ผลสำรวจ "มุมมองวัยรุ่นชายต่อปัญหาล่วงละเมิดทางเพศช่วงสงกรานต์"

วันที่ 4 เม.ย. ที่ลานกิจกรรมใต้สะพานพระราม 8 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดการคุกคามทางเพศของวัยรุ่นช่วงสงกรานต์ ภายใต้แคมเปญ “สาด…ไม่แต๊ะอั๋ง…แมนโคตรๆ” โดยในงานมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชุด “ขอมือเธอหน่อย” จากนั้นเป็นการปล่อยขบวนรถมอเตอร์ไซค์ สามล้อเครื่อง ออกรณรงค์ เชิญชวนวัยรุ่นหนุ่มสาวให้หยุดฉวยโอกาส หยุดลวนลาม คุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ โดยมีกลุ่มเยาวชนทั้งชายและหญิง เข้าร่วมกว่า 100 คน

นายศุภชัย ใจยอง จากกลุ่มยังวีเซ็นเต้ เปิดเผยผลสำรวจ “มุมมองวัยรุ่นชายต่อปัญหาล่วงละเมิดทางเพศช่วงสงกรานต์” ว่า ทางเครือข่ายเยาวชนฯ ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเยาวชนชาย อายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 664 ตัวอย่าง ในพื้นที่ กทม.


เมื่อวันที่ 26-30 มี.ค. 2556 โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 72% มองว่าเทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลที่วัยรุ่นไทยให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือวันขึ้นปีใหม่ วันวาเลนไทน์ วันลอยกระทง

ทั้งนี้ วัยรุ่นส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญวันสงกรานต์เรื่องการสาดน้ำ ประแป้ง 54% รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 20% การสามารถแตะเนื้อต้องตัวกันได้ 9% การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 7% ส่วนปัญหาที่คิดว่าจะเกิดขึ้นมากในวันสงกรานต์ คือ ทะเลาะวิวาท 30% แต่งตัวล่อแหลม 27% อุบัติเหตุจากการขับรถ 16% การลวนลาม คุกคามทางเพศ 13% การสาดน้ำรุนแรง 12%

“เมื่อถามถึงปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศของวัยรุ่นในช่วงสงกรานต์ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง หรือ 57% มองเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข และ 26% เป็นเทศกาลแห่งโอกาส ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ต้องสนใจกฎหมาย ส่วน 17% มองเป็นเรื่องปกติ เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้การลวนลาม คุกคามทางเพศเกิดขึ้น กลุ่มตัวอย่าง 59% ระบุว่า มาจากการดื่มสุรา 14% ค่านิยมที่ผิดไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น 9% เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย 6% การยุยงส่งเสริมของเพื่อน 6% การพึ่งพายาเสพติด 5%” นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยหากมีมาตรการป้องกัน แก้ปัญหาโดย 40% ต้องการให้บังคับใช้กฎหมาย 37% รณรงค์สร้างจิตสำนึก สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน 23% มีหน่วยงานร้องเรียนช่วยเหลือให้คำปรึกษา ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างมากถึง 70% เห็นด้วยกับการรณรงค์ เปลี่ยนค่านิยมใหม่ ด้วยการให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาส ไม่ดื่มสุรา ไม่เสพสารเสพติด ไม่แต่งกายล่อแหลม และ 77% เห็นว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องปรับปรุงอย่างมากในช่วงสงกรานต์ คือการเข้มงวด ตรวจจับผู้ที่ทำผิดกฎหมายในพื้นที่ กทม. นอกจากนี้ กว่า 60% เห็นด้วยหากห้ามขาย ห้ามดื่มสุราในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์

นางสาวดวงกมล ทองมาอิ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยราชพฤษ์ กล่าวว่า สิ่งที่พบเห็นทุกปีเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ คือ การเล่นสาดน้ำที่ไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงต้องตกอยู่ในสภาพการถูกลวนลาม อนาจาร คุกคามทางเพศ และเหตุการณ์ที่ตนเองพบเห็นคือ มีผู้หญิงขับรถมอเตอร์ไซค์เพื่อมาเล่นสาดน้ำ ถูกกลุ่มผู้ชายนับ 10 คน โอบกอดหอม จับก้น และจับหน้าอก จนต้องทิ้งรถวิ่งหนีเอาตัวรอด และหากจะเปรียบเทียบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่เสี่ยงและอันตรายมากที่สุดใน กทม.คือ ถนนสีลม รองลงมาคือถนนข้าวสาร เพราะยังควบคุมการจำหน่ายสุราไม่ได้ ทั้งที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปัญหา

“การแต่งตัวของวัยรุ่นหญิง ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เขาสามารถทำได้ โดยที่ผู้ชายไม่มีสิทธิฉวยโอกาส หรือเข้ามาลวนลามจับเนื้อต้องตัว และแม้ผู้หญิงจะแต่งตัวมิดชิดปิดทุกส่วน ก็ยังถูกลวนลามได้เช่นกัน เพราะผู้ชายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเล่นน้ำ อย่างไรก็ตาม ตนอยากเห็นสงกรานต์ปีนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เล่นน้ำอย่างมีสติ ทั้งนี้ ขอฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจัดพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลา แต่ก็อยากฝากถึงเพื่อนผู้หญิงให้ระมัดระวังในการแต่งตัวให้มากขึ้นด้วย” นางสาวดวงกมล กล่าว<br /><br />ด้านนางสาวอังคณา อินทสา ผู้ประสานงานฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากผลสำรวจข้างต้น สะท้อนว่า วัยรุ่นต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ และต้องการให้สร้างจิตสำนึก เปลี่ยนค่านิยม ปรับทัศนคติใหม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ควรใช้เงื่อนไขเทศกาลสงกรานต์มาเป็นข้ออ้างเพื่อฉวยโอกาส เช่น การจูบ โอบกอด ถูกเนื้อต้องตัว วิจารณ์ร่างกาย พูดหยาบคาย ใช้สายตาลวนลามที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ ซึ่งถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถดำเนินคดีได้ ทั้งนี้หากผู้หญิงถูกกระทำ ต้องกล้าเอาผิดและออกมาปกป้องสิทธิตนเอง ส่วนผู้ชายนอกจากจะมีบทลงโทษตามกฎหมายแล้ว ควรถูกประจานเพื่อให้เกิดความอับอาย ไม่กล้าทำผิดซ้ำ เช่นเดียวกับในบางพื้นที่ที่ใช้วิธีนี้.


http://www.thairath.co.th/content/edu/336883

มีใครไม่คิดเล่นน้ำสาดสงกรานต์กันบ้างครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่