สรุป 3 ข่าวนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ (ประชาธิปัตย์) มีแนวคิด "ปฏิรูปการศึกษา ยุบโรงเรียนเล็ก ๗,๐๐๐ โรง ในเวลา ๑๐ ปี&qu



เผยปฏิรูปการศึกษารอบ 2 สพฐ.มีแผนยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่บีบบังคับลง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 7,000 โรงจาก 1.4 หมื่นโรงภายใน 10 ปี "ชินวรณ์” เร่ง สพฐ. อบต.ทำเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบลให้เกิดคุณภาพ พร้อมทุ่มงบประมาณสร้างโรงเรียนดีประจำทุกท้องถิ่น

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ภายใต้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 จะดำเนินการตั้งแต่ปี 2553-2561 นั้น สพฐ.ตั้งเป้าว่าเมื่อสิ้นสุดการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 แล้ว จะส่งผลให้เกิดการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้โดยไม่ต้องบีบบังคับใดๆ ได้ประมาณ 7,000 โรง หรือ 50% ของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ถึง 1.4 หมื่นโรงทั่วประเทศในขณะนี้ จะทำให้การบริการจัดการทรัพยากรและงบประมาณด้านการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องกระจายงบประมาณไปตามโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นหมื่นโรง ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งเองก็ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้คุณภาพเพราะต้องบริหารจัดการในภาวะขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร

ทั้งนี้ การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น สพฐ.จะไม่ใช่วิธีบีบบังคับแต่จะปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่การคมนาคมที่สะดวกขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เด็กเคลื่อนย้ายไปโรงเรียนดีๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเหมือนในอดีต โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งจึงมีจำนวนนักเรียนน้อยลง สพฐ.ยังมีโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลที่กำลังจะดำเนินการในปีการศึกษา 2553 นี้ จำนวน 182 แห่ง เพื่อให้แต่ละตำบลมีโรงเรียนดีอย่างน้อย 1 หรือ 2 โรงเรียน โรงเรียนดีประจำตำบลนี้จะเป็นทางเลือกและเป็นตัวดูดเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กข้างเคียงให้เข้ามาเรียน ซึ่งโรงเรียนดีประจำตำบลหลายแห่งตั้งอยู่ศูนย์กลางโรงเรียนเครือข่ายที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่แล้ว เมื่อพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพแล้ว เด็กก็จะเคลื่อนย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดีประจำตำบลแทน โรงเรียนขนาดเล็กรอบข้างบางแห่งก็จะต้องยุบไปโดยอัตโนมัติเมื่อไม่มีนักเรียน

ส่วนเรื่องตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องถูกยุบนั้น มองแนวทางเยียวยาไว้แล้วว่าจะตั้งให้เป็น ผอ.โรงเรียนร่วมในโรงเรียนดีประจำตำบล โดยในโรงเรียนดีประจำตำบลอาจมี ผอ.ร่วมกันหลายคน แบ่งกันรับผิดชอบหน้าที่ และเมื่อใดที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.มีตำแหน่ง ผอ.ว่าง ผอ.โรงเรียนที่ถูกยุบนั้นจะได้รับสิทธิลำดับต้นในการย้ายไปบริหารในโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่าง แนวทางนี้มั่นใจว่าสามารถเยียวยาไม่ให้เกิดการต่อต้านในหมู่บุคลากรสายบริหารได้

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในการประชุม ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 185 เขตทั่วประเทศ ร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกว่า 100 ตำบลที่จะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลในปีนี้ ว่า กระทรวงศึกษาธิการเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้ 1,919 ล้านบาท เพื่อจะแปลงโฉมโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรม คาดว่าสัปดาห์หน้า ครม.จะพิจารณาเกี่ยวกับงบสนับสนุนโครงการนี้

