สัมภาษณ์พิเศษ: 'เจเอ็มที'ขอเป็นแชมป์ทวงหนี้รายย่อย

กระทู้ข่าว
สัมภาษณ์พิเศษ: 'เจเอ็มที'ขอเป็นแชมป์ทวงหนี้รายย่อย
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)

Wednesday, April 17, 2013 03:29

ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์
ในแวดวงธุรกิจการติดตามหนี้รายย่อยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล"บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส"ประกาศพร้อมที่จะเป็นผู้นำตลาดในการรับซื้อบัญชีลูกหนี้รายย่อย ซึ่งเจเอ็มทีฯมองโอกาสธุรกิจนี้เติบโตอย่างมหาศาลและไม่ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาหรือเติบโตธุรกิจติดตามหนี้ย่อมได้ผลดีทุกด้าน
ปิยะ พงษ์อัชฌา กรรมการผู้จัดการบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สกล่าวว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี บริษัทก็ปรับตัวได้ ในช่วงเศรษฐกิจดีลูกค้าก็มีอัตราการจ่ายชำระหนี้คืนในอัตราที่สูงแต่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าก็ยังจ่ายปกติ แต่มีคนมาขายหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทจะอยู่ที่ได้ทั้งสองเศรษฐกิจ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ก็ตาม
ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตการติดตามหนี้ 3 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาทโดยปัจจุบันมีพอร์ตการดูแลหนี้รายย่อยประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทมีฐานข้อมูลลูกหนี้ 1.2 ล้านคน และภายในเดือน พ.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปซื้อพอร์ตลูกหนี้รายย่อยจากสถาบันการเงิน 3 แห่ง มูลค่าประมาณระดับพันล้านบาทเพื่อบริหารติดตามหนี้และคาดว่าจะทำกำไรได้เพิ่มขึ้นจาก30% เป็น 40%
ปิยะ เชื่อมั่นว่าธุรกิจการรับซื้อหนี้ของบริษัทสามารถเป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากคาดว่าอัตราหนี้เสียครัวเรือนหรือลูกหนี้รายย่อยต่อไตรมาสจะเพิ่มขึ้นจาก 4.7 หมื่นล้านบาทเป็น 5.2-5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ใช่ว่าสัดส่วนหนี้เสียมากขึ้น แต่เป็นเพราะฐานการปล่อยสินเชื่อครัวเรือนหรือส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกันมีการประมาณการว่าหนี้เสียโครงการรถคันแรกจะเพิ่มขึ้นโดยจากข้อมูลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์คันแรก 1.2 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะมีหนี้เสียประมาณ 2% หรือคิดเป็นหนี้เสีย 6,000 ล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าจะเข้าไปซื้อพอร์ตหนี้รถคันแรกประมาณ3,000 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของพอร์ตหนี้เสียรถยนต์คันแรกทั้งหมด
"แนวโน้มสถาบันการเงินจะขายพอร์ตลูกหนี้ ขายเอ็นพีแอลออกมามากขึ้น เนื่องจากการติดตามหนี้มีต้นทุนสูงและธนาคารพาณิชย์ต้องการเงินสดไปหมุนเวียนขยายธุรกิจการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะได้ผลตอบแทนดีกว่าการติดตามบริหารหนี้เอ็นพีแอล" ปิยะ กล่าว
ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยราคาที่เจเอ็มทีฯ จะเข้าไปซื้อพอร์ตลูกหนี้รายย่อยที่ไม่มีหลักประกันอยู่ที่ 5% ของมูลหนี้ทั้งหมดและราคาซื้อหนี้เสียจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและประเภทของลูกหนี้ ซึ่งบริษัทจะคาดหวังจากผลตอบแทนโครงการมีกำไร 10-15%
จุดเด่นของเจเอ็มทีฯ คือ ไม่มีคู่แข่งในตลาดซื้อหนี้รายย่อยมูลค่าระดับร้อยล้านบาท แต่มีบริษัทเล็กๆ ที่ซื้อระดับสิบล้านบาท ในขณะเดียวกันเจเอ็มทีฯมีระบบติดตามหนี้ที่ทันสมัย มีระบบอัดเสียง มีระบบการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ มีการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าซึ่งทำให้สามารถมีโอกาสการติดตามหนี้ได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก และมีต้นทุนการบริหารหนี้เพียง 35%
เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมในการติดตามหนื้ ถือว่าเจเอ็มทีฯ มี
การบริหารจัดการที่ดีที่สุด เนื่องจากมีฐานลูกค้าจำนวนมากจึงทำให้มีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ โดยปัจจุบันเจเอ็มทีฯ มีฐานบัญชีลูกหนี้ที่ซื้อมาประมาณ 1.2 ล้านราย และฐานลูกค้าที่รับจ้างบริหารติดตามหนี้อีกประมาณ 6 แสนราย โดยเฉลี่ยเป็นหนี้ 2-3 หมื่นบาทต่อบัญชี
ปิยะ กล่าวว่าในขณะเดียวกันบริษัทมีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ชื่อว่าเจแอคเซสแมนเนจเมนท์
