ปีศาจ (หุ้น) ภายในตัวเรา

ในเดือนกรกฎาคม ปี 1961 สแตนลีย์ มิลแกรม นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา
ทำการทดลองทางจิตวิทยาสำคัญครั้งหนึ่ง ต่อมาเรียกชื่อว่า The Mailgrams Experiment



การทดลองนี้ประกอบด้วยตัวอย่างทดลองสองกลุ่ม กลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นครู กลุ่มหลังทำหน้าที่เป็นนักเรียน ทดลองทีละคู่โดยมี สแตนลีย์ มิลแกรม เป็นผู้คุมการทดลอง นักเรียนอยู่ที่ห้องหนึ่ง ครูกับผู้คุมอยู่อีกห้องหนึ่ง

การทดลองเริ่มด้วยผูกข้อมือของนักเรียนด้วยเส้นลวดเชื่อมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ครูทำหน้าที่ป้อนคำถามแก่นักเรียน หากนักเรียนตอบไม่ได้ ครูจะลงโทษนักเรียนคนนั้น โดยกดปุ่มปล่อยประแสไฟฟ้าไปชอร์ตนักเรียน ปุ่มเหล่านี้เรียงจากค่าต่ำสุดไปถึงสูงสุด เมื่อตอบผิดครั้งแรก นักเรียนจะถูกลงโทษด้วยกระแสโวลต์ต่ำ และจะเพิ่มขึ้น 15 โวลต์ทุกๆ ครั้งที่ตอบผิด บทลงโทษสูงสุดคือ 450 โวลต์ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์

ความตึงเครียดเกิดขึ้นกับครูทุกคน เพราะเมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าไปหลายครั้ง นักเรียนจะร้องด้วยความเจ็บปวด จนถึงจุดจุดหนึ่ง นักเรียนจะขอร้องครูไม่ให้ลงโทษพวกเขา บางคนทุบกำแพง บางคนร้องไห้ ครูบางคนลังเลและบอกผู้คุมว่าจะขอเลิกทดลอง บางคนบอกว่าจะคืนเงินค่าจ้าง ผู้คุมตอบว่า “เลิกไม่ได้ โปรดเดินหน้าทดลองต่อไป”

บางครั้งนักเรียนปฏิเสธที่จะตอบ เพราะกลัวตอบผิด ครูจะถือว่านักเรียนตอบคำถามนั้นผิด และกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า

แม้จะไม่รู้สึกสบายใจนัก ผู้ที่รับหน้าที่เป็นครูส่วนใหญ่ก็ดำเนินการต่อไปจนจบ ครูบางคนทนไม่ได้จริงๆ ก็เดินออกจากห้องไป แต่ครูบางคนก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

หลังการทดลองจบแล้ว ผู้คุมจะอธิบายให้ครูฟังว่า การทดลองนี้ไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าจริงแต่อย่างใด นักเรียนที่มาทดลองทำหน้าที่เล่นบทหลอกครูเท่านั้น เสียงร้องของนักเรียนเป็นเสียงที่อัดเทปล่วงหน้า เพื่อหลอกดูปฏิกิริยาของครู ครูก็คือกลุ่มตัวอย่างที่แท้จริงของงานนี้

แม้ The Milligram Experiment ได้รับการวิพากษ์ว่าผิดจรรยาบรรณของการทำวิจัย แต่ผลการค้นพบน่าสนใจอย่างยิ่ง มันบอกว่ามนุษย์เราสามารถปฏิบัติตามคำสั่งให้กระทำเรื่องเลวร้ายได้ทั้งที่รู้ว่ามันผิด

การค้นพบนี้อธิบายว่า มนุษย์เราเชื่อฟังอำนาจเบื้องบนโดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าเบื้องบนจะออกคำสั่งให้ทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน นี่อาจอธิบายว่าทำไมทหารนาซีจึงสามารถฆ่าชาวยิวหกล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งการทรมานนักโทษทุกรูปแบบ ทั้งที่รู้อยู่ว่ามันเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและผิดศีลธรรม

นี่เป็นภาพที่เราเห็นเป็นประจำในสังคมบ้านเรา ข้าราชการรับคำสั่งรัฐมนตรีให้ปล้นชาติโดยไม่แย้ง ทั้งที่รู้โดยมโนธรรมและศีลธรรมว่ามันไม่ถูกต้อง อัยการปล่อยคนร้ายให้พ้นมือกฎหมาย ตำรวจรับใช้โจรที่เล่นการเมืองจนเป็นใหญ่ พัสดีโค้งคำนับนักโทษ ครูบาอาจารย์รับใช้นักการเมืองชั่ว ฯลฯ

