.๑๗-๔-๕๖
พี่น้องหลายท่านถามผมเรื่องคดีปราสาทพระวิหารในศาลสถิตย์ยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ขณะนี้ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเบิกความโดยการแถลงด้วยวาจาไปก่อนเมื่อวันจันทร์ (๑๕ เมษายน) ที่ผ่านมาและฝ่ายไทยเราจะใช้สิทธิ์อย่างเดียวกันในวันนี้ ...ท่านอยากให้ผมวิเคราะห์ท่าทีของกัมพูชาตามที่นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ กัมพูชานำคณะแถลงไป รวมถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย
ยินดีช่วยตอบครับ ผมขอตัวที่จะไม่อธิบายความตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะอธิบายตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ การเมืองระดับภูมิภาค และการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์อันแท้จริง เราต้องรู้ก่อนอะไรอื่นว่าคดีความนี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายการเมืองของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ข้อพิพาททางกฎหมายล้วนๆ ผมกล้าพูดไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของ ICJ จะออกมาอย่างไร เรื่องนี้ก็จะไม่จบสิ้นอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าการเมืองไทยยังแตกแยกกันเป็นจุลถึงขนาดนี้
ทบทวนสั้นๆ ในเงื่อนปมที่สำคัญกันเล็กน้อยนะครับ ไทยเราแพ้คดีปราสาทพระวิหารในศาลเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ หรือหนึ่งปีก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ ๒ ครั้ง ๒ ยุคที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ในการสู้คดี หนึ่งคือเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน และเสด็จทอดพระเนตรปราสาทพระวิหารใน พ.ศ.๒๔๗๒ จนฝ่ายกัมพูชานำมาอ้างว่า เจ้านายองค์สำคัญในพระราชวงศ์และรัฐบาลไทย (ขณะนั้นยังเป็นรัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช) ยังทรง “รับเชิญ” ซึ่งแสดงว่าทรงยอมรับว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา สองคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามถือโอกาสชุลมุนในช่วงนั้นส่งกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่พิพาทกับกัมพูชาไว้หลายจุด รวมทั้งเขาพระวิหาร (ตามชื่อเรียกในขณะนั้น) ด้วย แต่เมื่อสงครามเลิกก็ถูกบังคับให้ส่งคืนหมด เหตุการณ์หลังนี่เอง ที่กระตุ้นกัมพูชายื่นฟ้องต่อ ICJ ดังกล่าวข้างต้น
วิเคราะห์ตรงนี้สักเล็กน้อยครับ ไทยเราต่างจากกัมพูชาในขณะนั้นตรงที่ว่า เราพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินผืนนั้นโดยใช้มุมมองแบบท้องถิ่น (local approach) ในขณะที่กัมพูชาผู้ร่วมผลประโยชน์กับฝรั่งเศสเดินเกมโดยใช้มุมมองระหว่างประเทศ (international approach) มาตั้งแต่ต้น ทำให้ภาพต่อสายตาโลกกลายเป็นว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ยึดกฎหมาย แต่ไทยเป็นเสมือนอันธพาลท้องถิ่นที่พร้อมใช้กำลังเสมอ ถ้าฟังคำพูดของนายฮอร์ นัมฮงเมื่อสองวันก่อนให้ดีจะพบว่ากัมพูชายังเดินเกมเดิม นั่นคือทำให้เกิดภาพว่าไทยเป็นฝ่ายหาเรื่องก่อนและพร้อมใช้กำลังกับกัมพูชา นี่คือข้อหนึ่งที่ฝ่ายไทยในวันนี้ต้องปลดเปลื้องลงให้ได้ โดยลำดับเรื่องให้เห็นพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายให้ชัด
