ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุม..พิชัย จาวลา

กระทู้สนทนา


ตลาดหุ้นภายใต้กลไกตลาดเสรี แท้จริงไม่เสรีอย่างในทฤษฎี ถ้าเราอยู่ฝั่งคนส่วนใหญ่ผลลัพธ์มักลงเอยอย่าง “ผู้แพ้”

พิชัย จาวลา นักคิดผู้กล้าเสนอความจริงที่แตกต่าง

“พิชัย จาวลา”… ชื่อนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงตลาดหุ้น เขาไม่ใช่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหรือมีพอร์ตลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท แต่พิชัยเป็น “นักคิด” ที่กล้านำเสนอความจริงที่แตกต่าง แตกสัจธรรมเพื่อค้นหาเหตุแห่งสัจธรรม เหรียญยังมีสองด้านฉันใด..ความจริงที่เรามองเห็นอาจไม่ใช่ความเที่ยงแท้เสมอไป

“เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง” หนังสือที่ไม่ได้ทำยอดขายติดอันดับ “เบสเซลเลอร์” บนแผงหนังสือ และค่อนข้างอ่านยากสำหรับหลายคน แต่เป็นผลงานที่เปิดให้เห็นตัวตนของ พิชัย จาวลา กรรมการบริหาร กลุ่มจาวลากรุ๊ป นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 42 ปี ที่มีฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

พิชัยยังมีบทบาทเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีพอร์ตลงทุนในระดับ 10-20 ล้านบาท เขาใช้เวลานอกกว่า 20 ปี เฝ้าติดตามความเป็นไปของตลาดหุ้น ค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในด้านตรงข้ามของเหรียญ ความจริงที่คนส่วนใหญ่ก็รู้…แต่มีเพียงคนส่วนน้อยที่ยอมรับและปฏิบัติ !!!

“จากการคาดการณ์ของคุณพิชัยต่อตลาดหุ้นที่ผ่านๆมา พอจะสรุปได้ว่า การคาดการณ์ของคุณพิชัยในระดับวงจรหรือในระดับกรอบใหญ่ มีความถูกต้องแม่นยำค่อนข้างมาก แต่ในระดับรายละเอียด บางครั้งจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดการณ์ มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณีไป” คำวิจารณ์ของคนที่เฝ้าติดตามผลงานของพิชัย โพสต์ไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง

เนื้อหาในหนังสือเศรษฐศาสตร์แห่งความจริงฉบับตีพิมพ์ “ครั้งที่สาม” เดือนสิงหาคมปี 2550 พิชัยทำนายว่า SET Index ในปีถัดไป (2551) จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 900 จุด ก่อนจะปรับตัวลงแตะระดับบวกลบ 450 จุด เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง

ทำไม! ตลาดหุ้นไทยถึงเป็น “หลุมฝังศพ” รายย่อยรุ่นแล้วรุ่นเล่า บทสรุปหนึ่งก็คือ ตลาดหุ้นไม่ ใช่ Fair Game ไม่ใช่เกมที่แฟร์สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ใครก็มาตักตวงได้ง่าย

“หมูสนาม” ส่วนใหญ่แท้จริงก็เป็น “เซียน” ในอาชีพของตัวเองกันมาทั้งนั้น

“ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่และไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น แค่อยากจะถ่ายทอดแนวคิดส่วนตัวให้ฟัง” พิชัยบอกผ่านกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อไม่ว่ากัน

พิชัยเล่าว่า อาชีพหลักของตนเองทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มูลค่าโครงการตั้งแต่ 30 ล้านบาทถึง 260 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2532 แต่ “ผล คือไม่ประสบความสำเร็จเพราะไปเล่นหุ้นตามข่าว” เลยต้องย้อนกลับมาหา “เหตุ” ว่าทำไมถึงขาดทุน

“ผมสังเกตว่าทำไมคนเก่งๆ การศึกษาดีหลายคน ถึงไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ทำไมนักลงทุน 100 คนจะได้กำไรจากหุ้นแค่ไม่กี่คน ที่สุดก็ได้ข้อสังเกตว่า “ผู้ชนะ” ในตลาดหุ้นจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเหมือนกับทฤษฎี 80:20 ที่บอกว่าคนส่วนน้อยเพียง 20% จะเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ 80% เสมอ”

การนั่งถอดความคิดทีละเปลาะเป็นที่มาของ “ทฤษฎีผลประโยชน์” ที่พิชัยคิดขึ้น หลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจาก ข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด “สองชั้น” คือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง “ตรงข้าม”

หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ มองตลาดหุ้น ขึ้น/ลง ตาม “เหตุผล” แท้ที่จริงแล้ว เหตุผลเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ถ้าสังเกตให้ดี เหตุผลต่างๆของนักวิเคราะห์จะตามมาหลังจากหุ้นขึ้นหรือลงไปแล้วระยะหนึ่ง ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน พิชัยยกตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “แบล็กมันเดย์” ปี 2530 หรือ “แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส” ปี 2551 นักลงทุนต่างแห่กันเทขายหุ้นเพราะกังวลกับ “ข่าวร้าย” แต่ไม่เคยมีคนมองอีกด้านว่ามีคนอีกกลุ่มเขากำลังทำในสิ่งตรงข้ามกันคือ “ซื้อหุ้น” ที่คนส่วนใหญ่ยอมขายขาดทุน (หนีตาย)

“ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ ในที่สุดจะได้กำไร และคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน”

นักคิดแห่งล้านนา ยกตัวอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จอร์จ โซรอส เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีการ “เทขายเงินบาท” อย่างหนัก แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายเข้าไปซื้อเงินบาทไว้ก่อนแล้ว หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ (ในกลุ่ม ปตท.) เมื่อปลายปี 2551 ขาดทุน Stock Loss หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้หรอกหรือ ถึงขาดทุน

“นี่ไม่ใช่ทฤษฎีผู้มีอำนาจคุมตลาด (Big Brother) แต่เป็น “ความจริง” อยู่ในมุมเล็กๆของกลไกตลาด ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ถ้าคิดจะทำกำไรในตลาดหุ้น คุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่”

พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส

บทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัว และจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม คำพูดนี้คือ “สัจธรรม” ในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจงเป็น “คนส่วนน้อย” เพื่อจะเป็น “ผู้ชนะ” ในตอนจบ

ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุม..พิชัย จาวลา
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่