ามกลางวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่ถือว่าใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตของไทยอย่างรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2011 โตเพียง ร้อยละ 0.1 แต่รัฐบาล ร่วมกับประชาชนคนไทยก็ได้ฟันฝ่าภัยพิบัตินั้นมาได้ จนเศรษฐกิจกลับมาเติบโตถึงร้อยละ 6.4 ในปี 2012 ซึ่งเรื่องนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ต้องการย้ำถึงความประทับใจที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่น นอกจากจะให้การช่วยเหลือ ผู้ที่ต้องประสบภัยแล้ว ก็ยังไม่เคยสูญเสียความมั่นใจในการลงทุน และมีหลายโรงงานที่กลับขยายการลงทุนในประเทศไทยด้วยซ้ำ

นายกฯ กล่าวอีกว่า นักลงทุนญี่ปุ่นนั้น ลงทุนในประเทศไทยมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ประเทศไทยริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมลงทุนร่วมสร้างกับประเทศไทย ตั้งแต่ยังเป็นที่ว่างเปล่า จนบัดนี้ 30 ปีต่อมา พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทยได้พัฒนาเป็นชุมชนที่มีนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน ท่าเรือน้ำลึก และโครงข่ายพื้นฐานที่พรั่งพร้อม เป็นแหล่งอุตสาหกรรม และประตูสู่การส่งออกของไทยไปทั่วโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศและนักลงทุนจำนวนมาก ญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับไทย ในการสร้างอนาคตที่สดใสสำเร็จมาแล้วสำหรับคนรุ่น ปัจจุบัน และการที่ตนเดินทางครั้งนี้เพื่อเชิญชวนให้ทุกท่านช่วยกันสานฝันเพื่อสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของสองประเทศอีกครั้ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ โดยมีแผนพัฒนาขับเคลื่อนประเทศ ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า และเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 ซึ่งการดำเนินการตามแผนจะทาให้ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ปกป้องการลงทุนของผู้ที่ลงทุนในประเทศไทย ทั้งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางความเชื่อมต่อของภูมิภาค (Connectivity) ทั้งในอาเซียนและสู่ตลาดโลกโครงการแรก คือ โครงการลงทุนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในวงเงิน 350,000 ล้านบาท

โดยโครงการนี้ เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรที่จะช่วยปกป้องเขตเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมแล้ว ยังจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับภาคการเกษตรซึ่งเป็นสาขาการผลิตที่มีความสำคัญที่เป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้า (Water Security) สำหรับการเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค และเป็นการป้องกันอุทกภัยขนาดใหญ่ไม่ให้เกิดขึ้นอีก 4 โครงการที่สอง คือแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายพื้นฐานด้านการขนส่งของ ไทยเข้ากับฐานการผลิตไม่ว่าจะเป็นเกษตร หรืออุตสาหกรรมภายในประเทศ และเชื่อมโยงสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ จะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค (Regional Hub) ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟรางคู่ และรถไฟใต้ดิน การปรับปรุงถนนสายหลัก ด่านศุลกากรและเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน สนามบิน ตลอดจนโครงข่ายพื้นฐานอื่นๆ โครงการที่สาม คือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของสองประเทศ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และนายกรัฐมนตรี ได้ตกลงที่จะพัฒนา

โดยเชื่อว่า จะเป็นโครงการที่สำคัญ ก่อให้เกิดการค้า การลงทุน และการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค เนื่องจากทวายเป็นหนึ่งในสามเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญที่สุดของเมียนมาร์ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 200 ตารางกิโลเมตร ที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมได้หลายรูปแบบแล้ว ท่าเรือน้ำลึกทวาย จะเป็นประตูการค้าขนาดใหญ่ ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย เชื่อมต่อไปยังตลาดฝั่งตะวันตกของโลก ได้แก่ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการ ที่ต้องการการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งมีโครงการที่ต้องรองรับในหลายมิติ ตนและรัฐบาลไทย จึงต้องการที่จะเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม อีกทั้งความสำคัญของการร่วมมือระหว่างเพื่อนที่มีความเชื่อมั่น จริงใจ และไว้วางใจกัน ว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น ใช่ใครอื่นไกล ด้วยความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศของเราทั้งสองประเทศ

ไทยรัฐออนไลน์

    โดย ไทยรัฐออนไลน์
    22 พฤษภาคม 2556, 21:30 น.

http://www.thairath.co.th/content/pol/346460
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่