ไทยเราจึงควรระวังอย่างยิ่งไม่ให้ภาพทหารหรือการใช้กำลังใดๆ ปรากฎออกไป แค่แสดงความพร้อมรบก็ไม่ควรเพราะยังไม่ใช่เวลา แม่ทัพนายกองทั้งมวลจะทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ควรออกมาแสดงความเห็นใดๆ ในขณะนี้เลย ความจริงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไม่ควรไปนั่งอยู่ในศาลด้วยซ้ำ อย่าลืมว่า เราแพ้คดีเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ส่วนหนึ่งเพราะถูกกล่าวหาว่ากระเหี้ยนกระหือรือที่จะใช้กำลังทหารอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เป็นเชิงลบนั้นทำไมในเวลานี้ เสียคะแนนไปเปล่าๆ
เมื่อไหร่ผู้มีอำนาจไทยจะเข้าใจสักทีว่า โลกเขานับถือว่าพลเรือนต้องเหนือกว่ากองทัพและต้องควบคุมกองทัพได้ ขนาดผู้นำทหารที่กลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองเขายังเลิกใช้ยศทหารกันเลย คนที่เอะอะก็อวดสรรพกำลังอยู่เรื่อยนั้นเขามองว่าด้อยพัฒนาและยังมีสัญชาติญาณสัตว์สูงไปหน่อย คำแนะนำคือซ่อนเอาไว้เสียหน่อยครับ อย่าออกอาการมากนัก
ยิ่งเมื่อเกิดการปะทะกันอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ หลังจากกัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ไม่นาน จนมีคนตาย บาดเจ็บ และต้องอพยพหนีตายกันเป็นร้อยคน ก็ยิ่งทำให้อาการในช่วงก่อนของเราปรากฏชัดขึ้นมาอีก อย่าลืมว่าเมื่อเขายื่นขอเป็นมรดกโลก ไทยเราก็ยื่นคัดค้านและขอให้ปราสาทพระวิหารเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างสองประเทศ แต่เราก็ถอนออก เหตุปะทะทางทหารก็เกิดขึ้นตามมา ลองนึกภาพดูก็ได้ว่าครับใครเสียเปรียบในเรื่องภาพลักษณ์ ทำไมผมถึงห่วงนักในเรื่องภาพลักษณ์? ก็เพราะภาพลักษณ์นี่ล่ะครับจะส่งผลมากต่อเสียงสนับสนุนทางการเมืองในอนาคตต่อไป ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้ก็ตาม ชาติต่างๆ เขาจะสนับสนุนใครก็มิใช่เพราะข้อกฎหมายแต่อย่างเดียวหรอกนะครับ ควรระลึกว่าเขาเทคะแนนให้คนที่เป็นพระเอกและไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอ
กัมพูชาใช้ประโยชน์เต็มที่จากเรื่องนี้ ดูได้จากเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ที่รัฐบาลพนมเปญเสนอต่อ ICJ ให้ประกาศบริเวณที่ดินพิพาทให้เป็นเขตปลอดกำลังทหาร (de-militarised zone) และเขาก็ได้สมใจ ยิ่งต่อมาคณะทำงานของอาเซียนที่นำโดยอินโดนีเซีย (ผู้เป็นประธานอาเซียนปีนั้น) ประสบความล้มเหลวในการควบคุมให้เป็นไปตามคำสั่งของ ICJ ก็ยิ่งเสริมภาพความไม่น่าไว้วางใจฝ่ายไทยขึ้นอีก
พูดให้สั้นที่สุดคือเกมนี้ไม่ใช่เกมกฎหมาย แต่เป็นเกมสร้างภาพว่าใครเป็นคนดีและใครเป็นฝ่ายหาเรื่อง ในแง่กฎหมายนั้น ยากมากครับที่ฝ่ายไทยจะใช้เหตุผลใดๆ มาคัดง้างคำวินิจฉัยเดิมๆ ที่มีมา เพื่อให้ได้ชัยชนะที่ขาวสะอาด เมื่อสองวันก่อน ฝ่ายกัมพูชาก็ลำดับความนโยบายไทยตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชเรื่อยมาจนถึงยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้ภาพรวมออกมาอย่างที่ผมเล่าสรุปไว้ข้างต้น ฝ่ายไทยเราเดินเกมดีและได้คะแนนบ้าง ก็เฉพาะในช่วงที่เรามีรัฐบาลของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง ปัญหาคือภาพรวมในแง่ลบนั้น ฝ่ายอำมาตย์ศักดินาเขาควบคุมได้เด็ดขาด และเขาก็มีอำนาจในปัจจุบันมากกว่าเรา
สิ่งที่ฝ่ายไทยควรเตรียมการในขณะนี้คือ
๑. ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนั้นร่วมกัน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม
๒. การจัดคิวให้สัมภาษณ์ ให้ฝ่ายพลเรือนออกหน้าและซ่อนฝ่ายทหารไว้ให้มิดชิด
