เรื่องสั้น : ทัชมาฮาลสีชมพูหวานฉ่ำ

กระทู้สนทนา
PS. เรื่องนี้เขียนแปะ บล็อคไว้ ๒ ปีละ ชอบ เลยเอามาแปะให้อ่านอีก ^^




กางแผนที่โลกแล้วหลับตาจิ้มเป้าหมาย อาจจะเป็นเรื่องยากกว่าการเดินออกจากบ้าน หมุนตัวสามรอบแล้วหยุด ซ้ายมือคือหมอชิต ขวามือคือเอกมัยและด้านหลังคือสายใต้ใหม่ จากนั้นก็เดินทางไปยังด้านที่หันหน้าตรง ถึงสถานีแล้วตีตั๋วโดยสารรถคันแรกที่จะออกจากชานชาลาภายในห้านาทีนั้น... ไม่สนใจว่าสิ้นสุดปลายทางคืนที่ไหน ขอแค่ให้ได้ออกเดินทาง เท่านั้น นั่นเป็นการซ่อมใจอย่างง่ายแต่ได้ผล เพราะอย่างน้อยที่สุดการไม่ต้องมองเห็นและรับรู้บางเรื่องราวที่ร้าวใจ แม้ในเวลาเพียงสี่สิบแปดชั่วโมง ก็เท่ากับได้รักษาความช้ำของใจไปแล้วยี่สิบเปอร์เซ็น

แต่เพราะการจิ้มแผนที่โลก แล้วซื้อตั๋วเดินทางเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่า จึงอาจจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าสักวันสองวัน สัปดาห์ หรือสองสัปดาห์เป็นอย่างต่ำ สำหรับผม... มันเริ่มตั้งแต่การ์ดแต่งงานสีชมพูหวานฉ่ำวางอยู่ตรงหน้านั่นแล้ว... การ์ดแต่งงานสีชมพูถูกส่งมาทางไปรษณีย์ ทั้งที่บ้านอยู่ห่างกันแค่สามช่วงตึก เจ้าของงานเดินถือการ์ดมาให้ด้วยตัวเองน่าจะง่ายกว่าการเดินทางไปซื้อแสตมป์แลบลิ้นเลียติดลงบนซองการ์ดแล้วหาตู้สีแดงหย่อนมันลงไป... แต่สาบานได้ ตู้ไปรษณีย์สีแดงนั่นน่ะมันตั้งอยู่หน้าบ้านผม

การ์ดแต่งงานสีชมพูหวานฉ่ำเดินทางมาพร้อมๆ กับไปรษณียบัตรหนึ่งใบที่เดินทางไกลอย่างมอมแมมมาจาก “ทัชมาฮาล” ของใครคนหนึ่งที่ผมก็ไม่เคยรู้จักมากไปกว่าการเป็นเฟรนด์ลิสต์ในเฟซบุคที่ทะลึ่งไปกดไลท์เพจที่ชอบเหมือนกันจึงแอดเป็นเพื่อนกัน คุยกันทางโปรแกรมสนทนาที่มาพร้อมกับเฟซบุค ส่งข้อความถึงกันทาง Inbox ของเฟซบุคอีกเหมือนกัน เราไม่เคยพบหน้ากัน ไม่เคยได้ยินเสียงกัน เธอไม่เคยอัพรูปตัวเองขึ้นเฟซบุค นอกจากสถานที่และผู้คน ซึ่งเธอได้พบระหว่างเดินทางท่องโลก บางทีเธออาจจะเป็นตุ๊ด เป็นสาวแก่ เป็นหนุ่มหื่นกาม หรือจะเป็นใครก็ตามแต่ที่โลกออนไลน์สามารถเสกให้เธอเป็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญของมิตรภาพ เพราะมิตรภาพไม่ได้อยู่ที่ “ภาพประกอบ” แต่อยู่ที่เจตจำนงที่แสดงออกเด่นชัด นั่นต่างหาก และจากข้อมูลที่เธอป้อนมาให้ในเวลาเจ็ดเดือนยี่สิบสามวันที่รู้จักกันผ่านระบบเครือข่าย ผมประมวลผลได้ว่าเธอเป็น “ผู้หญิง”