ทหารนาซีที่ฆ่าชาวยิวก็เป็นคนธรรมดา รักครอบครัว เข้าโบสถ์ ตำรวจ พัสดี ครูอาจารย์ก็เป็นคนธรรมดา มีศาสนา เข้าวัดเข้าวา แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนเป็นปิศาจได้

ในชีวิตจริง คำสั่งมาในหลายรูปแบบและมีความรุนแรงต่างกัน ตั้งแต่การฆ่ากัน การยกพวกตีกัน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ เช่น ประเพณี ‘ว้าก’ ในบางมหาวิทยาลัย

นักเรียนที่ยกพวกตีกันอาจมาจากครอบครัวที่ดี พ่อแม่อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี แต่ภายใต้บางสถานการณ์ เมื่อพวกเขาตกอยู่ในคำสั่งให้ฆ่า หรือทำร้ายนักเรียนโรงเรียนอื่น ก็ไม่ปฏิเสธ

หลายคนเสพยาเพราะเพื่อนทุกคนเสพยา “ไม่งั้นจะเสียเพื่อน”

ในประเพณีรับน้อง ในเมื่อทุกคนก็ ‘ว้าก’ ใส่รุ่นน้อง เราก็ต้องทำด้วย “ไม่งั้นจะเข้ากับใครไม่ได้” ฯลฯ

ความแตกแยกของสังคมบ้านเราในช่วงหลายปีนี้ สร้าง ‘ความชอบธรรม’ ให้เราทำร้ายเข่นฆ่าอีกฝ่ายได้ง่ายขึ้น ฆ่าพวกมันให้ตาย เอามันให้หนัก “เพราะพวกมันไม่ใช่พวกเรา” ในที่สุดก็ไม่ต่างจากพวกนาซีที่ฆ่าชาวยิวไปหกล้านคน

คนเรามีข้ออ้างเสมอเพื่อสร้างความชอบธรรม หรือคำอธิบายเมื่อทำเรื่องแย่ๆ : “ฉันทำตามหน้าที่”, “ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ”, “เบื้องบนสั่งมา ไม่ทำไม่ได้”, “เราต้องเคารพคำสั่ง”, “มันเป็นประเพณีของโรงเรียนเรา” ฯลฯ

สัญชาตญาณการเอาตัวรอดฝังในยีนของเราทุกคน แต่จุดหนึ่งที่ทำให้เราต่างจากสัตว์อื่นๆ อยู่ที่เราพัฒนามโนธรรม ความรู้ถูกรู้ผิด และเราพัฒนาสังคมให้ทุกหน่วยมีเจตจำนงอิสระมากเท่าที่จะมีได้ เรามีเจตจำนงอิสระที่จะทำดีหรือทำชั่ว

ไม่ช้าหรือเร็ว เราแทบทุกคนก็ต้องผ่านการทดลองกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า จะเลือกกดปุ่มหรือไม่กดปุ่มอยู่ที่เรา

เราทุกคนมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเป็นปิศาจได้ก็จริง แต่หากเราเลิกเชื่อว่าเราสามารถเลือกที่ทำดีทำชั่วได้ เลือกที่จะมีความสุขได้ ชีวิตของเราจะเหลือคุณค่าอะไร?

มนุษย์อาจเป็นสัตว์ที่อ่อนแอโดยสันดาน แต่หากเราใช้เหตุผลนี้เป็นข้อแก้ตัว ว่าเราอ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อต้านอำนาจเบื้องบนที่เลวร้าย ก็เป็นเพียงคำแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เพราะประวัติศาสตร์มีตัวอย่างคนมากมายที่ปฏิเสธกระทำตามคำสั่งเลวร้าย

เราสามารถเลือกได้ 35% ของกลุ่มตัวอย่าง The Milgram Experiment เดินออกจากห้อง ปฏิเสธที่จะกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าไปทำร้ายคนอื่น

วินทร์ เลียววาริณ
16 มีนาคม 2556


ปล. ดังนั้นอย่าไปเชื่อนักวิเคราะห์หุ้น  เซียนหุ้น  หรือเทพใดๆ จงศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง

และตัดสินใจด้วยตนเองในการซื้อ ขาย หุ้น ....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่