๓. ทำความเข้าใจกับประชาชนและเชิญชวนให้คิดสร้างธุรกิจพัฒนาพื้นที่
๔. แสดงท่าทีที่เป็นพลโลกที่มีอารยะและมีมารยาท ใช้หลักน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก
แล้วเราจะได้รับประโยชน์ระยะยาวจากกรณีปราสาทพระวิหาร
พูดถึงมารยาท เมื่องานศพสมเด็จพระสีหนุที่เพิ่งผ่านมานั้น ได้ยินว่ารัฐบาลและชาวกัมพูชาแสดงความชื่นชมมากที่นายกรัฐมนตรีไทย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าร่วมพิธีและแสดงกิริยาท่าทางอันเหมาะสมยิ่ง และเขาก็พูดเช่นกันว่า เหตุใดจึงไม่มีผู้แทนพระราชวงศ์ไทยเข้าร่วมงานเลยแม้แต่พระองค์หรือคนเดียว
ผมขอจบลงตรงนี้ว่า ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนกับกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราปฏิรูปการเมืองไทยเสียก่อน ใครๆ ก็อยากพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันก็จริง แต่ถ้าท่าทีทางการเมืองแปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะอำนาจในบ้านเราเองยังแปรปรวนนั้น ใครเขาก็คบกับเราจริงจังไม่ได้ ต้องเข้ามาหนึ่งก้าวแล้วถอยไปอีกสองก้าว ดังนี้แล.
ยาวหน่อยนะครับ เรื่องแบบนี้อธิบายสั้นๆ ยากที่จะเข้าใจ แล้วคุยกันใหม่ครับ
จากFacebook คุณจักรภพ
.................................................................................................................................
คมเสมอทั้งเนื้อหา สาระและสำนวนของคุณจักรภพ
ไม่ว่าจะเป็นบทความ บทวิเคราะห์ การปราศรัยบนเวที
หรือแม้นแต่ทุกบทกลอนที่อ่านตบท้ายการปราศรัยทุกครั้ง
อย่าลืมไปให้กำลังใจที่เฟสบุ๊คคุณจักรภพกันนะคะ
น่าอ่านมาก..คุณจักรภพ เพ็ญแข วิเคราะห์ท่าทีของกัพูชา และสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไป
พี่น้องหลายท่านถามผมเรื่องคดีปราสาทพระวิหารในศาลสถิตย์ยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ขณะนี้ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเบิกความโดยการแถลงด้วยวาจาไปก่อนเมื่อวันจันทร์ (๑๕ เมษายน) ที่ผ่านมาและฝ่ายไทยเราจะใช้สิทธิ์อย่างเดียวกันในวันนี้ ...ท่านอยากให้ผมวิเคราะห์ท่าทีของกัมพูชาตามที่นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ กัมพูชานำคณะแถลงไป รวมถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย
ยินดีช่วยตอบครับ ผมขอตัวที่จะไม่อธิบายความตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะอธิบายตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ การเมืองระดับภูมิภาค และการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์อันแท้จริง เราต้องรู้ก่อนอะไรอื่นว่าคดีความนี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายการเมืองของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ข้อพิพาททางกฎหมายล้วนๆ ผมกล้าพูดไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของ ICJ จะออกมาอย่างไร เรื่องนี้ก็จะไม่จบสิ้นอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าการเมืองไทยยังแตกแยกกันเป็นจุลถึงขนาดนี้