(JAN) ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพื่อรับซื้อหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ฟ้องร้องหรือบังคับคดี โดยจะเข้าไปสวมสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายได้ โดยใช้เงินทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะอนุมัติและดำเนินการได้ประมาณเดือนพ.ค.นี้
ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งมีความต้องการที่จะขายหนี้ในส่วนที่มีการดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีแล้วรวมถึงการต้องการให้เข้าไปสวมสิทธิการดำเนินคดี ดังนั้นมีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี)เข้าไปรองรับธุรกิจการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพส่วนนี้
เจเอ็มทีฯ จะเน้นจับตลาดกลุ่มลูกหนี้รายย่อย บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้มีมหาศาล และไม่เคยมีใครเคยซื้อหนี้รายย่อยกลุ่มนี้ และรวมทั้งมีแผนที่จะรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพประเภทคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัย เพิ่มเติมจากสินเชื่อรายย่อยภายใน 2 ปี ซึ่งการรับซื้อลูกหนี้เอสเอ็มอีและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ยังไม่มีแผนที่จะเข้าไปรับซื้อแต่อนาคตอีก 5 ปีจะเข้าไปซื้อ เพราะหนี้พวกนี้จะต้องอาศัยในความเชี่ยวชาญในการบริหารสินทรัพย์
"เจเอ็มทีฯ ต้องการที่จะเน้นการบริหารหนี้รายย่อยมากกว่า เนื่องจากตลาดลูกหนี้รายย่อยมีมากมายมหาศาลเนื่องจากมีผู้ประกอบการให้สินเชื่อรายย่อยใหม่ๆ (ไมโครไฟแนนซ์) เข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น และก็มีฐานลูกค้าใช้บริการสินเชื่อรายย่อยมากขึ้นด้วยรวมทั้งธุรกิจการติดตามหนี้รายย่อยที่สามารถที่จะซื้อพอร์ตหนี้ได้ระดับร้อยล้านบาท ยังไม่มีคู่แข่งขัน" ปิยะ กล่าว
นอกจากนี้ การทำธุรกิจของเจเอ็มทีฯ จะแตกต่างจากเอเอ็มซีของรัฐ 2 แห่ง คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) เพราะบสก. และ บสส. ไม่ได้รับซื้อหนี้เอ็นพีแอลรายย่อยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเหมือนเจเอ็มทีฯ แต่ บสก.และ บสส. จะซื้อหนี้เสียที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) เพื่อนำสินทรัพย์ไปบริหารแต่เจเอ็มทีฯ จะซื้อหนี้มาเพื่อบริหารหนี้ติดตามหนี้
แม้ว่าในอนาคต บสก. จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะขยายธุรกิจการรับบริหารหรือรับซื้อลูกหนี้รายย่อย ปิยะ กล่าวว่าคนที่เคยทำบริษัทบริหารสินทรัพย์ประเมินที่ดิน จะมาเก็บหนี้สินส่วนบุคคลคงทำใจได้ยาก แต่คนที่เก็บสินเชื่อรายย่อยจะก้าวไปเก็บสินเชื่อรายใหญ่ไม่ยาก แต่คิดว่าการติดตามหนี้รายย่อยเป็นของเจเอ็มทีฯ จะเป็นคนละตลาดกับเอเอ็มซีของรัฐ
ปิยะ กล่าวถึงสถานการณ์การชำระหนี้ในช่วงนี้ถือว่าปกติ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะมีอัตราการชำระหนี้มากขึ้นประกอบกับมีฐานลูกค้าติดตามหนี้มากขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราการติดตามหนี้ได้อยู่ในเกณฑ์ดี ลดความเสี่ยงการติดตามหนี้ลงได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงานติดตามหนี้ประมาณ 600 คนและมีการว่าจ้างบริษัทภายนอกที่ได้มาตรฐานติดตามหนี้ประมาณ 24 บริษัท เพื่อรองรับฐานลูกค้าการติดตามหนี้ที่ปัจจุบันมีประมาณ 1.2 ล้านคนโดยหลักเกณฑ์การติดตามหนี้บริษัทจะติดตามหนี้เองภายใน 1 ปี ถ้าติดตามไม่ได้ก็จะให้บริษัทภายนอกช่วยติดตาม
ก่อนที่บริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ลูกค้าจะมองในเชิงลบกับบริษัทที่ทำธุรกิจติดตามหนี้ แต่พอบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลูกค้าจะมองภาพลักษณ์เจเอ็มทีฯเหมือนลูกหนี้กับเจ้าหนี้ โดยมองว่าการเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัทเหมือนกับว่าเจเอ็มทีฯ เข้าไปช่วยเพราะการปรับโครงสร้างหนี้กับเจเอ็มทีฯ ไม่คิดดอกเบี้ย และไม่ใช้วิธีการบังคับขู่เข็ญ โดยเน้นการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า และมีส่วนลดหนี้ไม่มีเจตนาค้าความฟ้องร้อง ทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทในสายตาลูกค้าดีขึ้น และทำให้ลูกค้ามีกำลังใจที่จะชำระหนี้ ไม่ใช่ว่าจ่ายเท่าไรก็ไม่หมด มีแต่ดอกเบี้ยทบต้นทบดอกขึ้นไปเรื่อยๆn

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ปล. ผมถือหุ้นตัวนี้อยู่ครับ หุ้นที่ตัวเองถือใครๆก็เห็นว่าดีครับ LEX999
[urlhttp://www.irplus.in.th/Listed/JMT/read_detail.asp?topic=clipping&name=jmt_post_170413.pdf]

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่