เธอไม่ใช่สาวสวยตาคมห่มส่าหรี กินโรตีเป็นอาหารหลักหลงรักการเต้นหลบหลังต้นไม้ แต่เธอคือสาวไทยใจเด็ดซึ่งเข็ดขยาดกับความรักที่เธอมักจะกลายเป็นตัวเลือกของใครบางคนอยู่เสมอ เธอเคยบอกกับผมว่า

“อย่าคบใครทีละหลายคน เพราะเมื่อถึงวันที่ต้องเลือกแล้วนั้นความเจ็บช้ำจะไม่ได้เกิดขึ้นกับคนแค่คนเดียวแต่เกิดกับคนที่ไม่ถูกเลือกทั้งหมด”

แต่ถึงแม้เธอจะบอบช้ำเพราะความรักสักแค่ไหนเธอก็ไม่เคยกลัวที่จะมีความรัก เพราะความรักเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เธอรู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่ กระทั่งครั้งล่าสุดที่เธออาการสาหัส เพราะคนที่รักกันมาหลายปีตัดสินใจเลือกคนอื่นแต่ปิดบังเธอ... นั่นคือ เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นแต่ก็ยังเลือกที่จะเก็บเธอไว้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของชีวิตในนิยามของคำว่ากิ๊ก หรือถูกหลักภาษาไทยที่สุดคือ ชู้

“ถ้าไม่รู้จากคนอื่นว่าเขาจะหมั้น เราก็จะไม่มีวันได้รู้จากเขา แล้วโง่ๆ อย่างเราก็คงถูกหลอกไปตลอดชีวิต”

และเพราะเหตุการณ์นั้นนั่นเองที่ทำให้เธอไปเยือนทัชมาฮาลสุสานแห่งความรัก ไปรู้จักความรักอันมั่นคง ซื่อตรงและจริงใจที่เธอไม่เคยได้รับมันเลยตลอดชีวิตที่ผ่านมา

เธอไปอินเดียคนเดียว เดี่ยวๆ ด้วยเหตุผลโคตรเท่ “ไปตามหาความจริงใจ” ซึ่งมันเป็นเหตุผลที่จับต้องไม่ได้ในความเป็นจริง ผมแอบใจหายกับการเดินทางของเธอ เพราะการพกพาความเศร้าติดตัวไปในประเทศที่ไม่น่าจะเยียวยาความเหงาให้เธอได้ แทนที่จะทำให้หาย อาจจะทำให้ว้าวุ่นใจกว่าเดิมก็เป็นได้

“ไม่ได้ตั้งใจจะไปเหงา แต่จะไปอยู่กับความวุ่นวาย ไปคิดโน่น นี่ นั่น เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหัวใจ แต่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่คุ้นเคยทั้งภาษา ศาสนา อาหาร วัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ต้องวางแผนว่าแต่ละวันจะทำอะไร ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่ตั้งใจ เชื่อดิ ไม่มีเวลาเหงาหรอก”

ผมไม่เชื่อเธอหรอก แต่ก็ไม่ขัดแย้งอะไร ก็ชีวิตเป็นของเธอนี่นะ

“โปสการ์ดมาบ้างนะ”

สองสัปดาห์ผ่านไปแล้วนั่นแหละผมถึงได้รับโปสการ์ดขนาดสี่คูณหกนิ้วเป็นรูปทัชมาฮาล สถาปัตยกรรมในตำนานที่โดดเด่นเป็นสง่าใจกลางมหานครอัครา ณ อุตรประเทศ อนุสรณ์สถานแห่งความรักของจักรพรรดิชาห์ ชหาน กับ อรชุมันท์ พานุ เพคุม หรือในชื่อที่รู้จักกันดีว่า พระนางมุมตัชมาฮาล