ทบทวนสั้นๆ ในเงื่อนปมที่สำคัญกันเล็กน้อยนะครับ ไทยเราแพ้คดีปราสาทพระวิหารในศาลเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ หรือหนึ่งปีก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ ๒ ครั้ง ๒ ยุคที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ในการสู้คดี หนึ่งคือเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน และเสด็จทอดพระเนตรปราสาทพระวิหารใน พ.ศ.๒๔๗๒ จนฝ่ายกัมพูชานำมาอ้างว่า เจ้านายองค์สำคัญในพระราชวงศ์และรัฐบาลไทย (ขณะนั้นยังเป็นรัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช) ยังทรง “รับเชิญ” ซึ่งแสดงว่าทรงยอมรับว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา สองคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามถือโอกาสชุลมุนในช่วงนั้นส่งกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่พิพาทกับกัมพูชาไว้หลายจุด รวมทั้งเขาพระวิหาร (ตามชื่อเรียกในขณะนั้น) ด้วย แต่เมื่อสงครามเลิกก็ถูกบังคับให้ส่งคืนหมด เหตุการณ์หลังนี่เอง ที่กระตุ้นกัมพูชายื่นฟ้องต่อ ICJ ดังกล่าวข้างต้น
วิเคราะห์ตรงนี้สักเล็กน้อยครับ ไทยเราต่างจากกัมพูชาในขณะนั้นตรงที่ว่า เราพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินผืนนั้นโดยใช้มุมมองแบบท้องถิ่น (local approach) ในขณะที่กัมพูชาผู้ร่วมผลประโยชน์กับฝรั่งเศสเดินเกมโดยใช้มุมมองระหว่างประเทศ (international approach) มาตั้งแต่ต้น ทำให้ภาพต่อสายตาโลกกลายเป็นว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ยึดกฎหมาย แต่ไทยเป็นเสมือนอันธพาลท้องถิ่นที่พร้อมใช้กำลังเสมอ ถ้าฟังคำพูดของนายฮอร์ นัมฮงเมื่อสองวันก่อนให้ดีจะพบว่ากัมพูชายังเดินเกมเดิม นั่นคือทำให้เกิดภาพว่าไทยเป็นฝ่ายหาเรื่องก่อนและพร้อมใช้กำลังกับกัมพูชา นี่คือข้อหนึ่งที่ฝ่ายไทยในวันนี้ต้องปลดเปลื้องลงให้ได้ โดยลำดับเรื่องให้เห็นพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายให้ชัด
ไทยเราจึงควรระวังอย่างยิ่งไม่ให้ภาพทหารหรือการใช้กำลังใดๆ ปรากฎออกไป แค่แสดงความพร้อมรบก็ไม่ควรเพราะยังไม่ใช่เวลา แม่ทัพนายกองทั้งมวลจะทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ควรออกมาแสดงความเห็นใดๆ ในขณะนี้เลย ความจริงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไม่ควรไปนั่งอยู่ในศาลด้วยซ้ำ อย่าลืมว่า เราแพ้คดีเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ส่วนหนึ่งเพราะถูกกล่าวหาว่ากระเหี้ยนกระหือรือที่จะใช้กำลังทหารอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เป็นเชิงลบนั้นทำไมในเวลานี้ เสียคะแนนไปเปล่าๆ
เมื่อไหร่ผู้มีอำนาจไทยจะเข้าใจสักทีว่า โลกเขานับถือว่าพลเรือนต้องเหนือกว่ากองทัพและต้องควบคุมกองทัพได้ ขนาดผู้นำทหารที่กลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองเขายังเลิกใช้ยศทหารกันเลย คนที่เอะอะก็อวดสรรพกำลังอยู่เรื่อยนั้นเขามองว่าด้อยพัฒนาและยังมีสัญชาติญาณสัตว์สูงไปหน่อย คำแนะนำคือซ่อนเอาไว้เสียหน่อยครับ อย่าออกอาการมากนัก
ยิ่งเมื่อเกิดการปะทะกันอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ หลังจากกัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ไม่นาน จนมีคนตาย บาดเจ็บ และต้องอพยพหนีตายกันเป็นร้อยคน ก็ยิ่งทำให้อาการในช่วงก่อนของเราปรากฏชัดขึ้นมาอีก อย่าลืมว่าเมื่อเขายื่นขอเป็นมรดกโลก ไทยเราก็ยื่นคัดค้านและขอให้ปราสาทพระวิหารเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างสองประเทศ แต่เราก็ถอนออก เหตุปะทะทางทหารก็เกิดขึ้นตามมา ลองนึกภาพดูก็ได้ว่าครับใครเสียเปรียบในเรื่องภาพลักษณ์ ทำไมผมถึงห่วงนักในเรื่องภาพลักษณ์? ก็เพราะภาพลักษณ์นี่ล่ะครับจะส่งผลมากต่อเสียงสนับสนุนทางการเมืองในอนาคตต่อไป ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้ก็ตาม ชาติต่างๆ เขาจะสนับสนุนใครก็มิใช่เพราะข้อกฎหมายแต่อย่างเดียวหรอกนะครับ ควรระลึกว่าเขาเทคะแนนให้คนที่เป็นพระเอกและไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอ
กัมพูชาใช้ประโยชน์เต็มที่จากเรื่องนี้ ดูได้จากเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ที่รัฐบาลพนมเปญเสนอต่อ ICJ ให้ประกาศบริเวณที่ดินพิพาทให้เป็นเขตปลอดกำลังทหาร (de-militarised zone) และเขาก็ได้สมใจ ยิ่งต่อมาคณะทำงานของอาเซียนที่นำโดยอินโดนีเซีย (ผู้เป็นประธานอาเซียนปีนั้น) ประสบความล้มเหลวในการควบคุมให้เป็นไปตามคำสั่งของ ICJ ก็ยิ่งเสริมภาพความไม่น่าไว้วางใจฝ่ายไทยขึ้นอีก
พูดให้สั้นที่สุดคือเกมนี้ไม่ใช่เกมกฎหมาย แต่เป็นเกมสร้างภาพว่าใครเป็นคนดีและใครเป็นฝ่ายหาเรื่อง ในแง่กฎหมายนั้น ยากมากครับที่ฝ่ายไทยจะใช้เหตุผลใดๆ มาคัดง้างคำวินิจฉัยเดิมๆ ที่มีมา เพื่อให้ได้ชัยชนะที่ขาวสะอาด เมื่อสองวันก่อน ฝ่ายกัมพูชาก็ลำดับความนโยบายไทยตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชเรื่อยมาจนถึงยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้ภาพรวมออกมาอย่างที่ผมเล่าสรุปไว้ข้างต้น ฝ่ายไทยเราเดินเกมดีและได้คะแนนบ้าง ก็เฉพาะในช่วงที่เรามีรัฐบาลของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง ปัญหาคือภาพรวมในแง่ลบนั้น ฝ่ายอำมาตย์ศักดินาเขาควบคุมได้เด็ดขาด และเขาก็มีอำนาจในปัจจุบันมากกว่าเรา
สิ่งที่ฝ่ายไทยควรเตรียมการในขณะนี้คือ
๑. ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนั้นร่วมกัน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม
๒. การจัดคิวให้สัมภาษณ์ ให้ฝ่ายพลเรือนออกหน้าและซ่อนฝ่ายทหารไว้ให้มิดชิด
๓. ทำความเข้าใจกับประชาชนและเชิญชวนให้คิดสร้างธุรกิจพัฒนาพื้นที่
๔. แสดงท่าทีที่เป็นพลโลกที่มีอารยะและมีมารยาท ใช้หลักน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก
แล้วเราจะได้รับประโยชน์ระยะยาวจากกรณีปราสาทพระวิหาร
พูดถึงมารยาท เมื่องานศพสมเด็จพระสีหนุที่เพิ่งผ่านมานั้น ได้ยินว่ารัฐบาลและชาวกัมพูชาแสดงความชื่นชมมากที่นายกรัฐมนตรีไทย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าร่วมพิธีและแสดงกิริยาท่าทางอันเหมาะสมยิ่ง และเขาก็พูดเช่นกันว่า เหตุใดจึงไม่มีผู้แทนพระราชวงศ์ไทยเข้าร่วมงานเลยแม้แต่พระองค์หรือคนเดียว
ผมขอจบลงตรงนี้ว่า ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนกับกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราปฏิรูปการเมืองไทยเสียก่อน ใครๆ ก็อยากพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันก็จริง แต่ถ้าท่าทีทางการเมืองแปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะอำนาจในบ้านเราเองยังแปรปรวนนั้น ใครเขาก็คบกับเราจริงจังไม่ได้ ต้องเข้ามาหนึ่งก้าวแล้วถอยไปอีกสองก้าว ดังนี้แล.
ยาวหน่อยนะครับ เรื่องแบบนี้อธิบายสั้นๆ ยากที่จะเข้าใจ แล้วคุยกันใหม่ครับ
จากFacebook คุณจักรภพ
.................................................................................................................................
คมเสมอทั้งเนื้อหา สาระและสำนวนของคุณจักรภพ
ไม่ว่าจะเป็นบทความ บทวิเคราะห์ การปราศรัยบนเวที
หรือแม้นแต่ทุกบทกลอนที่อ่านตบท้ายการปราศรัยทุกครั้ง
อย่าลืมไปให้กำลังใจที่เฟสบุ๊คคุณจักรภพกันนะคะ