บี้เห็บ...เพิ่มทวีคูณได้จริงหรือ?

กระทู้สนทนา

  เห็บเกิดขึ้นได้จากสภาพแวดล้อมของสุนัข เช่น ถูกเลี้ยงในสนามหญ้า อยู่กับพื้นดิน บริเวณกรง คลุกคลีกับสุนัขตัวอื่น หรือร้านฝากเลี้ยง ร้านหมอ ก็สามารถติดได้เช่นกัน ความเชื่อว่าการบี้เห็บแล้วจะทำให้เห็บเกิดมากมายเป็นทวีคูณ ได้สั่งสอนลูกหลานของตนต่อๆ กันมาเนิ่นนานว่าเมื่อเก็บเห็บออกจากตัวสุนัขแล้ว อย่า บี้เห็บเป็นอันขาด

     เมื่อ 20 ปีก่อน เคยมีนักเขียนชื่อดังเขียนการ์ตูนไว้ในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งว่าการบี้เห็บตัวเมียที่ตัวเป่งนั้น จะทำให้เกิดลูกเห็บขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง


ความจริงเป็นอย่างไร เห็บตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก อาจถึง 3,000-4,000 ฟอง และเมื่อวางไข่จนหมดท้องแล้ว เห็บตัวนั้นก็จะตายไป แต่ก่อนที่เห็บตัวเมียจะวางไข่นั้นได้ มันจะต้องได้รับการผสมพันธุ์และต้องกินเลือดสุนัขจนตัวเป่งเต็มที่เสียก่อน มิฉะนั้นมันก็ไม่สามารถวางไข่ได้ เมื่อวางไข่.... เห็บตัวเมียจะต้องหล่นจากตัวสัตว์ แล้วหาที่ปลอดภัยเช่น ใต้ก้อนดินหรือก้อนหินบนพื้น หรืออาจเป็นร่องตามกำแพงหรือรอยแตกของไม้ใกล้พื้นดิน

    การวางไข่ จะใช้เวลาหลายวันนานหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ไข่ที่ถูกปล่อยออกมาแต่ละฟองจะต้องถูกเคลือบไว้ด้วยสารคล้ายไข ซึ่งกันน้ำไม่ให้ระเหยออกจากไข่ไว้ชั้นหนึ่งก่อน หลังจากนั้นไข่จะถูกเคลือบไว้ด้วยสารที่มีคุณสมบัติป้องกันการเกิด oxidation (= การทำปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศ) ทับอีกชั้นหนึ่ง

   ดังนั้น ถ้าเห็บมีไข่เต็มท้องถูกบี้จนแตกเลือดทะลักออกมาหมด และอาจมีไข่บางส่วนไม่ถูกทำลาย แต่ก็มิได้หมายความว่าไข่เหล่านั้นจะฟักเป็นตัวอ่อนได้ ทั้งนี้เพราะไข่เหล่านั้นไม่ได้ถูกเคลือบด้วยสารทั้ง 2 ไว้ไข่เหล่านั้นจะแห้งและฝ่อไปในที่สุด

     อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ใหญ่แนะนำเด็กๆ ว่าอย่าบี้เห็บ อาจจะมีเหตุผลอื่นแฝงอยู่ก็ได้ เช่น เมื่อบี้เห็บแล้ว อาจจะทำให้พื้นเปื้อนเลือด กลัวติดโรค พื้นเป็นรอยน่าเกลียด

  อีกทางเลือกนึง คือ เมื่อเก็บเห็บได้มากในแต่ละครั้ง ควรลวกด้วยน้ำต้มเดือดเห็บเหล่านั้นก็จะตายหมด หรืออาจเก็บไว้ในขวดแอลกอฮอล์หรือน้ำมันก๊าดก็ได้ เห็บจะตายและถูกดองไว้ ไม่เน่าเปื่อยด้วย เมื่อเก็บเสร็จแล้ว ปิดฝาขวดไว้ให้แน่น และสามารถนำมาใส่เห็บในการเก็บครั้งต่อไปได้อีก

บทความโดย: Dogilike.com
ข้อมูลอ้างอิง : ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ สิงห์อาษา คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่