โปสการ์ดจากอินเดีย วางคู่อยู่กับการ์ดแต่งงาน ผมเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาหาข้อมูลเกี่ยวกับ “อินเดีย” โดยที่การ์ดสีชมพูนั้นยังไม่ถูกเปิดออกจากซอง เหอะ, ต่อให้ไม่เปิดดูก็รู้ดีทั้งชื่อ สกุลคู่บ่าวสาว เลยเถิดไปถึงชื่อพ่อแม่นั่นเลยทีเดียว ผมนึกถึงเจ้าของโปสการ์ดจากทัชมาฮาล จะว่าไป ความรักของผมกับเธอก็คงไม่ต่างกันสักเท่าไหร่นัก เพราะคนที่เธอรักกับคนที่ผมรัก ต่างก็ไปแต่งงานกับคนอื่นทั้งคู่ ผมจึงไม่แปลกใจหากเธอจะเศร้าจนต้องตัดสินใจเดินทางไปซ่อมใจไกลถึงทัชมาฮาล ซึ่งก่อนเดินทางไกลประโยคที่ทำเอาผมจุก แม้จะเป็นเพียงผู้รับฟังเรื่องราวแต่ก็อดเศร้าไปกับเธอไม่ได้

“เขาอยู่ด้วยกันมานานแล้ว แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่มีใคร เราก็เชื่อเพราะเรารักเขามาก แต่นั่นยังไม่เจ็บเท่ากับการที่รู้ว่าเขาไม่ได้รักเราเลย แต่ก็ยังเก็บเราเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องใช้ในการทำผิดศีลข้อสาม”

และไม่นานหลังจากที่เธอรู้ตัวว่าถูกคนที่รักมากหลอกตลอดมา เธอจึงตัดสินใจตัดขาดโดยไม่เหลือใยแห่งความอาลัยอาวรณ์แม้สักเสี้ยว

“เชื่อมั้ยว่าเขาไม่ได้สำนึกเลยสักนิดว่าทำเอาชีวิตคนอื่นแทบเป๋ เขายังใช้ชีวิตอย่างสบายอารมณ์ เหมือนกับการทำให้คนอื่นเจ็บปวดนั่นเป็นเรื่องธรรมดา”

ความรักอาจไม่ใช่เหตุผลหลักของการที่จะเลือกคนอีกคนมาเป็นคู่ครอง แต่เหตุผลอื่นเมื่อประกอบกันแล้วการตัดสินใจเลือกใครสักคนดูจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ดีกว่าจะปล่อยให้เรื่องราวยืดเยื้อยาวไกล แล้วสุดท้ายคนที่เจ็บปวดที่สุดคือคนที่ใช้หัวใจไปกับความรักมากที่สุดแต่ไม่ถูกเลือก

แต่ความเจ็บปวด ชอกช้ำ ไม่เจอกับตัวเอง มีหรือจะเข้าใจลึกซึ้ง
และเพราะเธอช้ำเธอจึงไป... เมื่อถึงเวลาที่ผมช้ำ ทำไมผมจะต้องอยู่?

อินเดียไม่ใช่ประเทศในฝันที่คนอย่างผมจะเลือกไปเยือนเพียงแค่มีสุสานของความรักอยู่ที่นั่น แต่มันอาจจะเป็นทางเดียวที่จะทำให้ผมไม่ต้องทนรับรู้เรื่องราวและปวดร้าวกับการ์ดสีชมพูหวานฉ่ำตรงหน้านี้เท่านั้นเอง ข้อมูลที่เสิร์ชจากเน็ตด้วยภาษาไทยแปดสิบเปอร์เซ็นเป็นเรื่องการไปจาริก แสวงบุญ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของผม เพราะงั้นผมเลยลองใช้คำค้นที่ซับซ้อนขึ้น เผื่อพี่กูเกิลจะส่งข้อมูลที่ใกล้เคียงมาให้ และไม่นานเกินไปนักผมก็ได้รายละเอียดเกี่ยวกับ “อินเดีย” ตั้งแต่เริ่มต้นทำหนังสือเดินทาง ขอวีซ่า อัตราแลกเงิน ค่าเครื่องบินไปกลับ ค่าที่พัก ที่อยู่ ที่กิน และการเดินทาง ไปจนกระทั่งว่าอยู่อย่างไรให้ถูกแขกหลอกได้น้อยที่สุด แล้วจึงถีบหัวส่งตัวเองออกจากประเทศไทย โดยไม่ชายตาแลการ์ดแต่งงานสีชมพูหวานฉ่ำนั้นแม้แต่นิด