ทั้งนี้อย่างน้อยทุกโรงเรียนในโครงการจะต้องได้รับงบสำหรับปรับปรุงภูมิทัศน์ ปรับปรุงซ่อมแซมหรือสร้างอาคารเรียน สร้างศูนย์ดนตรี กีฬา ศิลปะ สระว่ายน้ำ ศูนย์การเรียนรู้ทางอาชีพ สร้างห้องปฏิบัติการด้านต่างๆ พัฒนาห้องสมุดให้ทันสมัย จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการศึกษาโดยเฉพาะจัดให้มีคอมพิวเตอร์รองรับการเรียนในอัตรา 1 เครื่องต่อนักเรียน 10 คน และมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเชื่อมโยงมาถึงสถานศึกษา เหล่านี้คาดว่าจะใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท

“เรามุ่งหวังว่าจะให้โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล เป็นตัวแปรให้เกิดการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ซึ่งค่อนข้างมีปัญหาการบริหารจัดการ ปัญหาคุณภาพ และมีปัญหาการใช้งบประมาณลงทุนเยอะ โดยโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาดึงดูดนักเรียนที่เคยอยู่โรงเรียนขนาดเล็กโดยรอบตำบลมาเข้าเรียน ในที่สุดโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่เหลือนักเรียนเข้าเรียนก็จะต้องยุบไปเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้วิธีบีบบังคับ ทั้งนี้ ศธ.จะขยายให้มีโรงเรียนดีประจำตำบลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมให้ได้ทุกตำบลทั่วประเทศ” นายชินวรณ์กล่าว

ทั้วนี้ สพฐ.ได้ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับ อบต.ในการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบลแต่ละแห่ง โดยจะมีการทำความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนดีเด่นดังระดับมาตรฐานสากลของ สพฐ.ด้วย เป็นความร่วมมือแบบโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องในการพัฒนาวิชาการ และเขตพื้นที่จะประสานสถาบันอุดมศึกษาที่มีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในพื้นที่มาช่วยเหลือด้านวิชาการอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามได้หารือกับ รมว.การต่างประเทศที่เพิ่งกลับจากการประชุมนิวเคลียร์ที่สหรัฐ รมว.ต่างประเทศแจ้งว่าสหรัฐมีความประสงค์จะร่วมมือกับไทยจัดโครงการแลกเปลี่ยนนำครูของสหรัฐมาส่งเสริมการเรียนการสอนในไทยด้วย

เนื่องจากขณะนี้ครูในสหรัฐประสบปัญหาว่างงานจำนวนมากจากผลของจำนวนประชากรในประเทศที่ลดลง และสถานศึกษามีการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้สอนแทนครูมากขึ้น ขณะนี้สหรัฐกำลังจะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จัดส่งครูที่ว่างงานในประเทศมาปฏิบัติการสอนในโรงเรียนสังกัด กทม. กระทรวงศึกษาธิการจะนำครูเหล่านี้ไปสอนในโรงเรียนดีประจำตำบลด้วย โดยเฉพาะในด้านภาษาอังกฤษ และถ้าเป็นครูที่คุณวุฒิสูงๆ ก็จะจัดให้ไปสอนตามพระมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วย

“ในส่วนโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งก็เดินหน้าไปแล้วแต่ระหว่างนี้ก็ได้รับร้องเรียนมาจากผู้ปกครองผ่านกระทรวงว่า มีโรงเรียนเรียกเก็บเงินจึงสงสัยว่าในเมื่อเรียนฟรีแล้วมาเก็บเงินได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ได้กำชับไปยัง ผอ.สพท.ให้ร่วมกันดูแลและขับเคลื่อนนโยบายไปสู่คุณภาพ ในส่วนของโรงเรียนจะได้ไปตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นการเรียกเก็บโดยถูกต้องตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ หรือถ้าเป็นการเรียกเก็บเงินเพื่อรับเด็กก็ถือว่ามีความผิด” นายชินวรณ์กล่าว

ที่มา
http://www.sisaketedu1.go.th/news2_detail.php?id=4829
http://www.komchadluek.net/detail/20100421/56434/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A2%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%90.%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%A3.%E0%B8%A3.%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%817,000%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่