ไทยเผชิญวิกฤตดินเสื่อม! หวั่นกระทบผลิตอาหารป้อน ‘ครัวโลก’

กรมพัฒนาที่ดิน เร่งกู้วิกฤต ‘ดิน’ เสื่อมสภาพทั่วประเทศ หวั่นกระทบต่อการผลิตอาหารป้อนครัวโลก ระบุต้นเหตุเกิดจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี มุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามนโยบายรัฐมากเกินไป ชี้ภาคกลางแห่ปลูกข้าว ภาคใต้พลิกผืนดินหันมาปลูกยาง ส่วนภาคอีสานยึดโครงการประกันราคาข้าวปลูกทุกพื้นที่ ขณะที่สภาพดินไม่เหมาะสม กระทบผลผลิตไม่ได้คุณภาพ พร้อมวาง 3 แนวทางแก้วิกฤตดิน แนะเกษตรกรนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ฟรี
       
       “ประเทศไทยดำรงอยู่ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารให้กับทั้งครัวไทยและครัวโลกมาเป็นเวลายาวนาน ขณะที่ประชากรโลกทวีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2593 คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากถึง 9,000 ล้านคน จากปัจจุบัน 7,000 ล้านคน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายความเป็นครัวโลกของประเทศไทยอย่างมาก”
       
       นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวถึงความท้าทายของประเทศไทยที่จะผงาดในฐานะครัวโลกอย่างเต็มภาคภูมิยิ่งขึ้นในอนาคต ทว่า ปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเป็นประเทศผลิตอาหารคือ ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินที่ส่งผลกระทบหนักขึ้นทุกวันต่อรายได้และผลผลิตของเกษตรกรไทย
       
       โดยประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 152 ล้านไร่ ประกอบด้วยที่นา 72 ล้านไร่ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ 32 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 33 ล้านไร่ พื้นที่สวนผัก ไม้ดอก ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ 2.49 ล้านไร่ และที่เหลือใช้ทำการเกษตรอื่นๆ หรือเป็นที่อยู่อาศัย และที่รกร้าง
       
       อย่างไรก็ดี ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน มีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติร่วมกับฝีมือมนุษย์ และการใช้ที่ดินไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเปิดหน้าดิน การไถพรวน การปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินเป็นระยะเวลายาวนาน
       
       ในที่สุดดินไทยจึงกลายสภาพเป็นดินมีปัญหาที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะหรือเหมาะสมน้อยสำหรับการเพาะปลูก ให้ผลผลิตน้อย และอาจกระทบต่อระบบนิเวศรุนแรง ทั้งนี้ปัญหาหลักของดินในประเทศไทยประกอบด้วย ดินกรด 95.4 ล้านไร่ ดินตื้น 46.1 ล้านไร่ ดินดาน 27.3 ล้านไร่ ดินเค็ม 14.3 ล้านไร่ ดินทรายจัด 12.5 ล้านไร่ ดินเปรี้ยวจัด 6.2 ล้านไร่ และดินอินทรีย์ 0.3 ล้านไร่ ซึ่งการแก้สภาพดินดังกล่าวต้องใช้มาตรการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสด การใช้สารอินทรีย์แล้วลดใช้สารเคมี การพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินกรด เป็นต้น
       
       ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่มากถึง 108 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 152 ล้านไร่ ยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลาย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียหน้าดินด้านบน โดยสาเหตุสำคัญคือฝนและน้ำไหลบ่าที่มากระแทกผิวดิน ทำให้ดินแตกตัว และพัดพาเอาวัตถุจากหน้าดินไปโดยแรงของน้ำ
       
       เกิดผลเสียตามมาเป็นพรวนคือ พื้นที่เพาะปลูกลดลง สูญเสียธาตุอาหารพืช และอินทรียวัตถุในดิน การปฏิบัติการในไร่นายากลำบากขึ้น โครงสร้างดินถูกทำลาย เก็บกักน้ำได้น้อยลง ผลผลิตพืชลดลง และยังทำให้เกิดการตกตะกอนในลำน้ำและอ่างน้ำอีกด้วย
       
       ปัญหาที่ฝังอยู่ใต้ผืนธรณีเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานของประเทศไทย รวมถึงอาจกระทบต่อสถานภาพการเป็นครัวโลกที่ไทยรักษาแชมป์มาอย่างยาวนานในอีกไม่ช้านี้ด้วย !?!


อ่านต่อได้ที่ http://astv.mobi/AnZCWtq ค่ะ


.....เช่นเดียวกับกรณีของความนิยมปลูกข้าวในภาคอีสานในปัจจุบันซึ่งข้าวมีการประกันราคาตันละ 15,000 บาท ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเต็มที่ ทั้งที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสานเป็นดินทราย ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว แต่เกษตรกรจะไถดินทรายออกและปลูกข้าวบนชั้นดินเหนียว ซึ่งปัญหาที่ชาวนาภาคอีสานต้องพบอย่างแน่นอนคือน้ำไม่เพียงพอในฤดูกาลเพาะปลูก และการปลูกเอาปริมาณเช่นนี้จะทำให้ไทยสู้เขาไม่ได้ เพราะผู้บริโภคชอบกินข้าวอร่อย ชาวนาจึงควรเน้นการปลูกข้าวคุณภาพมากกว่าปริมาณ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่