หลังจากเท้าขวาเหยียบลงบนพื้นสนามบินราวห้าทุ่ม ณ ประเทศที่ไม่คุ้นเคย ผมต้องอาศัยการปรับโหมดความรู้สึกจากความหม่นเศร้ามาเป็นเร้าใจ เพราะหลังจากที่พาตัวเองออกมานอกอาคารเทอร์มินัลแล้วก็ได้พบกับความวุ่นวายของแท้ที่แม้แต่ไทยแลนด์ยังชิดซ้าย หัวใจผมทำงานน้อยลง แต่สมองทำงานหนักขึ้นเมื่อต้องจัดระเบียบชีวิตเพื่อการเดินทางในครั้งนี้ ผมนอนเดลีคืนเดียวในราคาค่ารถโรงแรมและค่าห้องพัก พันสองร้อยรูปี

เช้าถัดมาผมออกจากเดลีไปอัคราอันเป็นเป้าหมายแรกของการเดินทาง ไม่มีเหตุผลว่าเพราะอะไร บางทีอาจจะเพราะ “ทัชมาฮาล” หรือบางทีอาจจะเพราะโปสการ์ดจากเธอคนนั้น... ผมมาอินเดียโดยไม่ได้บอกใคร ไม่ขึ้นสเตตัสเฟซบุค ไม่อัพเดทหัวเอ็ม ดังนั้น นอกจากเจ้าหน้าที่สถานทูต ตม. สายการบิน และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการมีงานทำต่อไปในวันข้างหน้าของผมแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่าผมมาอินเดีย

ชีวิตเดี่ยวๆ กับความเหงาแบบเดี่ยวๆ

เพลงในเครื่องเล่นไอพอดที่ดังซ้ำไปมามากกว่าร้อยรอบคือ Norwegian Wood ของ The Beatles ผมไม่ได้ชอบเพลงนี้ แต่ผมชอบหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มเดียวที่ผมหยิบติดมือมาในระหว่างเก็บของลงกระเป๋า ก่อนออกเดินทางราวสิบนาที จะเป็นความบังเอิญ หรือเพราะถูกกำหนดมาแล้วก็ตาม หนังสือชื่อเดียวกับเพลงถูกเปิดอ่านอย่างแช่มช้าระหว่างเดินทางด้วยรถไฟที่ตรงเวลาอย่างไม่น่าเชื่อ แปดโมงเช้าผมเดินทางมาถึงอัครา แต่ก็ไม่ได้แวะไปเยือนทัชมาฮาลในนาทีนั้น ผมโดยสารริกชอร์ไปดูเบบี้ทัช ซึ่งถึงแม้จะเล็กแต่ก็สวยงามมาก

ผมนึกถึงหญิงสาวในการ์ดแต่งงานสีชมพูหวานฉ่ำใบนั้น ป่านนี้เธอคงเจริญใจกับการมีคู่ครองเป็นของตัวเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายและขนบธรรมเนียม และคงลืมไปแล้วผมเป็นคนหนึ่งที่เคยขอเธอแต่งงาน เธอปฏิเสธด้วยการหลบตา ผิดกับหญิงสาวเจ้าของโปสการ์ดทัชมาฮาล

“เราเคยถามเขาว่า คุณจะแต่งงานกับฉันมั้ย เขาตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่าไม่ ครั้งนั้นเราก็เอะใจอยู่บ้างแล้วแหละว่าทำไมเลือกที่จะมาหาเรา มาอยู่กับเราชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น พอเราถามว่าเขาอยู่กับใคร เขาก็ตอบว่าอยู่กับเพื่อน น่าแปลกมั้ยล่ะที่เราเองก็เลือกที่จะหยุดคำถามเอาไว้แค่นั้น ไม่ถามต่อว่าเพื่อนผู้หญิงหรือผู้ชาย”

ผมว่าเรื่องของเธอคงเศร้ากว่าผมเยอะ

มีต่อ >>
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่