"คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย" รูปเหมือน "จิตร ภูมิศักดิ์"

กระทู้ข่าว
5 พฤษภาคม

47 ปีก่อน เขาถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองล้อมยิงจนเสียชีวิต ที่ชายป่า บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร หลังจากที่ก่อนหน้านั้นราวปีกว่า ได้รับการปล่อยตัว จากการจับกุมคุมขังข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร และกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์"

เป็นข้อหาเดียวกับที่ปัญญาชนฝ่าย "ก้าวหน้า" ในยุคนั้นเจอ

จึงไม่แปลก เมื่อถูกอำนาจรัฐคุกคามเช่นนี้ อยู่ในเมืองไม่ได้ หลายคนก็ต้องระเห็จเข้าป่า

"จิตร ภูมิศักดิ์" เองก็เช่นกัน

เพราะหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวมา เขาก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว จากเด็กเรียน สวมแว่นตาหนาเตอะ มืออ่อนนุ่มจับแต่หนังสือ กระดาษ ปากกา ฯลฯ ก็หันหลังให้เมือง มุ่งสู่เขตชนบทเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้กับอำนาจรัฐในนาม "สหายปรีชา"

และเป็นเวลากว่าปีที่สหายปรีชาเคลื่อนไหวอยู่ในเขตภาคอีสาน

"ในที่สุด เขาก็ถูกล้อมยิงจนเสียชีวิต "



ผ่านมา 47 ปีแล้ว สำหรับการจากไปของนักคิดนักเขียนคนสำคัญของสยามประเทศ

ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคน "ก้าวหน้า" ที่สุดคนหนึ่ง

หากแต่เรื่องราว และผลงานที่เขาฝากไว้ ยังคงยืนหยัดเป็นประจักษ์พยานถึงการทำงานแห่งการต่อสู้กับระบอบการปกครองที่เต็มไปด้วยการกดขี่ อาทิ หนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, โฉมหน้าศักดินาไทย, ภาษาและนิรุกติศาสตร์

หนังสือ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย, โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา, ตำนานแห่งนครวัด

ยังมีบทกวี งานเพลง ที่เชื่อว่ายังกระจัดกระจายอยู่อีกอย่างมากมาย

เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" เป็นอีกหนึ่งเพลงที่คนได้ยินได้ฟังมากที่สุด โดยเฉพาะประโยคที่ให้ความรู้สึกฮึกเหิมว่า "คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย"

ซึ่งแทบทุกครั้งที่ได้ยินคนเอ่ยชื่อ "จิตร ภูมิศักดิ์" ก็ชวนให้คิดถึงประโยคนี้

บทประพันธ์นี้จิตรเขียนขึ้นโดยใช้นามปากกาว่า "สุธรรม บุญรุ่ง" ขณะนั้นเขาถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว ก่อนที่ต่อมาจะมีการนำมาขับร้องเป็นเพลง และเป็นที่รู้จักอย่างมากในยุคที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

"คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย" ได้แม้ขณะอยู่ในคุก "พลัง" ในตัวย่อมไม่ธรรมดา

และยิ่งได้ฟังท่อนฮุกอย่างเต็มๆ ต่อให้โดนหมัดฮุกอีกสักกี่พันครั้งก็เหมือนว่าจะสามารถยืนหยัดอยู่ต่อไปได้



"ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ

คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย

แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับมลาย

ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน"



เป็นบทประพันธ์ที่มีอิทธิพลกับคนหนุ่มคนสาว รวมถึงนักกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เป็นอย่างมาก

"และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากรู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ มากยิ่งขึ้น"



"คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย" ล่าสุดได้กลายมาเป็นแนวคิดสำคัญ

แนวคิดในการจัดสร้าง รูปเหมือนจิตร ภูมิศักดิ์

"มูลนิธิจิตรภูมิศักดิ์" นำโดย "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" เริ่มดำเนินการจัดสร้างรูปเหมือนของจิตร และเตรียมเปิดอนุสาวรีย์ ณ จุดที่เขาถูกยิงเสียชีวิตในวันนี้

จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อกราบไหว้บูชา ขอเลข ขอหวย หากแต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ ส่วนเครื่องเตือนใจเกี่ยวกับจิตรที่ควรคิดถึง ก็อย่างที่ อาจารย์ชาญวิทย์บอกกับทีมข่าว "มติชนทีวี" ว่า...

"เครื่องเตือนใจเกี่ยวกับจิตร อยู่ที่งานคิด งานเขียน ของเขามากกว่า นั่นจะเป็นตำราเรียน บทเรียน ที่สุดยอด ที่สุดของชายคนนี้ อนุสาวรีย์ เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยๆ"

ขณะเดียวกัน บทสัมภาษณ์ ประติมากร ผู้รับหน้าที่ฟื้นคืนชีวิตอย่าง "สันติ พิเชฐชัยกุล" ก็น่าสนใจเช่นกัน

"ตอนแรกจะปั้นให้จิตรใส่แว่นตา เพราะจิตรเป็นเด็กเรียน แต่ทีนี้คิดว่า ในวัยเป็นนักเรียน บุคลิกความเป็น "ตัวจริง" ของเขา ยังไม่ออกเท่าไหร่ ในขณะที่ตอนเขาไปต่อสู้ ดูอหังการกว่า มีความเด่นสง่าท้าทาย อย่างที่ชื่อภาพเขียนไว้ จึงเห็นพ้องต้องกันกับมูลนิธิว่า ปั้นตามรูปถ่ายตอนที่ออกไปต่อสู้ แล้วก็ไม่ใส่แว่นตา"

ประติมากร ผู้มีผลงานระดับโลก บอกว่า คนทั่วไป จะเห็นภาพเห็นจิตร ภูมิศักดิ์ ใส่แว่น

แม้แต่ตัวเขาเองก็รู้จักจิตรว่าใส่แว่น จากรูปภาพ "จินตนา เนียมประดิษฐ์" (สหายของจิตร) บอกว่า ไม่ใช่

"เพราะเขาเป็นอะไรมากกว่านั้น เขาเป็นคนที่กล้า เด็ดเดี่ยว แล้วก็อยากจะไปอยู่กับชาวไร่ชาวนา เหตุที่จิตรเสียชีวิตก็เพราะอยากไปใช้ชีวิตกับพวกเขาเหล่านั้น ก็เลยไปอยู่แถวหนองกุง ชอบช่วยคนชอบกลมกลืนกับผู้คน"

เป็นเหตุที่ทำให้จิตรไม่ใส่แว่น

และยืนกอดอกอย่างผ่าเผย ณ อนุสรณ์ ชายป่า บ้านหนองกุง จ.สกลนคร

เป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใคร

"ยืนเด่นโดยท้าทาย" ต่อไป"



http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1367726529&grpid=03&catid=03&subcatid=0305


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่