“อดีตผู้พิพากษา” ยัน 3 ตุลาการไม่เข้าข่ายกบฏ เตือน กวป.แจ้งเท็จนอนคุกยาว

“ชูชาติ ศรีแสง” เทียบหลัก กม.อาญามาตรา 113 ยัน 3 ตุลาการรับคำร้องค้านแก้ รธน.มาตรา 68 ไม่เข้าข่ายความผิดฐานกบฏ เตือน กวป.เดินสายแจ้งทั่วประเทศจะเจอสวนกลับฐานแจ้งความเท็จโทษจำคุก 2-3 ปี ชี้ยิ่งแจ้งความมากความผิดยิ่งมากตามจำนวนที่ไปแจ้ง
       
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 พ.ค. เมื่อเวลาประมาณ 00.05 น. นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng  ถึงกรณี กลุ่ม กวป.จะเดินสายแจ้งความ 3 ตุลาการในข้อหากบฏ ยังสถานีตำรวจทั่วประเทศว่า
       
        “สืบสาวเรื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแจ้งข้อหากบฏท่านหนึ่งได้ความว่า มาจากเหตุที่ท่านทั้งสามมีความเห็นให้รับคำร้องที่มีผู้ยื่นคำร้องว่า การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อตัดสิทธิของประชาชนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่อาจกระทำได้ ไว้พิจารณาเท่านั้น
       
        ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร หรืออํานาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อํานาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทําความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจําคุกตลอดชีวิต
       
        องค์ประกอบสำคัญที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต้องใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
       
        การใช้กำลังประทุษร้ายเป็นอย่างไร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) บัญญัติไว้ว่า ใช้กําลังประทุษร้าย หมายความว่า ทําการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจ ของบุคคล ไม่ว่าจะทําด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทําใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทําให้ มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
       
        ย่อมเห็นได้ว่า การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ท่าน มีความเห็นว่าให้รับคำร้องที่มีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณานั้น ไม่ได้เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งการกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้มีเจตนาเพืิ่อให้เกิดเหตุการณ์ดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 113 (1) (2) และ (3)
       
        ดังนั้น การกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ท่านจึงไม่มีความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย แต่จะมีความผิดตามกฎหมายของประเทศอื่นๆ เช่น มอนเตเนโกรที่เจ้านายของคนพวกนี้ถือสัญชาติอยู่หรือไม่ ไม่อาจทราบได้
       
        เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กระทำความผิดฐานกบฏตามกฎหมายไทยดังกล่าวแล้ว กลุ่มคนพวกนั้นจะไปแจ้งความได้หรือไม่ ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปเชื่อได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่รับแจ้งความ แต่สำหรับกลุ่มคนพวกนี้ซึ่งได้ยอมทำสิ่งนี้อย่างเพื่อนายใหญ่ที่เป็นพี่ของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารมีหรือที่เจ้าพนักงานตำรวจตามสถานีตำรวจต่างๆ ซึ่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงต่างก็ได้ตำแหน่งเพราะพี่ให้ จะขัดใจไม่รับแจ้งความ
       
        เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจรับแจ้งความที่ผู้ไปแจ้ง แจ้งว่าตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ท่านกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ แต่เมื่อท่านทั้ง 3 ไม่ได้กระทำความผิด ผู้แจ้งก็ย่อมมีความผิดฐานแจ้งข้อความเท็จอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ทั้งเป็นความผิดที่ว่า ผู้แจ้งรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่า ได้มีการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีด้วย ใครอยากเอาหน้าเจ้านายหรืออยากเรียกค่าตัวสูงๆ ก็ไปแจ้งความเถอะ แต่ถ้าถูกแจ้งความกลับว่าแจ้งเท็จดังที่กล่าวแล้ว ก็อย่าออกมาโวยวายว่าศาลสองมาตรฐานก็แล้วกัน
       
        ส่วนที่ว่าจะไปแจ้งความทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศนั้น ก็สงสัยว่า คงอยากให้ถูกแจ้งกลับมากๆ
       
        ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า สําหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ข้าราชการตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้น นายร้อยตํารวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตํารวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอํานาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอํานาจของตนได้
       
        บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น เจ้าพนักงานตำรวจที่มีอำนาจสอบสวนก็คือ เจ้าพนักงานตำรวจที่ได้การกระความผิดเกิดขึ้น หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำนาจของตนเท่านั้น
       
        กรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ท่าน ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดที่ศาลรัฐธรรมนูญดังนั้น เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนที่ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งอยู่ในเขตอำนาจเท่านั้นที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดไม่มีอำนาจสอบสวน
       
        ดังนั้น การที่บุคคลดังกล่าวจะไปแจ้งความที่สถานีตำรวจทั่วประเทศนั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนก็คงต้องรับแจ้งความเพราะคงไม่กล้าเสี่ยงที่จะปฏิเสธอันจะทำให้ดาวบนบ่าหล่นได้
       
        การแจ้งความดังกล่าวผลที่เกิดขึ้นก็คงเปลืองกระดาษของทางราชการโดยเปล่าประโยชน์ เพราะถึงรับแจ้งพนักงานสอบสวนก็ไม่อำนาจสอบสวน แต่สำหรับผู้แจ้งเมื่อเป็นการแจ้งเท็จก็ย่อมมีความผิดทุกๆ แห่งที่ไปแจ้ง คือมีความผิดตามมาตรา 172 และ 173 ดังกล่าวแล้ว
       
        สรุปการกระทำการเรื่องนี้สงสัยคนแจ้งความจะโดนหนักหน่อย ถ้ายิ่งแจ้งความมากแห่งก็ต้องโดนแจ้งกลับทุกแห่ง ก็ดีเหมือนกันจะได้ถูกฟ้องกันโดยทั่วหน้า ใครอยากได้เงินมากก็คงเจอมาก ก็สมควรแล้ว”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่